รฟท.แจงยิบรถไฟทางคู่โคราชทำไมไม่ยกระดับ ยันประชาชนข้ามไปมาได้ปกติ

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงเหตุผลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมาเป็นทางรถไฟระดับดิน ตามที่นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครราชสีมา ระบุถึงการดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ที่มีเส้นทางตัดผ่านใจกลางตัวเมืองนครราชสีมา ทำให้เกิดปัญหาแบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง ประชาชนจะใช้สัญจรผ่านไปหากันไม่ได้ นอกจากต้องเดินทางอ้อมตัวเมือง ซึ่งต่างจากเส้นทางที่ผ่าใจกลางเมืองขอนแก่นที่มีการออกแบบให้สร้างทางรถไฟยกระดับ มีความสะดวกสบาย โดยหลายหน่วยงานในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ได้ออกมาแสดงเจตนารมณ์ขอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับแก้ให้มีการสร้างทางรถไฟทางคู่ยกระดับเหมือน จ.ขอนแก่น นั้น

นายอานนท์กล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมานั้น อยู่ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ โดยช่วงที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมาถูกออกแบบให้เป็นทางรถไฟระดับดิน เนื่องจาก

1.ช่วงสถานีรถไฟนครราชสีมาเป็นย่านใหญ่ และอยู่ห่างจากชุมทางถนนจิระเพียง 3 กิโลเมตร หากจะปรับรูปแบบให้เป็นทางยกระดับในช่วงดังกล่าว จำเป็นต้องยกระดับบริเวณย่านจิระด้วย ส่งผลให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นสูงมาก

2.การปรับรูปแบบช่วงสถานีรถไฟนครราชสีมาซึ่งเป็นย่านใหญ่ให้เป็นทางยกระดับ จะส่งผลให้ไม่มีพื้นที่เหลือเพียงพอสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในอนาคต

Advertisement

3.ที่นครราชสีมามีโรงรถจักรสำหรับการซ่อมบำรุงรักษารถ หากปรับรูปแบบเป็นทางยกระดับ จะส่งผลให้ไม่สามารถนำรถเข้าโรงรถจักรสำหรับการซ่อมบำรุงได้

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่นนั้น มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณสถานีบ้านเกาะ ซึ่งอยู่เลยชุมทางถนนจิระออกไป มีระยะทางผ่านท้องที่จังหวัดนครราชสีมาประมาณ 80 กม. ตัวโครงการถูกออกแบบให้เป็นทางรถไฟระดับดินเช่นเดียวกัน ยกเว้นช่วงที่ผ่านตัวเมืองขอนแก่น เนื่องจากช่วงดังกล่าวมีจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับในบริเวณเดียวกันถึง 5 แห่ง จึงได้ออกแบบให้เป็นทางรถไฟยกระดับข้ามถนนเดิมยาวตลอด เนื่องจากมีความคุ้มค่ามากกว่าการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟเป็นแห่งๆ อีกทั้งยังไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการยกระดับทางรถไฟ

ส่วนจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับจุดอื่นๆ ในจังหวัดนครราชสีมานั้น มีระยะห่างกันค่อนข้างมาก ไม่คุ้มค่าที่จะออกแบบเป็นทางรถไฟยกระดับตลอดสาย การรถไฟฯจึงได้ออกแบบให้มีสะพานข้ามทางรถไฟ หรือถนนลอดใต้ทางรถไฟ หรือสร้างถนนคู่ขนานทางรถไฟแล้วสร้างสะพานกลับรถรูปเกือกม้าทดแทนจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับเดิมทุกแห่ง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน โดยที่ประชาชนสองข้างทางรถไฟยังสามารถสัญจรไปมาผ่านทางรถไฟได้เหมือนเดิม

รฟท.ขอยืนยันว่าการออกแบบดังกล่าวได้คำนึงถึงหลักวิศวกรรม ความปลอดภัยและการแก้ไขปัญหาจราจร และความคุ้มค่าของการลงทุนเป็นสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image