สสจ.สิงห์บุรียันแก้ กม.บัตรทองช่วย รพ.พ้นวิกฤตการเงิน

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นพ.สุขสันติ พักธรรมนัก นายแพทย์เวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สิงห์บุรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …ว่า หากมีการแก้ไขจะส่งผลดีต่อผู้รับบริการ โรงพยาบาล และบุคลากรที่ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนออกจากเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับจังหวัดที่ประชากรน้อย แต่อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีหน่วยบริการดูแลพี่น้องประชาชน และจังหวัดที่มีสถานบริการสาธารณสุขหลายแห่ง เช่น สิงห์บุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ฯลฯ ซึ่งเมื่อหักค่าบุคลากรและค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ทำให้งบประมาณในการให้บริการมีจำนวนไม่เพียงพอ

“จ.สิงห์บุรี มีประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพ 145,720 คน มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 2 แห่ง โรงพยาบาลขนาด 30 เตียง 3 แห่ง และโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง 1 แห่ง รวมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรปีละ 543 ล้านบาท โดย ปี 2559 จังหวัดได้รับงบฯ 355 ล้านบาท แต่ถูกหักค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรร้อยละ 60 เป็นเงิน 328 ล้านบาท ทำให้เหลืองบบริการประชาชนเพียง 27 ล้านบาท หรือ 184.02 บาทต่อหัวประชากรต่อปี ทั้งที่ในระดับประเทศจัดสรรไว้ 2,900 บาทต่อหัวประชากรต่อปี จึงจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจากส่วนกลาง และจังหวัดอื่นๆ ในเขตสุขภาพเดียวกัน งบฯ จึงเพิ่มขึ้นเป็น 87 ล้านบาท อย่างไรก็ตามสถานการณ์การเงินของโรงพยาบาลใน จ.สิงห์บุรี ที่อยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งมีตั้งแต่ระดับ 1–4 ได้ส่งผลกระทบถึงระบบคุณภาพการบริการ การบริหารจัดการ และขวัญกำลังใจของบุคลากร” นพ.สุขสันติ กล่าวและว่า สำหรับปี 2560 หลังหักค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและสาธารณูปโภค จ.สิงห์บุรี เหลืองบฯ เพื่อใช้บริหารงานเพียง 11 ล้านบาท สธ.และคณะกรรมการร่วมการเงินการคลังระดับประเทศ ได้พยายามจัดสรรงบประมาณตามเกณฑ์เพื่อช่วยเหลือแต่ก็ยังไม่เพียงพอ จังหวัดยังคงมีโรงพยาบาลที่วิกฤตระดับ 7 และวิกฤตระดับ 1-2 อีก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเดิมๆ โดยปัญหานี้เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ใช้แนว พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ ฉบับเดิม ที่ทำให้การบริการของสถานบริการที่มีประชากรน้อยเดือดร้อน

นพ.สุขสันติ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกโรงพยาบาลพยายามแก้ปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องทางการเงินด้วยการชะลอจ่ายหนี้ค่ายา ค่าตอบแทนบุคลากร ค่าปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ เพื่อให้สามารถหมุนเงินในระบบได้ ซึ่งนั่นถือเป็นความเสี่ยง แต่การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ จะเป็นการปรับแก้ต้นเหตุแห่งปัญหาที่จะส่งผลดีต่อระบบคุณภาพบริการ และขวัญกำลังใจ หากโรงพยาบาลอยู่ไม่ได้ นอกจากผู้รับบริการสิทธิหลักประกันสุขภาพ ผู้รับบริการในสิทธิอื่นๆ ยังอาจได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image