‘บิ๊กตู่’ขยับเดินสาย ฟื้น ครม.สัญจร การเมืองสไตล์ คสช.

พลันที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับมาดำเนินการประชุม ครม.สัญจรขึ้นมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เคยจัดประชุม ครม.สัญจรครั้งแรกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 และจัดประชุม ครม.สัญจรครั้งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 แต่นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

สำหรับพื้นที่ที่นายกฯมีคำสั่งให้ปัดฝุ่น จัดประชุม ครม.สัญจรอีกครั้งนั้น จะให้ความสำคัญกับ 6 ภูมิภาคของประเทศไทย ประกอบด้วย ภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ ภูมิภาคในบริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา ส่วนจะจัดประชุม ครม.สัญจรพื้นที่ใดในภูมิภาคดังกล่าวจะมีการพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

วัตถุประสงค์ของการจัด ครม.สัญจรนั้น พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ต้องการลงพื้นที่ไปพบปะรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่โดยตรง ตลอดจนรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อขัดข้องต่างๆ ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง รวมทั้งต้องทำความเข้าใจกับข้าราชการในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการสื่อความหมาย คำสั่ง และนโยบายจากส่วนกลางที่ลงไปยังผู้ปฏิบัติงานคนสุดท้ายในพื้นที่ไม่ได้ผิดเพี้ยนไป หากสามารถดำเนินการได้ตามนี้ เชื่อมั่นว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการบิดเบือนข้อมูลจากส่วนกลาง การร้องเรียนและร้องทุกข์ของประชาชน หรือการที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นพิเศษต่างๆ เหล่านี้จะลดลง

Advertisement

หากย้อนรอยต้นตำรับการจัด ครม.สัญจร คงไม่พ้นสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นำร่องโมเดล “ทัวร์นกขมิ้น” แบบค่ำไหนนอนนั่น ด้วยการขนทีมคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ไปด้วย ระหว่างวันที่ 16-21 มกราคม 2549 ที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด อนุมัติงบประมาณและสารพัดโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน มีการถ่ายทอดสด 5 วัน 5 คืน ตลอด 24 ชั่วโมงสร้างวิธีการสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่แบบไม่เคยมีพรรคการเมืองใดกล้าทำมาก่อน

ทว่าหากจะวิเคราะห์ถึงการจัด ครม.สัญจรของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใน 6 ภาคนั้น แน่นอนย่อมหนีไม่พ้นนัยยะทางการเมือง

ในมุมมองของ นายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มองถึงการจัด ครม.สัญจรของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า การกลับมาลงพื้นที่จัดประชุมครม.สัญจร 6 ภาค ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เป็นเรื่องการสร้างคะแนนนิยมของรัฐบาล เหมือนสมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จัดทัวร์นกขมิ้นสัญจรไปทั่วประเทศ และเมื่อไปที่ไหนก็มักจะมีโครงการหรืองบประมาณลงไปสนับสนุนจังหวัดนั้นๆ เสมอ

ที่ผ่านมาคนไทยมักชื่นชอบเวลาเจ้าพระยาเหยียบเมืองอยู่แล้ว ส่วนเวลานี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็กำลังต้องการความศรัทธาจากประชาชน ทำให้ถูกมองได้ว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการปูทางเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนช่วงเลือกตั้งเพื่อได้เป็นรัฐบาลต่อในอนาคตหรือไม่

ส่วนการเลือกช่วงเวลาลงพื้นที่ในช่วงนี้ทั้งที่เป็นรัฐบาล 2 ปีกว่าแล้วนั้น อ.สุขุมวิเคราะห์ว่า ฝั่งรัฐบาลบอกว่าเพราะเป็นช่วงเวลาเหมาะสม ภารกิจเรียบร้อยหลายอย่าง แต่โดยปกติรัฐบาลจะขยันลงพื้นที่ต่อเมื่อใกล้เลือกตั้งเพื่อสร้างคะแนนนิยมเฉพาะเจาะลงในแต่ละพื้นที่ ส่วนโฆษกรัฐบาลออกมาชี้แจงเหตุผลในการลงพื้นที่ว่าต้องการชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องกับประชาชนโดยตรง เพราะไม่อยากให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่บิดเบือนนั้น เป็นเรื่องธรรมดาในปรากฏการณ์การหาเสียง

เพราะเมื่อฝ่ายตรงข้ามฝั่งต้องการคะแนนนิยม ก็มักจะเอานโยบายมาทำให้เกิดความเสียหาย เช่น กระแสยกเลิกบัตรทองที่นายกฯก็พูดเองว่าไม่เคยคิดจะยกเลิก มีแต่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงถือเป็นธรรมชาติของการแข่งขันทางการเมือง ที่เมื่อนโยบายไหนดีอีกฝ่ายก็ต้องพยายามหาช่องโหว่มาพูด นี่จึงไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมต้องลงพื้นที่เวลานี้ แต่การลงพื้นที่และชี้แจงประชาชนโดยตรง ถือเป็นการตอกย้ำด้วยคำพูดตรงไปตรงมาไม่ผ่านสื่อว่าอะไรเป็นอะไร

ที่ผ่านมาเมื่อถึงช่วงเวลาหาเสียง ส.ส.ในพื้นที่ต่างอยากให้หัวหน้าพรรคลงไปพบปะประชาชนในพื้นที่ตัวเอง เพราะจะถือเป็นการดึงคะแนนนิยมให้พรรคและให้ตัว ส.ส.เองด้วย ส่วนเหตุผลที่ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่มี ส.ส.ในพื้นที่คอยชักจูงชาวบ้านนั้น เรื่องนี้ข้าราชการสามารถทำได้ดีกว่านักการเมืองด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะถูกมองว่าเป็นการจัดฉากหรือไม่ก็ตาม แต่ภาพออกมาก็ดูดี ดูพร้อมเพรียงเรียบร้อย ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรเราไม่สามารถรู้ได้ว่าชาวบ้านจะเชื่อฝ่ายไหนมากกว่ากัน เพราะฝ่ายการเมืองก็มีความผูกพันกับชาวบ้านไม่น้อย สุดท้ายทุกอย่างจะชัดเจนเมื่อการเลือกตั้งมาถึง เหมือนอย่างสมัยยึดอำนาจปี 2549 เมื่อผลออกมาฝ่ายที่ยึดอำนาจก็โวยวายว่ายึดมาแล้ว เสียของ เพราะอุตส่าห์ทำแทบตายกลับไม่ได้อะไร

แต่ฝ่ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เขาก็เชื่อมั่นพอสมควร เพราะช่วงทำประชามติที่ฝ่ายการเมืองทุกพรรคไม่เอาด้วยแต่บทสรุปคือประชาชนเอาด้วย เขาก็เลยมั่นใจว่ามีคนเชื่อถือรัฐบาลอยู่ไม่น้อย ส่วนการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์คาดว่าจะเลือกภาคใต้ก่อนก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจ เพราะพื้นที่ภาคใต้ว่ากันว่าเชียร์รัฐบาลนี้อยู่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคเหนือค่อยไปลงพื้นที่ตอนใกล้เลือกตั้งจะได้ผลและคนไม่ลืม รวมถึงอีกฝ่ายตั้งตัวไม่ทัน

“บรรยากาศรัฐบาลทหารกับรัฐบาลพลเรือนเวลาลงพื้นที่ต่างกันอยู่แล้วแต่คนในพื้นที่มองสิ่งที่รัฐบาลเอาไปให้ทั้งโครงการต่างๆ งบประมาณสนับสนุน สุดท้ายผลจะออกมาแบบไหนต้องไปวัดกันตอนเลือกตั้ง” อ.สุขุมฝากทิ้งทาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image