“โคราช”ยื่นหนังสือ”มทภ.2″ค้านรถไฟทางคู่บนดิน จี้ยกระดับเหมือน”ขอนแก่น”

เมื่อเวลา 14.00น. วันที่ 26 มิถุนายน ที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา นายสหพล กาญจนเวนิช รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา พร้อมนายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อพล.ท.วิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 เรื่องขอแก้ไขการออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น
นายสหพล กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ สามารถตอบโจทย์การเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งมวลชน ทั้งลดระยะเวลาการเดินทาง ประหยัดพลังงานและเพิ่มทางเลือกการสัญจรสู่ภูมิภาค ทำให้เมืองโคราชมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคอีสานอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น กำลังดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าแล้วเสร็จกลางปี 2562 และโครงการก่อสร้าง มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ อยู่ในแผนดำเนินการเร็วๆนี้ ขณะนี้ทุกภาคส่วนออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้าง โดยเฉพาะการปิดจุดตัดถนนทางข้ามรถไฟที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ที่มีอาณาเขตติดต่อกันและชุมชนขนาดใหญ่ 4 แห่ง โดยใช้เจ้าหน้าที่ รฟท. ควบคุมการปิดเปิดเครื่องกั้น โดยให้ใช้ถนนเลียบทางรถไฟและทางต่างระดับหรือสะพานข้ามทางรถไฟที่กำหนดไว้แทน “ภาครัฐและเอกชนตระหนักถึงผลกระทบเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมีตัวอย่างที่ทางต่างระดับหรือสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล อาณาเขตติดต่อระหว่าง เทศบาลนครนครราชสีมา กับ เทศบาลตำบลหัวทะเล อ.เมือง ส่งผลให้ธุรกิจร้านค้าต้องเลิกกิจการทั้งหมด วิถีชีวิตชาวบ้าน เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จึงขอให้แก้ไขทบทวนการออกแบบ โดยให้ยกระดับช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อมิให้เกิดปัญหาในอนาคต” นายสหพล กล่าว

ด้านนายชัชวาล กล่าวว่า ชาวโคราชวิตกกังวล เรื่องแผนกก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่บนดิน ลักษณะกำแพงสูง 2 เมตร กั้นสองข้างทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้การสัญจรยากลำบากขึ้น สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ในอนาคต เทศบาลนครฯ หอการค้า และสภาอุตสาหกรรม และชาวโคราช ต้องการก่อสร้างรูปแบบทางรถไฟยกระดับ จึงขอความอนุเคราะห์แม่ทัพภาคที่ 2 ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันข้อเสนอ ความคิดเห็นและสนับสนุนในการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ
“ประโยชน์ที่แท้จริง คือ การยกระดับเส้นทางโดยจังหวัดนครราชสีมา มีแผนใช้ประโยชน์สำหรับพื้นที่ด้านล่างทางยกระดับ เพื่อสร้างช่องทางจราจรขนาด 4 เลน เพิ่มอีก 1 เส้นทาง รวมทั้งมีระบบระบายน้ำ ท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.2 เมตร ตามแผนแก้ไขบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง ซึ่งกระบวนการประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา เป็นเพียงสอบถามความคิดเห็นชาวโคราช ว่าต้องการรถไฟทางคู่หรือไม่ ซึ่งเรายินดีที่จะเกิดการพัฒนาด้านคมนาคม แต่ไม่ทราบข้อมูลรูปแบบการก่อสร้างจริง และ รูปแบบเส้นทางรถไฟความเร็วสูง หากเป็นรูปแบบดังกล่าวคงไม่ยินยอมให้ก่อสร้างอย่างแน่นอน ขอให้ผู้เกี่ยวข้องและชาวโคราช ร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ทุกยอมรับและส่งผลกระทบน้อยที่สุด” นายชัยวาลย์ กล่าว

Advertisement

ด้านนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคธุรกิจจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เหตุผลที่ชาวโคราชติดใจสงสัย รฟท. เจ้าของโครงการ คือ เหตุใดเส้นทางช่วงผ่านจังหวัดขอนแก่น เดิมกำหนดรูปแบบทางรถไฟบนดิน แต่เมื่อมีการแสดงความคิดเห็นคัดค้าน สามารถเปลี่ยนเป็นทางรถไฟยกระดับได้ หากอ้างกระบวนการผ่านประชาพิจารณ์แล้ว ก็ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากหลายโครงการผ่านขั้นตอนนี้ ยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามความเหมาะสม
“ดังนั้นถ้าขอนแก่นไม่ยกระดับ โคราชไม่ยก พวกเราก็ไม่ข้องใจ แต่ขอนแก่นได้ทางรถไฟยกระดับ ขณะที่โคราชเป็นทางรถไฟบนดิน คือ สองมาตรฐานในการกำหนดรูปแบบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image