ชาติไทยพัฒนายื่น กรธ. ร้องทบทวนไพรมารีโหวต

ชาติไทยพัฒนายื่น กรธ. ร้องทบทวนไพรมารีโหวต ชี้คำสั่ง คสช.งดประชุมพรรค ส่งผลระบบคัดเลือกผู้สมัคร ด้าน’ชาติชาย’เผย จ่อหารือ สนช.หาทางออก

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 26 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายพิสิษฐ์ พิทยาฐากุลเจริญ นายทะเบียนสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้รับมอบหมายจาก นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรค ชทพ. เพื่อยื่นหนังสือต่อนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อคัดค้านและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบการคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้น และการส่งสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมือง หรือไพรมารีโหวต เพราะเห็นว่าระบบดังกล่าวอาจส่งผลที่ทำให้สิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกพรรค ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งผู้ที่จะสมัครที่เป็นคนดีมีคุณธรรม ซื่อสัตย์จนเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่เคารพรักโดยทั่วไปในเขตเลือกตั้ง รวมทั้งอาจส่งผลไปถึงคะแนนรวมที่จะนำมาคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อได้ เนื่องจากการลงคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งใบเดียว ต้องนำคะแนนดังกล่าวมารวมคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นอกจากนี้ ยังจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น เช่น กระบวนการและขั้นตอนที่ได้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเกิดความลักลั่นไม่เท่าเทียมกัน บางคนได้มาจากในเขตเลือกตั้งของตนเอง ในขณะที่บางคนได้มาจากในเขตเลือกตั้งอื่น ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค

โดยรายละเอียดในหนังสือดังกล่าวระบุข้อความจากนายธีระว่า ความไม่พร้อมของระบบการคัดเลือกเบื้องต้นจะส่งผลกระทบต่อคะแนนที่จะมาคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีพรรคอีกด้วย เช่นเดียวกับการกำหนดให้สมาชิกพรรคหนึ่งคนเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 15 คน อาจไม่ได้คนดีมีความรู้ความสามารถมาอยู่ในลำดับต้นๆ เลย เนื่องจากผู้ลงคะแนนไม่รู้จักและคุ้นเคยกับรายชื่อในบัญชีเหล่านั้นมาก่อน จึงไม่สะท้อนความเป็นจริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย นอกจากนั้น จะเกิดความยุ่งยากสับสนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจัดทำการคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้นฯ ว่าค่าใช้จ่ายส่วนใดจะเป็นของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ตาม สิทธิพรรคการเมืองในการเตรียมความพร้อมรองรับระบบการคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้นเพื่อส่งสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค (Primary Election) ขณะนี้พรรคการเมืองและนักการเมืองไม่สามารถจัดทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ระบบการคัดเลือกเบื้องต้น เนื่องจากพรรคการเมืองและนักการเมืองมีภารกิจมากมายหลายประการที่ต้องเตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อมรองรับกับการเลือกตั้งระบบใหม่

นายธีระระบุอีกว่า ดังนั้น ขอให้นำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. …. หมวด 3 การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง มาตรา 47 เดิมที่เสนอที่ กรธ.และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับมาบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 135/1 แทน โดยตัดข้อความในมาตรา 135/1 ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งเพิ่มไว้ใหม่ทั้งหมด กรธ.และ กกต. ได้ไตร่ตรองจนตกผลึกว่าร่างพระราชบัญญัติฯ มาตราดังกล่าวนั้น มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และไม่ยุ่งลำบากนักที่พรรคการเมืองจะปฏิบัติได้ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็จะได้ระบบการคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้นเพื่อส่งสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค (Primary Election) ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

Advertisement

ด้านนายชาติชายกล่าวว่า ข้อเสนอและข้อทักท้วงของตัวแทนพรรคการเมืองนั้นตนจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กรธ. ในช่วงบ่ายวันนี้ (26 มิ.ย.) ส่วนจะนำไปสู่มติของ กรธ. นำส่งความเห็นไปยังนายพรเพชร วิชิตชลชัยประธาน สนช. เพื่อตั้ง กมธ. ร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่นั้น ตนยังตอบไม่ได้ ทั้งนี้ มีหลักการที่ต้องพิจารณาคือ หากบทบัญญัติที่ตัวแทนพรรคการเมืองทักท้วงมีปัญหาทางข้อกฎหมาย กรธ.ต้องหารือเพื่อวางหลักพิจารณากับ สนช. แต่หากพิจารณาแล้วว่าเป็นประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติของพรรคการเมือง ต้องให้ กกต.เป็นผู้พิจารณากำหนดระเบียบหรือขั้นตอนอื่นๆ รองรับ เพราะเรื่องนี้ต้องพิจารณาโดยหลักสำคัญด้วยว่าการบัญญัติกฎหมายใดต้องไม่สร้างปัญหาในทางปฏิบัติด้วย เนื่องจากหลักการของระบบไพรมารีโหวต ที่ให้สมาชิกพรรคหรือตัวแทนพรรคมีส่วนร่วมคัดเลือกผู้สมัครนั้นเป็นสิ่งที่ กรธ.เห็นด้วยและยอมรับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image