เดินไปในเงาฝัน : หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา

ดังที่ทราบว่า “อุรุดา โควินท์” เป็นร่างเงาที่อยู่เคียงข้าง “กนกพงศ์ สงสมพันธุ์” ในวันสุดท้ายของชีวิต กระทั่งเขาจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

แต่กระนั้น “กนกพงศ์” ได้ทิ้งสมบัติทางวรรณกรรมไว้ในบรรณพิภพมากมาย เพื่อให้เหล่าบรรดาหนอนหนังสือมีโอกาสศึกษาหาอ่านกัน ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินอื่น รวมเรื่องสั้นที่ทำให้เขาได้รางวัลซีไรต์ในปี 2539

สะพานขาด, คนใบเลี้ยงเดี่ยว, โลกหมุนรอบตัวเอง, นิทานประเทศ, บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งในรูปแบบของกวีนิพนธ์, สารคดี และจดหมาย
กล่าวกันว่างานเขียนของ “กนกพงศ์” มีความลุ่มลึกอยู่ในตัวภาษา ทั้งยังมีเสียง และมีความชัดเจนในประเด็นทางสังคมต่างๆ ที่เขากล่าวถึง

อาจมีตั้งคำถามในบางเรื่องที่เขาไม่ต้องการคำตอบ

Advertisement

ขณะเดียวกันในงานเขียนของเขาก็มีความเป็นนักแสวงหาความหมายของชีวิต โดยเฉพาะชีวิตมนุษย์ที่อยู่ดินแดนแถบภาคใต้ของประเทศไทย

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้งานเขียนของ “กนกพงศ์” มีผู้ติดตามอ่านอยู่เสมอ แม้กระทั่งถึงวันที่เขาจากไปกว่า 10 ปี

เป็น 10 ปีที่มีหญิงสาวของเขายืนหัวใจอยู่ข้างกายในอดีต และความทรงจำในเวลาต่อมา จนทำให้เกิดหนังสือ “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” ที่มี “อุรุดา โควินท์” เป็นผู้เขียน

นวนิยายเรื่องนี้ ถ้าจะบอกว่าเป็นบทบันทึกชีวิตรักของเขาและเธอก็อาจเป็นไปได้ แต่ลึกลงไปกว่านั้น นวนิยายเล่มนี้ต้องการฉายภาพให้เห็นชีวิตของปุถุชนธรรมดาคนหนึ่ง
ที่ต่างหลงรักในตัวหนังสือ

ทั้งๆ ที่จุดเริ่มต้นของความรักไม่ได้มีความโรแมนติกเจือปนอยู่เลย ตรงข้าม อาจดูแปลกๆ ด้วยซ้ำ เพราะ “กนกพงศ์” ชอบเรียก “อุรุดา” ว่า “โควินทะ” ชื่อตัวละครหนึ่งในนวนิยาย “สิทธารถะ” อันเป็นงานเขียนอมตะของ “แฮร์มันน์ เฮสเซอ” นักประพันธ์ชาวเยอรมัน

แต่ตรงนั้นก็กลายเป็นความประทับใจในเวลาต่อมา

“อุรุดา” เคยสงสัย “กนกพงศ์” ว่าทำไมถึงไม่เคยเห็นพี่อยู่คนเดียว ไปไหนๆ มักจะมีคนเดินห้อมล้อมอยู่ตลอดเวลา หรือทำไมบางทีพี่ถึงมีอุปกรณ์ในการแต่งกายมากมาย

ความสงสัยเหล่านี้ถูกถามในวันหนึ่งขณะนั่งกันอยู่ในรถยนต์ คำตอบคือ…ผมชอบคาราบาว แล้วจากนั้น “กนกพงศ์” ก็กดปุ่มคาสเซตภายในรถ โดยมีบทเพลงมนต์เพลงคาราบาวลอยออกมา

เขาและเธอทั้งคู่ร้องเพลงนี้คลอไปด้วยกัน

ในหนังสือ “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” มีความน่าสนใจอยู่หลายเรื่อง และแต่ละเรื่องมีความระหว่างบรรทัดซ่อนอยู่ เหมือนอย่างตอนหนึ่งที่ “อุรุดา” เขียนบอกว่า…หากเสียงพิมพ์ดีดในช่วงเช้าดังรัว กังวานไปทั้งสวน เราจะคุยกันบ้าง ทั้งนี้ เกี่ยวกับหนังสือที่อ่าน

เรื่องสั้นที่กำลังเขียนหรืออยากเขียน

แต่ถ้าคิ้วพี่ยังผูกโบ ฉันจะนั่งกินเงียบๆ ปล่อยพี่อยู่ในห้วงคิดต่อไป

หลังอาหารมื้อแรก พี่อ่านหนังสือราวครึ่งชั่วโมงก่อนขึ้นไปทำงานต่อ ราวบ่ายสี่โมงเย็น พี่ออกจากการงาน และหากวันนั้นเป็นวันดี เราจะคุยกันระหว่างทำมื้อเย็น

กว่าจะเข้าใจ กว่าฉันจะคุ้นเคย กว่าฉันจะเห็น อะไรควรทำ ไม่ควรทำ ก็ผ่านเวลานับเดือน

พี่ไม่พูด ไม่สื่อสาร ไม่ว่าทางใด

มีแต่ช่วงค่ำ บนที่นอนที่ฉันเข้าถึงพี่ พี่เป็นฝ่ายเริ่มต้น มือ ริมฝีปาก ลิ้น พี่ทำทุกคืน ทำราวกับมันเป็นครั้งแรก และครั้งสุดท้าย

กับอีกตอนหนึ่งที่ “อุรุดา” เล่าให้ฟังว่า…พี่เขียนบทกวีได้ทุกแห่งในเวลาไม่ถึงสิบนาที กล่าวอย่างที่เห็น พี่ก็แค่หยิบกระดาษกับดินสอแล้วเขียนลงไป มันเกิดขึ้นในใจของพี่ก่อนหน้า เขียนเป็นเพียงการบันทึก

ต่างจากเรื่องสั้นที่พี่ต้องพิมพ์ดีดบนโต๊ะทำงานของพี่เท่านั้น บางวันฉันได้ยินเสียงเคาะแป้นพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ถ้าติดพัน พี่ไม่กินข้าว กาแฟ และบุหรี่ กาแฟอีก แล้วก็บุหรี่จนกว่างานเสร็จ

พิมพ์ดีดวันละสิบหน้าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพี่ หาคำผิดยาก และแทบไม่ต้องขัดเกลา เรื่องสั้นที่ชัดเจน แจ่มกระจ่างในห้วงเวลาปลอดโปร่ง พี่จะเอาออกมารวดเดียว ส่งต้นฉบับให้ฉันอ่านก่อนพิมพ์ในคอมพิวเตอร์

ฉันถึงกับพูดไม่ออก

ร่างแรกหรือนี่ แทบไม่ต่างกับต้นฉบับที่พี่พิมพ์ออกจากเครื่องพิมพ์ คนละเรื่องกับต้นฉบับของฉัน มันรกรุงรัง อ่านยาก ฉันต้องทำแล้วทำอีก ขัด เหลา จับพลิกหัว กลับหาง กว่าจะได้ประโยคที่ต้องการ

พี่ฝึกด้วยการคิดเป็นประโยค คิดแล้วค่อยพิมพ์ ฟังจากเสียงพิมพ์ดีด พี่คิดเร็วมาก ไหลเหมือนสายน้ำ พี่พิมพ์ดีดสิบกว่าแผ่นในวันเดียว ขณะฉันเขียนได้ครึ่งหน้าสมุดฉีก

ฉะนั้น จะเห็นว่านวนิยายเรื่อง “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” ต่างเต็มเปี่ยมไปด้วยอรรถรสของการใช้ชีวิตของนักเขียนที่มีเรื่องราวต่างๆ มากมาย

จริงๆ แล้วก็คล้ายกับชีวิตของปุถุชนธรรมดาทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างคือ เขาทั้งคู่เป็นนักเขียน ดังนั้น ชีวิตของพวกเขาจึงมีแต่เรื่องคิดจะเขียนหนังสือ

จนวันหนึ่ง “อุรุดา” ได้รับจดหมายจากแพรวสำนักพิมพ์ให้มารับรางวัลเรื่องสั้นชนะเลิศอันดับสาม รางวัลนายอินทร์ ที่กรุงเทพฯ

ตอนแรกเธอไม่คิดจะไปรับรางวัล เพราะมีค่าใช้จ่ายพอสมควร แต่เมื่อเขาปุจฉา-วิสัชนากัน ที่สุดจึงตัดสินใจเดินทางขึ้นมา เพราะเขาอยากเจอ “ชีวีชีวา” บ.ก.แพรวสำนักพิมพ์ด้วย และหลังจากที่เขาทั้งคู่มีโอกาสเจอะเจอเพื่อนเก่าๆ ในแวดวงวรรณกรรม เขาทั้งคู่จึงเดินทางกลับพรหมคีรีทันที

“อุรุดา” เขียนเล่าเรื่องนี้ บอกว่า…เราเดินทางกลับพรหมคีรีพร้อมเงินหมื่นกว่าบาท เงินก้อนใหญ่สุดที่ฉันได้รับในรอบหลายปี

ฉันจะซื้อครีมบำรุงผิวละ ฉันอยากสวย แต่ถ้าไม่มีเงิน สิ่งแรกที่ฉันจะตัดออกคือกองทัพสกินแคร์ เมกอัพไม่ต้องพูดถึง มีแป้งเมย์เบลลีนกับลิปสติกสีสุภาพสักแท่งก็หรูแล้ว

ตอนมาอยู่กับพี่ ฉันมีเป้ใบเดียวกับเงินสองพันบาท แถมเป็นเงินคนอื่น แล้วแม่ก็ส่งเงินมาให้ใช้สี่พันบาท ไม่มากพอที่ฉันจะปันไปซื้อครีมบำรุงผิว

เรามีรายรับประจำรวมหนึ่งหมื่นสี่พันบาท บางเดือนเราซ่อมรถ บางเดือนมีเพื่อนมาเยี่ยมมากเป็นพิเศษ บางเดือนเราเผลอซื้อหนังสือมากไป เราอยู่กันได้ แต่ต้องตัดความไม่จำเป็นทั้งมวลทิ้ง

คงไม่ต้องบอกว่า “อุรุดา” นำเงินรางวัลนี้ไปทำอะไรบ้าง แต่กระนั้นคงทำให้ทุกคนเห็นว่า “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” มีคำระหว่างบรรทัดซ่อนอยู่มากมาย

มีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ

ใครอดใจไม่ไหว ไปหาซื้ออ่านก่อนได้ รับรองคุณจะต้องชอบหนังสือเล่มนี้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image