‘มาร์ค’ ร่อน จม.เปิดผนึกถึง กรธ. แจงยิบปัญหาไพรมารีโหวต แนะ 5 ข้อทางออกตั้ง กมธ.ร่วมฯ

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ใจความสำคัญ ดังนี้ จดหมายเปิดผนึกถึง กรธ.ฉบับนี้ ทำขึ้นสืบเนื่องจากมีการจัดทำ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ…. ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอยู่ระหว่างขั้นตอนที่ส่งให้ กรธ.พิจารณาว่าสมควรที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมขึ้นมาพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายนี้หรือไม่ ท่ามกลางการถกเถียงถึงความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ประกอบกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนล่าสุดของสวนดุสิตโพลบ่งบอกว่า คนจำนวนมากยังมีความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวน้อยถึงค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกร้องให้พรรค ปชป. ซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวให้ข้อมูลและความคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ในการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ต่อไป ตนจึงขอนำเสนอประเด็นที่เห็นว่ามีความสำคัญต่อการพิจารณาของผู้เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

หลักการ คือ พรรค ปชป.เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนและสมาชิกพรรคการเมืองในการบริหารพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติ” การมีบทบัญญัติให้มีการจัดทำการลงคะแนนเสียงเบื้องต้น หรือ ไพรมารีโหวต จึงถือเป็นเจตนาดีของผู้ร่างกฎหมายที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรานี้

อย่างไรก็ดีหากศึกษาจากประสบการณ์ในต่างประเทศของประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองในระบบรัฐสภาจะพบว่าการใช้กลไกดังกล่าวมีอยู่ค่อนข้างจำกัดด้วยเหตุผลที่สำคัญสองประการ ประการแรกความไม่แน่นอนของการมีการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเลือกตั้งซ่อมซึ่งจะต้องจัดขึ้นภายในระยะเวลาค่อนข้างสั้นทำให้ความพร้อมในการจัดการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นซึ่งต้องมีกระบวนการจัดการและการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายตั้งแต่ผู้สมัครจนถึงผู้เลือกตั้ง มีเวลาเพียงพอให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง มีข้อจำกัดอย่างมาก
ประการที่สอง กลไกการทำงานของระบบรัฐสภาต้องอาศัยพรรคการเมืองเป็นสถาบันในการรวบรวมผู้มีความคิดเห็นหรืออุดมการณ์ที่คล้ายคลึงกันดำเนินงานในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพของการทำงานของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ต่างจากระบบแยกอำนาจเด็ดขาดหรือระบบประธานาธิบดี ที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถยุบสภาและรัฐสภาไม่สามารถแต่งตั้งหรือล้มรัฐบาลได้ พรรคการเมืองโดยคณะกรรมการบริหารพรรคในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาจึงยังมีความจำเป็นในการที่จะต้องมีดุลพินิจและอำนาจในการสรรหาบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานทางการเมือง
เราจึงเห็นว่าความคุ้นเคยกับระบบการลงคะแนนเบื้องต้นมาจากการเมืองในสหรัฐอเมริกาที่กระบวนการเลือกตั้งใช้เวลายาวนานเป็นปีและพรรคการเมืองในสภาสองพรรคมีลักษณะของการเป็นการรวมตัวอย่างหลวมๆ เนื่องจากไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ดังนั้นการกำหนดบทบัญญัติในกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงต้องคำนึงถึงโครงสร้างของการปกครองไทยในภาพรวมด้วย

ในข้อเท็จจริงกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็มีบทบัญญัติที่พยายามส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองอยู่แล้ว โดยกำหนดให้พรรคการเมืองมีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรวมถึงคณะกรรมการนโยบายที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง พรรค ปชป.เป็นพรรคการเมืองที่ยึดถือหลักการนี้มาตลอด แต่การดำเนินการตามแนวทางนี้มีภาระและต้นทุนสูงมากทำให้พรรคการเมืองอื่นไม่เห็นประโยชน์ในการที่จะดำเนินการตามแนวทางนี้แต่สนใจที่จะทุ่มเทในเรื่องของการชนะการเลือกตั้งและการควบคุมสมาชิกพรรคมากกว่า จากประสบการณ์ตรงนี้พอจะประมวลปัญหาอุปสรรคต่างๆได้ดังนี้

Advertisement

1.การจะมีฐานสมาชิกที่กว้างขวางยังเป็นเรื่องยาก แม้จะได้รับสิทธิในการมีส่วนร่วมต่างๆ แต่ประชาชนจำนวนมากมีความกังวลกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพราะมักจะถูกตราว่าสูญเสียความเป็นกลาง ถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมหรือดำรงตำแหน่งต่างๆ ทั้งตามกฎหมายและในความเป็นจริงทางสังคม อีกทั้งการเพิ่มข้อกำหนดให้สมาชิกพรรคจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคในกฎหมายใหม่จะยิ่งทำให้การระดมสมาชิกพรรคการเมืองทำได้ยากขึ้น เมื่อประมาณปี พ.ศ.2550 พรรค ปชป.เคยพยายามรณรงค์ให้สมาชิกพรรคจ่ายเงินค่าบำรุงพรรค แต่ได้รับการตอบสนองน้อยมากโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มองว่าเป็นการสร้างภาระมากเกินไป แม้แต่จำนวนสมาชิกพรรคที่พร้อมจะจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคเพียงปีละ 20 บาทยังมีสัดส่วนน้อยมาก

2.ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสาขาพรรคและสำนักงานใหญ่ของพรรคมีจำนวนมากแต่ปรากฏว่ากองทุนพัฒนาพรรคการเมืองรวมทั้งกฎหมายใหม่ กลับมีข้อจำกัดมากขึ้นในการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อมาสนับสนุนงานบริหารของสำนักงานและสาขาจึงมีผลทำให้แรงจูงใจของพรรคการเมืองในการดำเนินการในลักษณะนี้ยิ่งมีน้อยลงเพราะคงต้องการที่จะนำค่าใช้จ่ายไปจัดสรรในงานทางด้านการเมืองอื่นมากกว่า

3.ด้วยสภาพข้อจำกัดข้างต้น ความเข้มแข็งของสาขาพรรคการเมืองต่างๆจึงต่างกันพอสมควร สาขาที่เข้มแข็งมีความพร้อมก็จะสามารถทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ได้เป็นอย่างดี แต่หากพื้นที่ใดยังไม่มีความแข็งแกร่งก็จะมีสาขาพรรคที่อ่อนแอหรือถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนบุคคลที่เป็นผู้บริหารสาขาพรรคนั้นให้ลงสมัครรับเลือกตั้งทำให้การสนับสนุนคนนอก คนใหม่จากวงการอื่นๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่การเมืองยากขึ้น

Advertisement

4.อย่างไรก็ตามเมื่อประมาณปี พ.ศ.2556 ในความพยายามที่จะปฏิรูปพรรคให้สมาชิกมีส่วนร่วมมากขึ้น ได้มีการนำเอาความคิดที่จะให้มีการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นเพื่อคัดเลือกผู้สมัครบัตรทดลองโดยได้ดำเนินการที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ด้วยทรัพยากรที่จำกัดพรรคจึงจัดให้มีการลงคะแนนได้โดยการประชุม ณ จุดเดียวทั้งจังหวัด ผลที่ออกมาจึงพบว่าผู้ที่มาใช้สิทธิและผู้ที่ได้รับชัยชนะมีคะแนนเสียงจำนวนค่อนข้างน้อย โดยกลับเป็นการสะท้อนความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะระดมคนใกล้ชิดของตัวเองให้มาลงคะแนนได้มากกว่า พรรคจึงยังไม่พอใจต่อผลการทดลองที่เกิดขึ้น

ที่ลำดับมาทั้งหมดมิได้ต้องการจะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดที่จะมีสมาชิกพรรคการเมืองที่ชำระเงินค่าบำรุงพรรคหรือการมีระบบการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นเพียงแต่ประสบการณ์เหล่านี้บ่งบอกว่าการจะทำให้การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองมีคุณค่าตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้น ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมด้วย พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีประวัติยาวนาน ฐานสมาชิกที่ค่อนข้างกว้างคงมีความพร้อมมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ในการที่จะดำเนินการในแนวทางนี้แต่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดมากมาย พรรคการเมืองอื่นตลอดจนพรรคการเมืองใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นจะต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรค เหล่านี้อย่างรุนแรงกว่ามากนัก

สำหรับปัญหาความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น การจะทบทวนร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของ สนช.แล้วจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีประเด็นว่ากฎหมายนั้นมีความขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในกรณีนี้จะขอยกตัวอย่างประเด็นที่เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอาจจะแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อาทิ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งโดยมีเจตนารมณ์สำคัญคือต้องการให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย ผู้สนับสนุน ศรัทธาหรือนิยมพรรคการเมืองใดในพื้นที่ซึ่งพรรคการเมืองนั้นไม่ประสบความสำเร็จในการชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็ยังสามารถไปลงคะแนนให้แก่พรรคการเมืองนั้นได้โดยคะแนนดังกล่าวจะถูกนำไปรวมคำนวณเพื่อจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภา แต่บทบัญญัติตามกฎหมายพรรคการเมืองในขณะนี้กำลังมีการปิดกั้นพรรคการเมืองซึ่งแม้จะมีผู้พร้อมจะสนับสนุนลงคะแนนให้ในเขตเลือกตั้งแต่ไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคหรือแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดมิให้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้จึงสวนทางกับเจตนารมณ์ของการออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

เหตุผลเหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นเพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขให้ความพยายามที่จะนำเอาระบบการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นมาใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมแล้วทางออกเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองที่เหมาะสมและสมควรได้รับการพิจารณามีหลายทาง เช่น
1.การให้ความสำคัญเบื้องต้นกับการที่พรรคการเมืองจะต้องมีฐานสมาชิกกว้างขวาง เพื่อสามารถ มีส่วนร่วมและใช้สิทธิได้โดยอาจจะต้องทบทวนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการชำระเงินค่าบำรุงพรรคหรือมีบทเฉพาะกาล ทอดเวลาการบังคับใช้ในเรื่องการชำระเงินค่าบำรุงหรือการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นหรือทั้งสองเรื่อง

2.การเน้นบทบัญญัติให้การสนับสนุนการมีสมาชิกพรรคการเมืองและการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองโดยรัฐต้องพร้อมที่จะจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองในเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง และบังคับให้การได้มาซึ่งผู้บริหารพรรคจะต้องมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยจากฐานราก เพื่อมิให้เกิดการครอบงำพรรคการเมืองจากคนจำนวนน้อย

3.หากยืนยันให้มีการจัดการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นก็ควรให้ กกต.และรัฐให้การสนับสนุนตลอดจนอำนวยความสะดวกในเรื่องของหน่วยเลือกตั้งการดูแลจัดการการเลือกตั้งทั้งหมดเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมืองทั่วประเทศสามารถมาลงคะแนนได้อย่างสะดวก

4.ในกรณีที่มีผู้มาใช้สิทธิไม่มากหรือในกรณีที่มีเหตุผลเกี่ยวกับความเหมาะสมในเรื่องของอุดมการณ์ ความซื่อสัตย์สุจริตความรู้ความสามารถ ควรมีบทบัญญัติที่ชัดเจนให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครหรือคณะกรรมการบริหารพรรคกลั่นกรองตัดสินใจเลือกผู้สมัครตามความเหมาะสมได้

5.ยกเลิกการใช้ระบบการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นในการจัดลำดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อแต่ควรกำหนดให้บัญชีรายชื่อดังกล่าวต้องมีความหลากหลายในเรื่องภาพสัดส่วนหญิงชาย เป็นต้น

ข้อคิดข้อมูลทั้งหมดนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาความเหมาะสมของกฎหมายพรรคการเมืองที่จะบังคับใช้ต่อไป ขอยืนยันอีกครั้งว่าพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนให้มีการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้ประชาชนและสมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของพรรคการเมืองมากขึ้นและพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่จะออกมาบังคับใช้ ความเห็นที่แย้งกับผู้ร่างกฎหมายในปัจจุบัน อยู่บนพื้นฐานของความห่วงใยว่าการไม่คำนึงถึงความเป็นจริงในสังคมจะทำให้ผลของการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและของผู้ร่างกฎหมายนั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image