85 ปี ประชาธิปไตย โดย ปราปต์ บุนปาน

แฟ้มภาพ

ในวาระครบรอบ 85 ปี ประชาธิปไตยไทย ดูเหมือนปัญญาชน-นักคิดร่วมสมัยจะมิได้นำเสนอความคิดเห็นที่ย้อนรำลึกไปถึง “อดีต” ดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แต่ดูคล้ายหลายฝ่ายจะพยายามพินิจพิจารณาถึง “ปัจจุบัน” ด้วยความห่วงใยถึง “อนาคต” มากกว่า

ปัจจัยหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันเยอะในปีนี้ ก็คือ เครือข่ายอำนาจของรัฐราชการไทย

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 คือ การพลิกบทบาทให้ตัวแทนของระบบราชการ ที่มีกลุ่มก้อนและความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น เข้ามาเป็นผู้บริหาร-จัดการ-ปกครองรัฐ

Advertisement

ไม่ว่าเราจะมองว่าการก่อการ 2475 สำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร หรือปัญหาของรัฐราชการรวมศูนย์ที่เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีมากหรือน้อยแค่ไหน ส่งผลเสียในระยะยาวเพียงใด

แต่ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าเครือข่ายอำนาจของรัฐราชการไทย ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเสาหลักของการบริหารปกครองประเทศ มาจนถึงปัจจุบัน คือ “มรดกสำคัญ” ชิ้นหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 85 ปีก่อน

ดูเหมือนว่า นับจากนี้ไปจนถึงอนาคต “ระบบราชการไทย” จะถูกคาดหวังให้มีส่วนรับผิดชอบกับชะตากรรมของประเทศมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

น่าสนใจว่าระบบราชการไทยหรือเครือข่ายอำนาจของรัฐราชการไทยจะสามารถแบกรับภารกิจในระยะยาวดังกล่าวได้ดีเพียงใด?

หรือระบบราชการไทยจะสามารถปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นได้ดีขนาดไหน? ภายในสังคมไทยที่เปลี่ยนไป และสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลง ด้วยอัตราเร่งอันรวดเร็วมากขึ้นตามลำดับ

อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจถูกพูดถึงไม่มากนักในวาระครบรอบ 85 ปี ประชาธิปไตยไทย แต่ก็มิอาจมองข้ามผ่านเลยไปได้ คือ พลังอำนาจของประชาชน

จริงๆ แล้ว สามารถกล่าวได้ด้วยซ้ำว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขันของประชาชน อาจไม่ใช่ “มรดกโดยตรง” ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475

หากเป็นผลลัพธ์ของพัฒนาการทางการเมืองในระยะอื่นๆ ณ ช่วงเวลาหลังจากนั้น

แต่พอเวลาผันผ่านไป การมีส่วนร่วมของประชาชนก็มากลายเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกด้านหนึ่งของประชาธิปไตยไทย

ในยุคนี้ ดูคล้ายจะไม่ค่อยมีคนพยายามพูดถึงบทบาททางการเมืองของประชาชน (ตลอดจน “ผู้แทนของประชาชน”) อย่างเข้มข้นจริงจังมากนัก

ส่วนหนึ่ง คงเป็นเพราะบทบาทดังกล่าวยังไม่สามารถแสดงพลังออกมาได้โดยเด่นชัดในบริบทปัจจุบัน

แต่ก็น่าตั้งคำถามว่าหากมองไปในอนาคตอันยาวไกลแล้ว เราต้องการ “ความสงบ” หรือ “ภาวะประหนึ่งไร้ความขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้นจากเสียงซึ่งถูกหรี่ให้เบาลงของประชาชน หรือต้องการผนวกดึงประชาชนให้เข้ามาเป็นส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาประเทศและระบอบประชาธิปไตยไทย?

ถ้าต้องการแบบหลัง เรามีความเชื่อมั่นไว้วางใจประชาชนและตัวแทนของพวกเขามากเพียงไหน? ในภาวะที่รัฐราชการและประชาชนพลเมืองจะต้องจับมือเดินไปข้างหน้าอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กัน

………………

ปราปต์ บุนปาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image