มองปาฐก “เสกสรรค์” โจทย์ข้อใหญ่ พรรคการเมือง

ถ้อยความปาฐกถาพิเศษของนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาดังอื้ออึงไปทั่ววงการการเมือง

ทั้งนี้เพราะนายเสกสรรค์ได้สะท้อนภาพการเมืองไทยที่กำลังเป็นไปออกมาแทนใจคนหลายคน

สะท้อนสภาพการต่อสู้ระหว่าง “ชนชั้นนำเก่าภาครัฐ” กับ “ชนชั้นนำใหม่ภาคเอกชนที่มาจากการเลือกตั้ง”

สะท้อนภาพยุทธศาสตร์ความต้องการของการยึดอำนาจที่แสดงออกมาในรูปของกติกาและนโยบายภาครัฐ

Advertisement

ทั้งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทั้งนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชูธง “ไทยแลนด์ 4.0” รวมทั้งการใช้ “ประชาสังคม” เข้าผนวกรวมเอกชน รัฐ และมวลชน

ยิ่งล่าสุด เมื่อกฎหมายยุทธศาสตร์ และกฎหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการพิจารณาของ สนช.

ยิ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีระบุว่า ยุทธศาสตร์ที่จะร่างขึ้น หากใครไม่ทำตามมีโทษ

Advertisement

ยิ่งมองย้อนไปถึงวาระแรกของการเข้าสู่อำนาจหลังการเลือกตั้ง

ยิ่งมองเห็นความเป็นไปตามถ้อยความที่นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ปาฐกถาพิเศษไว้

มองเห็นความพยายามยึดกุมอำนาจของ “ชนชั้นนำเก่าภาครัฐ”

 

ในคำปาฐกถาของนายเสกสรรค์ มิได้บอกแค่ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น

นายเสกสรรค์ยังทิ้งโจทย์ข้อใหญ่ที่ให้ “ชนชั้นนำใหม่” ซึ่งมาจากการเลือกตั้งได้ตรึกตรอง

ในคำปาฐกถาดังกล่าว นายเสกสรรค์ได้ระบุถึงทางเลือกของ “ชนชั้นนำใหม่” บนการเมืองสภาพปัจจุบันไว้น่าฟัง

ทางเลือกดังกล่าวแบ่งเป็น 2 แนวทาง

แนวทางแรก คือ แนวทางดั้งเดิมที่พรรคการเมืองและนักการเมืองไทยเคยใช้เมื่อเพลี่ยงพล้ำต่อ “ชนชั้นนำเก่าภาครัฐ”

นั่นคือ การปรับตัวให้เข้ากับ “ชนชั้นนำภาครัฐ” ภายหลังเกิดการยึดอำนาจ

การกระทำเช่นนี้ หากมองแง่หนึ่งคือการเอาตัวรอด หรือภาษาการเมืองที่มักใช้คือ “แกล้งตาย”

แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง การกระทำเช่นนี้ก็คือการสนับสนุน

นายเสกสรรค์ให้นิยามการกระทำเช่นนั้นว่า “เล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นภาครัฐที่จะกุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตยกลายเป็นการเมืองแบบที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าระบอบเกี้ยเซี้ย หรือ เกี้ยซิบาธิปไตย”

แนวทางที่สอง คือ พรรคการเมืองส่วนใหญ่ผนึกกำลังกันทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์

มีข้อเสนอแนะหรือขอโต้แย้งเชิงนโยบายที่แตกต่างจากแนวคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม

นายเสกสรรค์ระบุว่า ถ้าแนวทางนี้เกิดขึ้นจริงก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจ และจะเป็นส่วนที่สำคัญกับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศไทย

แนวทาง 2 แนวทางนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของพรรคการเมือง

 

การปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อำนาจต้องเป็นของประชาชน โดยประชาชนจะเลือกตัวแทนเข้าไปใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆ

ทั้งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งเป็นฝ่ายบริหาร โดยบางประเทศบัญญัติให้เป็นอำนาจตัวแทนประชาชนเลือกฝ่ายตุลาการสูงสุดด้วย

แต่สำหรับประเทศไทยฝ่ายตุลาการยังคงถือว่า เป็นคนกลาง จึงให้เติบโตในระบบราชการ

ดังนั้น โจทย์ข้อใหญ่ของนายเสกสรรค์ต่อการเมืองไทยที่ปรากฏ จึงเป็นคำถามที่ท้าทายพรรคการเมือง นักการเมือง รวมทั้งเจ้าของอำนาจอธิปไตยคือประชาชนด้วย

ท้าทายว่า เมื่อชนชั้นนำภาครัฐยึดอำนาจไป และกำลังวางแนวทางอยู่ในอำนาจต่อไปยาวนานนั้น ชั้นชั้นนำภาคเอกชนที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งประชาชนจะเลือกแนวทางใด

แนวทางการ “คล้อยตาม” เหมือนดั่งวิถีทางแบบเดิมที่เคยปฏิบัติ หรือแนวทางการเป็น “ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์” ตามวิถีทางใหม่ที่นายเสกสรรค์นำเสนอ

หากเลือกแนวทางแรก ประเทศไทยจะเป็นไปตามแนวทางที่เคยเห็นกันมาแล้ว

นั่นคือ การปกครองตามรัฐธรรมนูญปี 2560 การยึดแนวยุทธศาสตร์ของชาติตามที่กฎหมายกำหนด การเดินไปในแนวทางเศรษฐกิจใหม่ ไทยแลนด์ 4.0 และประชารัฐ

รัฐเป็นพี่ใหญ่ เอกชนเป็นพี่รอง แล้วประชาชนเป็นน้องเล็ก

 

แต่ถ้าเลือกแนวทางที่สอง ประเทศไทยจะเป็นไปตามแนวทางใหม่ที่ยังมิอาจคาดเดา

เพราะแนวทางนั้น ต้อง “สร้างสรรค์” ไปตามแนวคิดใหม่ที่พรรคการเมือง และนักการเมืองคิดค้น

และหากแนวทางที่สองบรรลุผล โครงการต่างๆ มีแนวโน้มว่าจะย้อนกลับไปอยู่ที่ “ประชาชน”

เพราะหนทางที่จะทำให้นักการเมืองยืนอยู่บนอำนาจได้นั้นขึ้นอยู่กับประชาชน

ประชาชนเป็นพี่ใหญ่ รัฐบาลและเอกชนเป็นผู้ช่วยเหลือ

 

ข้อได้เปรียบของแนวทางแรกคือ มีความแน่นอน เพราะเคยปฏิบัติกันมาแล้ว รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

แม้สิ่งที่เกิดจะกระทบต่อองคาพยพต่างๆ แต่ก็อยู่ในวิสัยที่คาดเดากันได้

แต่ข้อเสียเปรียบที่จะเกิดขึ้น คือ ข้อจำกัดเหมือนกับที่ประเทศไทยประสบอยู่ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

ทั้งความฉับไว ทั้งความกล้าหาญ ทั้งความแหลมคม อาจเป็นรอง

เพราะระบบการแข่งขันคัดเลือกคนที่จะเข้าสู่ระบบมีข้อจำกัด

ขณะที่แนวทางที่สองหากเกิดขึ้นได้ จะเกิดความแปลกใหม่ในการบริหารงานแผ่นดิน

การแข่งขันจะมีสูง นวัตกรรมทางการบริหารจะปรากฏ

ประชาชนจะได้รับการดูแลในรูปแบบต่างๆ ตามข้อเสนอในการหาเสียง

แต่ข้อเสียที่ตามมา ย่อมหนีไม่พ้นความขัดแย้ง

รวมทั้งข้อเสียอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน

การเมืองไทยหลังจากนี้เป็นต้นไป จะเป็นเฉกเช่นใด ดูเหมือนว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองคือตัวจักรสำคัญ

เพราะเป็นกลุ่มคนที่จะเลือกว่าจะดำรงตนอยู่ในแนวทางใด

ระหว่าง “คล้อยตาม” ผู้คุมอำนาจอยู่ในปัจจุบัน หรือจะเป็น “ฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์” เพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับประเทศ

ทุกอย่างคือโจทย์ที่ต้องตอบในเวลาอีกไม่นาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image