ย้อนอ่าน เปิดเรื่องจริง “สุนทรภู่” ที่ครูไม่เคยสอน จากข้อมูลอีกด้าน หลักฐานอีกมุม !

เผยแพร่ครั้งแรก มติชนรายวัน 26 มิ.ย.2559

สุนทรภู่ครูฉัน เกิดวันจันทร์ปีม้า
ยี่สิบหกมิถุนา เมื่อเวลา 8 น.

กลอนโบราณอายุกว่าร้อยปี ที่ถูกท่องสืบต่อมา จนมีเวอร์ชั่นใหม่ๆ ที่คล้ายคลึงกันเอาไว้ใช้ใน “วันสุนทรภู่” และก็เป็นดังเช่นทุกปีที่โรงเรียนต่างๆ พากันจัดนิทรรศการ ท่องอาขยาน ประกวดแต่งกลอนเพื่อเชิดชู ทว่า สิ่งที่คนไทยรับรู้และท่องจำกันมาตั้งแต่อยู่ชั้นเรียนนั้น บางประเด็นก็ช่างเป็นข้อมูลเก๊าเก่าที่ยังถูกผลิตซ้ำมานานหลายสิบปี ส่วนบางประเด็นก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่าจริงหรือมั่ว ชัวร์หรือมโน

มาลองปิดแบบเรียนสูตรมาตรฐานเป็นการชั่วคราว แล้วเปิดใจฟังข้อมูลอีกด้านจากเหล่ากูรูกันดูไหม?

Advertisement

สุนทรภู่ไม่ได้มี “อาชีพ” กวี

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นกวีเอก ถึงขนาดได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ พ.ศ.2529 แต่แท้จริงแล้ว สุนทรภู่ไม่ได้มี “อาชีพ” เป็น

กวีอย่างที่เข้าใจกันว่าท่านแต่งกลอนขายเลี้ยงชีพ เพราะในยุคต้นรัตนโกสินทร์ยังไม่มีเทคโนโลยีการพิมพ์ ที่ผลิตหนังสือได้คราวละมากๆ หากแต่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งคัดลอกด้วยมือลงในสมุดข่อยกันแรมเดือน มิหนำซ้ำ คน “รู้หนังสือ” ก็มีแต่พระสงฆ์กับชนชั้นสูงเท่านั้น ส่วนชาวบ้านร้านตลาดยังส่ายหน้าว่า “อ่านไม่ออก”

แล้วจะแต่งกลอนไปขายใคร?

“สุนทรภู่ไม่ได้มีอาชีพเป็นกวี เพราะกวีในยุคนั้นยึดเป็นอาชีพไม่ได้ ที่เราพูดๆ กันว่าสุนทรภู่เป็นกวีนี่เรายกย่องเขาทีหลัง ก่อนหน้านั้นเป็นอาชีพได้ที่ไหน อดตายพอดี” สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับสุนทรภู่ (ไว้นับไม่ถ้วน) กล่าว และเคยประกาศกร้าวว่าจะกล่าวเช่นนี้ต่อไปอีกทุกปี

ถ้าไม่ใช่กวี แล้วท่านทำอะไรเลี้ยงชีพ?

คำถามนี้ ต้องผายมือไปที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เจ้าของผลงานอมตะนิรันดร์กาลอย่าง “ปากไก่และใบเรือ” ที่ว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (การค้าสำเภา) ยุคต้นรัตนโกสินทร์

นิธิ ยกย่องสุนทรภู่เป็น “มหากวีกระฎุมพี” เป็น “อาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว” และนักปราชญ์ในราชสำนักฝ่ายก้าวหน้า ที่ฝักใฝ่อยู่กับเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กับเจ้าฟ้าน้อย (พระนามเดิมของพระปิ่นเกล้าฯ) ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ ทรงเป็นพระโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สรุปง่ายๆ คือ สุนทรภู่มีอาชีพรับราชการ ในตำแหน่ง “อาลักษณ์” เป็นผู้ร่างเอกสารสำคัญของราชสำนัก ถือเป็นขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนักรัชกาลที่ 2 ส่วนงานกวีนิพนธ์เป็นความสามารถส่วนตัว ไม่ใช่อาชีพ!

เข้าใจตรงกันนะ !

เมืองแกลง ไม่ใช่ “บ้านเกิด” สุนทรภู่

ท่องกันมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาว่าสุนทรภู่ครูกวีนั้น เป็นชาว “เมืองแกลง” จังหวัดระยอง โดยอ้าง “นิราศเมืองแกลง” ซึ่งระบุว่าท่านเดินทางไปเยี่ยมบิดาที่นั่น เลยถูกอนุมานว่าเป็นการ “กลับบ้านเกิด” แต่จริงๆ แล้ว ท่านถูกใช้ให้ไปหาบิดาซึ่งไปเมืองแกลงด้วยธุระราชการ ดังความตอนหนึ่งในนิราศเรื่องเดียวกันว่า “ถ้าเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา”

ส่วนบ้านเกิดที่แท้จริง สุนทรภู่ “ปักหมุด” บอกโลเกชั่นไว้อย่างชัดแจ้งว่า “วังหลัง” (ต่างหาก) คือ “บ้านเก่า เหย้าเรือนแพ” ปรากฏใน “โคลงนิราศสุพรรณ” ความตอนนั้น มีอยู่ว่า

วังหลัง ครั้งหนุ่มเหน้า เจ้าเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย ลืมพักตร์ พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า คลาดแคล้วแล้วหนอ

เลี้ยวทางบางกอกน้อย ลอยแล
บ้านเก่าเหย้าเรือนแพ พวกพ้อง
เงียบเหงาเปล่าอกแด ดูแปลก แรกเอย
รำลึกนึกรักร้อง เรียกน้องในใจ

วังหลัง อยู่แถวปากคลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี ทุกวันนี้คือที่ตั้งของโรงพยาบาลศิริราช บริเวณอาคารปิยมหาราชการุณย์ แถบสถานีรถไฟธนบุรีหลังเก่า เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

อีกหนึ่งหลักฐาน ปรากฏในหนังสือ “สยามประเภท” ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่อ้างว่า เมื่อ พ.ศ.2447 ตนได้พบกับ “นายพัด” บุตรชายของสุนทรภู่ ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 86 ปี

นายพัดเล่าว่า “ขุนสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นบุตรขุนศรีสังหาญ (พลับ) บ้านมีอยู่หลังป้อมวังหลัง เป็นสเตชั่นรถไฟสายเพชรบุรี”

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ซึ่งใช้พื้นที่สถานีรถไฟธนบุรีเก่า มีนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับสุนทรภู่โดยประกาศให้โลกรู้แล้วว่าท่านเกิดในย่านดังกล่าว และเป็นที่น่ายินดีว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ครูภาษาไทยใจกว้างในหลายๆ โรงเรียนได้เริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยใช้ข้อมูลชุดนี้ในการสอนเด็กๆ กันบ้างแล้ว

อาภัพ ยาจก ตกยาก
ความลำบากที่สุนทรภู่ “ไม่เคยสัมผัส”

ส่วนหนึ่งของข้อมูลจาก “วิกิพีเดีย” สารานุกรมเสรี ที่จะถูกเชื่อและ “ลอก” ต่อๆ กันไป คือ สุนทรภู่เคย “ตกยาก” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่มีมานาน โดยปราศจากหลักฐานสนับสนุน เพราะจริงๆ แล้วชีวิตของท่านเข้าขั้น “ผู้ดีบางกอก” เนื่องจากมารดาเป็น “นางนม” ของ “พระองค์เจ้าจงกล” พระธิดาในกรมพระราชวังหลัง มีศักดิ์เกี่ยวดองเป็นพระญาติผู้ใหญ่ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) พระเชษฐภคินี (พี่สาวองค์โต) ในรัชกาลที่ 1 ฝ่ายบิดาก็เป็นถึงทหารรับใช้ใกล้ชิดกรมพระราชวังหลัง แถมมีเครือญาติเป็นตระกูลพราหมณ์เมืองเพชรบุรี ตามที่ท่านรจนาไว้ในนิราศเมืองเพชร ว่า

“เป็นถิ่นฐานบ้านพรามหณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา เทวฐานสถิตย์อิศวรา เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ”

ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ เจ้าของ “มิวเซียมเพชรบุรี” และผู้เรียบเรียงหนังสือ “พราหมณ์สมอพลือ” บอกว่า เสาชิงช้าที่ว่านี้อยู่ที่วัดเพชรพลี ในตัวเมืองเพชรบุรี มีภาพถ่ายเก่าเป็นพยานชี้ชัดอยู่ อีกทั้งคนเฒ่าคนแก่ยังเล่าว่า ทันได้เห็นพราหมณ์โล้ชิงช้าในบริเวณดังกล่าวอีกด้วย

นอกจากนี้ ตลอดชั่วชีวิตของสุนทรภู่ ยังได้รับการดูแลจากเจ้านาย ไม่เคยต้องตกระกำลำบาก แม้ในช่วงบวชเป็นภิกษุนานถึง 18 พรรษา ก็อยู่ใน “วัดหลวง” อย่างวัดเทพธิดาราม โดยมีกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้อุปถัมภ์

ในบั้นปลาย ยังได้เป็นอาลักษณ์ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2398 สิริอายุได้ 69 ปี โดยมีชีวิต “ดี๊ดี” ตราบชั่วอายุขัย  ไม่ได้รันทดแต่อย่างใด!

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง (ภาพโดย ปานตะวัน รัฐสีมา)
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง (ภาพโดย ปานตะวัน รัฐสีมา)

สุนทรภู่ “ขี้เมา”
จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือ “มโน”

“ไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน”

บทกลอนสุดฮอตจาก “นิราศภูเขาทอง” ของสุนทรภู่ที่ชวนให้ “มโน” ไปเองว่ากวีเอกผู้นี้ก็คงตั้งวงเป็นประจำทุกค่ำคืน แต่จริงๆ แล้ว ยังไม่มีหลักฐานมัดตัวสุนทรภู่ในข้อกล่าวหานี้เลย

จุดเริ่มต้นของความเชื่อที่ว่าท่านเป็นกวีขี้เมานั้นสาเหตุหลักไม่ได้มาจากเนื้อหาในบทกลอนหากแต่มาจากข้อเขียนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “ประวัติสุนทรภู่”

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.รามคำแหง บอกว่า เรื่องสุนทรภู่เป็นคนขี้เมา ไม่มีการจดบันทึกเป็นกิจจะลักษณะ หรือแม้แต่คำบอกเล่าก็ไม่เคยพบ นอกจากที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างว่าสุนทรภู่เป็นอาลักษณ์ขี้เมาเท่านั้น และแม้ว่าในนิราศภูเขาทองจะกล่าวถึงเหล้า แต่ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าท่านเป็นคนขี้เมา อีกทั้งผลงานของสุนทรภู่เฉพาะที่พบแล้วในปัจจุบันก็มีจำนวนมาก หากขี้เมาจะเอาเวลาที่ไหนไปเขียน

“สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความรู้ประเภทหนอนหนังสือและเปิดใจเรียนรู้ทันโลกพูดง่ายว่าทันสมัยทันเหตุการณ์ อีกทั้งยังมีจินตนาการสูงถ้าท่านเมาเช้าเมาเย็นไม่นับดื่มนิดดื่มหน่อยพอเป็นยา รับรองว่าจะไม่มีเรื่องพระอภัยมณี แต่จะเป็นไอ้หนุ่มมัดเมา” รุ่งโรจน์กล่าวอย่างติดตลก

 

อย่างไรก็ตาม แฟนานุแฟนหนังจีนกำลังภายในคงจะพากันทุบโต๊ะในโรงเตี๊ยม แล้วตั้งคำถามกลับว่า หากใช้ตรรกะคนขี้เมาสร้างงานดีๆ (และเยอะๆ) ไม่ได้ แล้วนักประพันธ์ชื่อก้องโลกที่มีหลักฐานชัดเจนว่ามือไม่ห่างจากจอกสุรา อย่าง “โกวเล้ง” ล่ะ จะอธิบายอย่างไร?

เอาเป็นว่า แม้ไม่มีข้อสรุปชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ก็ถือเป็นการเปิดประเด็นให้ถกเถียงในวงวิชาการ และอาจรวมถึงวงสุราอีกด้วย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเชื่อที่ (เกือบ) ถูกทำให้กลายเป็นข้อเท็จจริง แล้ววันสุนทรภู่ปีนี้ จะยังท่องจำแบบผิดๆ หรือลองขบคิดเพื่อหาคำตอบ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image