หมอวิจารณ์แนะวิธีจัดการศึกษาที่แท้จริง ชูเป้าหมาย 6 ข้อสู่การเรียนรู้ ศ.21

นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การศึกษาที่แท้จริงเป็นอย่างไร” ในโครงการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะคนไทย โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ร่วมกับภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ว่า ก่อนอื่นต้องแก้ความเข้าใจผิดในเรื่องการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของเยาวชนในพื้นที่ ประเด็นสำคัญจะต้องจับจุดให้ถูก ในความหมายคือการจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งเป็นกุญแจที่จะไขสู่ความสำเร็จ เพื่อให้เกิดผลที่สะเทือนไปในวงกว้าง ดังนั้น การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ จ.เชียงใหม่ จับจุดถูกที่มุ่งผลลัพธ์ที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ

นพ.วิจารณ์กล่าวอีกว่า โดยการเรียนรู้ที่มีคุณภาพในศตวรรษที่ 21 ต้องมีเป้าหมายที่จะต้องทำ 6 ประการสำคัญ คือ 1.การเรียนวิชาเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องเรียนให้ครบมี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ มีความรู้ มีสมรรถนะ มีบุคลิก-คุณลักษณะ และเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้น หัวใจสำคัญของการเรียนรู้อย่างน้อยต้องมี 4 องค์ประกอบนี้ 2.ลักษณะนิสัย มีความมุมานะ ใฝ่รู้ อดทนรอเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ควบคุมตนเองได้ มีวินัย สำนึกรับผิดชอบ มีความมั่นคงทางอารมณ์ ซึ่งสำคัญต่อความสำเร็จในชีวิตยิ่งกว่าความรู้ 3.สร้างความเชื่อมั่นในพรแสวง ชื่นชมในความมานะพยายามของเด็ก เยาวชน แต่ไม่ชมความเก่ง เพราะเป็นวิธีการทำลายความฉลาดของเด็ก เมื่อชมแล้วต้องชี้ให้เห็นถึงความมานะพยายามที่เด็กทำแล้วสำเร็จ 4.พัฒนาตนเอง 7 ด้าน ได้แก่ อารมณ์ สมรรถนะ มนุษยสัมพันธ์ อิสระ-เกื้อกูลกัน เป้าหมายชีวิต อัตลักษณ์ และมั่นคงคุณธรรม 5.การเรียนรู้ 8 ระดับ ได้แก่ รู้ เข้าใจ นำไปใช้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน-เปรียบเทียบ เปลี่ยนวิธีเรียนรู้ และเปลี่ยนกระบวนทัศน์-ตัวตน เพราะกระบวนการเรียนรู้ไม่ได้หยุดที่ “รู้” เรื่องสุดท้าย  และ 6.เรียนแล้วรู้จริง

“การจัดการศึกษาของประเทศไทยส่วนใหญ่ 80% เป็นการเรียนแบบผิวเผิน เด็กที่สมองดีเท่านั้นจะเรียนแล้วรู้จริง แต่ด้วยความเชื่อของผม เชื่อว่าเด็ก 99% จะเรียนแล้วรู้จริงได้ ถ้าครูจัดการศึกษาเป็น นี่คือเป้าหมาย 6 ประการที่ต้องการให้การเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่มีคุณภาพ ดังนั้น การพัฒนาคน 1 คน เพื่อสร้างพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป” นพ.วิจารณ์ กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image