หุ่นยนต์ครองโลก : ไม่เพียงแค่งาน หุ่นยนต์จะมาแข่งขันกับมนุษย์ในทุกทาง

เรื่องการแทนที่มนุษย์ด้วยหุ่นยนต์ในตลาดแรงงาน เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาบ่อยครั้งขึ้นในปัจจุบัน อาจเป็นเพราะความสามารถของฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์แบบ Deep Learning และข้อมูลที่ถูกเก็บผ่านเซ็นเซอร์ที่มากขึ้นในทุกวันนี้ ส่งผลให้หุ่นยนต์ (ซึ่งในที่นี้ “หุ่นยนต์” เป็นคำเรียกรวมๆ ถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ทั้งหมดที่อาจไม่อยู่ในลักษณะ “หุ่น” ที่จับต้องได้นะครับ) มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสูงขึ้นทุกที จนมนุษย์เกิดความกลัวและเริ่มตั้งคำถามถึงเหตุผลการมีอยู่ของตนเองว่า หลังจากวันที่หุ่นยนต์มาแทนที่มนุษย์อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว นั่นคือ ไม่ได้แทนเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นอาชีพ แต่ยังแทนมนุษย์ในเรื่องสันทนาการต่างๆ ด้วย – เมื่อถึงวันนั้น พวกเราจะอยู่กันอย่างไร (และที่สำคัญกว่านั้น, จะอยู่ไปทำไม)

ก่อนที่จะตอบคำถาม “อย่างไร” และ “ทำไม” คำถามที่เร่งด่วนกว่าอาจเป็นคำถามว่า “เมื่อไร – พูดให้” ชัดเจนคือ เมื่อไร ที่หุ่นยนต์จะมาแทนที่มนุษย์ในงาน (และสิ่งที่ไม่ใช่งาน) ได้จริงๆ

งานศึกษาจากมหาวิทยาลัย Oxford และ Yale โดย Katja Grace, John Salvatier, Allan Dafoe, Baobab Zhang และ Owain Evans ชื่อ “When will AI exceed human performance? : Evidence from AI experts” (ปัญญาประดิษฐ์จะเกินความสามารถมนุษย์เมื่อใด หลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญปัญญาประดิษฐ์) พยายามจะตอบคำถามนี้ ด้วยวิธีการศึกษาที่ในความเห็นของผมแล้ว, ดูเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง, นั่นคือการให้ผู้เชี่ยวชาญตอบแบบสอบถาม พวกเขาร่อนแบบสอบถามไปหาผู้เชี่ยวชาญ 1,634 คนทั่วโลก และนำคำตอบที่ได้ (มีผู้ตอบ 352 คน คิดเป็น 21%) มาประเมินทางสถิติ

สิ่งที่น่าสนใจในงานศึกษานี้คือพวกเขาค้นพบว่าผู้เชี่ยวชาญเชื้อชาติแตกต่างกันนั้น เชื่อมั่นในความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์แตกต่างกันด้วย นั่นคือ ผู้เชี่ยวชาญชาวเอเชีย เชื่อว่าโลกมีความเป็นไปได้ที่จะเห็น HLMI (High-level machine intelligence: ปัญญาประดิษฐ์ชั้นสูง หมายถึงปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานทุกอย่างได้ดีกว่า ด้วยราคาถูกกว่ามนุษย์) ในเวลาประมาณ 30 ปีนับจากนี้ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันเชื่อว่าจะต้องรออีก 74 ปี (หมายเหตุ: ถ้าพูดให้ถูกต้องตรงเผง คือ “โลกมีความเป็นไปได้ครึ่งหนึ่ง [50%] ว่าจะได้เห็น HLMI ภายในกี่ปี”)

Advertisement

ความแตกต่างที่มากถึง 44 ปีนี้แสดงนัยสำคัญบางอย่างให้เห็นชัดเจน เมื่อประกอบกับว่าในคำถามสำหรับงานประเภทย่อยๆ (เช่นคิดว่า “ในงานขับรถบรรทุก ระบบอัตโนมัติจะแทนที่มนุษย์ได้ในกี่ปี”) โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้เชี่ยวชาญชาวเอเชียก็เห็นว่าจะเกิดขึ้นก่อนผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันทั้งหมด (สำหรับยุโรป จะอยู่ตรงกลาง) ซึ่งน่าสนใจว่า ทำไมผู้เชี่ยวชาญชาวเอเชียจึง “มองโลกในแง่ดี” โดยพร้อมเพรียงกันเช่นนั้น

งานศึกษานี้ยังสอบถามความเห็นของงานประเภทต่างๆ ที่ปัญญาประดิษฐ์จะมีศักยภาพแซงมนุษย์ด้วย ว่าผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าจะเกิดขึ้นในกี่ปี โดยใช้เลขมัธยฐาน (median) มาสรุปผล ข้อมูลที่น่าสนใจเช่น

-ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์จะสามารถเล่น Angry Birds ได้ดีกว่ามนุษย์ในเวลา 3 ปี (หมายถึงว่า ในด่านใหม่ ที่ปัญญาประดิษฐ์นั้นๆ ไม่ได้ “รับการฝึก” มาก่อน)-ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์จะเล่นโป๊กเกอร์ชนะ The World Series of Poker ใน 3.6 ปี
-พับผ้าได้ดีพอๆ กับคนที่ทำงานร้านซักรีด ได้ใน 5.6 ปี (ยากกว่าโป๊กเกอร์อีก!)
-เล่นเกมอาตาริได้ครึ่งหนึ่งของเกมที่มีอยู่ทั้งหมด โดยไม่ต้องสอนเป็นพิเศษ ได้ในระดับมือสมัครเล่น ได้ใน 20 นาที (ตั้งแต่เริ่มเรียนรู้) ในเวลา 6.6 ปี (เล่นเกมอาตาริทั้งหมดได้ในเงื่อนไขเดียวกัน ได้ใน 8.8 ปี)
-ตอบคำถามที่สามารถหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เช่น “มีกิ้งก่ากี่ชนิดในสหราชอาณาจักร” ได้ดีกว่าผู้เชี่ยวชาญสาขานั้นๆ ได้ใน 7.2 ปี
-ต่อเลโก้ โดยมีวิธีการ (Instruction) ให้ ได้ใน 8.4 ปี
-เขียนรายงานส่งโรงเรียนมัธยมปลาย ได้เกรดดี และไม่ถูกโปรแกรมตรวจจับว่าลอกงาน ได้ใน 9.6 ปี
-ตอบคำถามที่ไม่มีคำตอบแน่นอน เช่น “อะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพประชากร” ได้ใน 10 ปี
-แต่งเพลงที่ดีมากจนสามารถติดอันดับ Top 40 ของอเมริกา ได้ใน 11.4 ปี
-เล่นโกะได้ชนะแชมป์โลก โดยอนุญาตให้ฝึกได้ในจำนวนเกมเท่าๆ กับที่แชมป์โลกคนนั้นฝึกมาเท่านั้น (AlphaGo ฝึกด้วยร้อยล้านกระดาน ในขณะที่แชมป์โลก Lee Sedol ฝึกประมาณ 50,000 กระดานทั้งชีวิต) ได้ใน 17.6 ปี
-ทำงานวิจัยทางคณิตศาสตร์ เช่น พิสูจน์ทฤษฎี เพื่อตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการ ได้ใน 43.4 ปี
-วิจัยปัญญาประดิษฐ์ (นั่นคือ ให้ปัญญาประดิษฐ์วิจัยปัญญาประดิษฐ์เอง!) ได้ในประมาณ 87 ปี
-และสุดท้ายคือ ทำงานแทนมนุษย์ทั้งหมด (Full automation of labor) ภายใน 125 ปี

Advertisement

งานศึกษานี้ส่งแบบสำรวจในปี 2016 และเผยแพร่ในปี 2017 ดังนั้นอาจต้อง “ลบ” ตัวเลขออกหนึ่งปีเมื่ออ่านในปัจจุบัน

เหล่านี้เป็นตัวเลขที่เปรียบเสมือนทั้งหลักไมล์ให้เรามองตัวเองและสังคมชัดขึ้นในอนาคต และเปรียบเสมือนทั้งตัวเลข “ระเบิดเวลา” ที่คอยนับถอยหลังว่า แล้วเมื่อวันนั้นมาถึง มนุษย์จะเป็นอย่างไรต่อไป

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีผู้ต้านการทำงานโดยปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะในสายงานศิลปะและงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่การมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ครอบจักรวาล (General AI) จะทำให้เราตั้งคำถามต่อคำต่อไปนี้ทั้งหมด – คำที่พวกเราเคยยึดไว้เป็นของมนุษย์แต่เพียงผู้เดียว – ตั้งแต่ “ศิลปะ” “ความคิดริเริ่ม” “ความรัก” ไปจนถึง “ความเป็นมนุษย์”

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image