นวัตกรรม CardioInsight ตรวจภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

“ปลุกไม่ตื่นในตอนเช้า” นำความเสียใจมาให้กับทุกครอบครัว ถ้าไม่อยากเจอเหตุการณ์แบบนี้ ควรหมั่นสังเกตอาการด้วยตนเอง ซึ่งบางรายอาจมีอาการตัวเกร็ง หายใจอึดอัดตอนกลางคืน เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย เป็นลม หมดสติ…มันคือสัญญาณเตือนให้รู้ว่า เข้าข่ายอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และสามารถลุกลามไปสู่โรคไหลตาย (Brugada Syndrome) ที่เกิดความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะในลักษณะของการเต้นระริก เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจเกิดไม่บีบตัวขึ้นมา… อย่าละเลยที่จะดูแล เพราะ “หัวใจ” เป็นอวัยวะที่ทำงานไม่มีวันหยุดและมีเซลล์พิเศษ ในการสร้างกระแสไฟฟ้าได้ด้วยตัวเองเพื่อกระตุ้นให้หัวใจทำงานสม่ำเสมอ

จากสถิติในคนปกติหัวใจช่วงไม่ออกแรง ควรเต้นประมาณ 60-75 ครั้ง/นาที เริ่มต้นจากการตรวจชีพจร ถ้าหัวใจเต้นช้ามาก จะทำให้เลือดที่บีบจากหัวใจไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่งผลให้หน้ามืดเป็นลมได้ สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ มีความรุนแรงแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่แล้วมักไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา ซึ่งสาเหตุเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และขึ้นอยู่กับ พฤติกรรมการดำเนินชีวิต ประวัติสุขภาพ และปัจจัยแวดล้อมของผู้ป่วยแต่ละราย หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิดตัวนำนวัตกรรมเทคโนโลยี CardioInsight เพื่อตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ นำร่องทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศึกษาและวิจัย นำโดย นพ.กุลวี เนตรมณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจแปซิฟิก ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา และอายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยา ไฟฟ้าหัวใจ ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ให้ข้อมูลว่า

“ปัจจุบันมีนวัตกรรมเทคโนโลยี CardioInsight หรือ CardioInsight Mapping Solution ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างแผนที่ไฟฟ้าแบบ 3 มิติ ที่ตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติได้อย่างแม่นยำและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยไม่ต้องสอดใส่เครื่องมือหรือสายสวนใดๆ ไปยังผู้ป่วยจึงปลอดภัยยิ่งขึ้น ลดการบาดเจ็บ ความเครียด และวิตกกังวลของผู้ป่วยลงไปได้ โดยเครื่องมือชนิดนี้มีลักษณะเป็นเสื้อกั๊กที่ฝังอิเล็กโทรดตรวจจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจจำนวน 252 ตำแหน่งบนเสื้อซึ่งครอบคลุมพื้นที่ผนังทรวงอกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สามารถตรวจจับทิศทางสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจได้ทั่วทั้งดวง ยิ่งเมื่อนำข้อมูลที่ได้ประมวลผลร่วมกับข้อมูลจากเครื่อง CT Scan จะเห็นภาพชัดเจนว่าเกิดความผิดปกติในจุดไหน ข้อสำคัญคือช่วยให้แพทย์ทำการวินิจฉัยและรักษาได้เข้าถึงได้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นส่วนเสริมให้กับการทำหัตถการที่เป็น invasive procedure เช่น การสวนหัวใจ ให้ทำได้ง่ายเข้าถึงตำแหน่งเฉพาะได้ดียิ่งขึ้น หากเปรียบเทียบกับเครื่องมือ EKG (Electrocardiogram) ที่บอกว่ามีความผิดปกติที่หัวใจห้องบน แต่เครื่องมือ CardioInsight จะชี้เฉพาะได้ละเอียดขึ้นว่าจุดที่ผิดปกตินั้นอยู่ที่จุดใดของหัวใจห้องบน”

Advertisement

“ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นภัยเงียบที่อาจสร้างความเสียหายอย่างถาวรให้กับหัวใจ หรือรุนแรงถึงขั้นผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เพราะบางรายไม่แสดงอาการให้เห็นขณะมาตรวจหรือมีอาการเกิดขึ้นเพียงบางเวลา” นพ.กุลวี เนตรมณี กล่าว

นางสาวชารู รามันนาธาน ผู้ก่อตั้งนวัตกรรมเทคโนโลยี CardioInsight ที่บินตรงจากสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า “เมืองไทยเป็นแห่งที่ 3 ของโลกและแห่งแรกในเอเชีย ที่มีนวัตกรรม CardioInsight เครื่องมือตรวจภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยตั้งอยู่ที่ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยโรงพยาบาลอีก 2 แห่งที่มีเครื่องมือนี้คือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ในประเทศฝรั่งเศส และโรงพยาบาลแฮมเมอร์สมิธ ในประเทศอังกฤษ และนับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์การรักษาอีกขั้นหนึ่งให้กับผู้ป่วยในเมืองไทยที่มีเครื่องมืออันทันสมัยที่จะสามารถวิเคราะห์เจาะลึกได้ถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่นำความรู้ ความเข้าใจให้กับคนไทยมากยิ่งขึ้น”

“ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ยังคงใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัยวิถีสุขภาพดีตัวเราเองสร้างได้ทั้งร่างกายและจิตใจ เริ่มต้นจากการพักผ่อนให้เพียงพอ บริหารจัดการความเครียดให้เหมาะสม รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ งด-ละ-เลิก สารกระตุ้นหัวใจต่างๆ เช่น สารกาเฟอีน, เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, การสูบบุหรี่ และอาหารหมักดอง เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image