ดวงตาเทียมสามมิติ เติมเต็มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

ตาเทียม 3 มิติ

วิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าทำให้ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เพียงปัญหาความเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บยังรวมถึงการสูญเสียอวัยวะ

ปัจจุบันผู้ป่วยจำนวนมากมีความผิดปกติบริเวณใบหน้าและขากรรไกรที่เกิดจากอุบัติเหตุ พันธุกรรม หรือโรคเนื้องอกชนิดต่างๆ รวมทั้งมะเร็ง โดยเฉพาะการสูญเสียดวงตา

หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นศูนย์การบูรณะฟื้นฟูผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะบนใบหน้า และตาเทียมเพื่อทดแทนอวัยวะเทียมบนใบหน้า ที่ได้รับการผ่าตัดและคงสภาพขนาดดวงตาที่สูญเสียและลดการหดตัวของเบ้าตาพิการ ล่าสุด มีการจัดแสดงนิทรรศการทางการแพทย์ การสาธารณสุข และสุขภาวะ เพื่อขับเคลื่อนประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0

หนึ่งในผลงานที่ถือเป็นไฮไลต์ของงานคือ “ดวงตาเทียม 3 มิติ” (Three Dimensional Ocular Prosthesis) ผลงาน ผู้ช่วย ศาสตราจารย์ทันตแพทย์ หม่อมหลวงธีรธวัช ศรีธวัช ทันตแพทย์หัวหน้าหน่วยฯ

Advertisement

“ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าฯ ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสในสังคม โดยเฉพาะยามเมื่อผู้ป่วยได้รับความพิการที่ใบหน้า หรืออวัยวะส่วนอื่นๆ แล้วไม่สามารถออกจากบ้านไปทำงานได้อย่างปกติ ทำให้เสียความเชื่อมั่นและขาดโอกาสทางสังคม หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าฯ ได้ทำการรักษาผู้ป่วยโดยการประดิษฐ์อวัยวะเทียมให้ผู้ป่วยเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไป อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสทางสังคมและเติมเต็มด้านจิตใจให้มีความหวังขึ้นมา โดยมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาผู้ป่วยอย่างสุดกำลัง และยังได้มีการวิจัยวิธีการรักษาใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เพียงเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวคือช่วยเหลือให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับคนปกติในสังคมได้อีกครั้ง”

ผศ.ทพ.ม.ล. ธีรธวัช ศรีธวัช

ผศ.ทพ.ม.ล.ธีรธวัชบอก และอธิบายเพิ่มเติมว่า ดวงตาเทียม 3 มิติมีความแตกต่างจากดวงตาเทียมทั่วไป กล่าวคือ ดวงตาเทียมทั่วไปจะเป็น 2 มิติซึ่งเหมือนภาพวาด แต่ดวงตาเทียม 3 มิติจะมีความลึกซึ้งเมื่อมองในมุมต่างๆ จะดูเหมือนดวงตาจริง

โดยจักษุแพทย์และทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการประดิษฐ์ใบหน้าและขากรรไกร จะร่วมรักษาในการใส่ตาเทียมให้ผู้ป่วย หากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดดวงตา หลังการผ่าตัดจะได้รับการใส่ตาเทียมชั่วคราวก่อน เพื่อให้บาดแผลจากการผ่าตัดหายดีก่อน ตาเทียมชั่วคราวจะมีความใสเพื่อให้แพทย์สามารถตรวจเนื้อเยื่อด้านในได้

Advertisement

ทั้งนี้ “ตาเทียมชั่วคราว” จะมีทั้งชนิดสำเร็จรูปที่มีขนาดที่ผลิตเตรียมไว้แล้วหรือในกรณีที่ขนาดที่ตาเทียมชั่วคราวไม่เหมาะสม ทันตแพทย์จะพิมพ์เนื้อเยื่อด้านในเพื่อทำตาเทียมเพื่อให้มีความแนบต่อเนื้อ เยื่อดังกล่าว หลังจากบาดแผลจากการผ่าตัดหายดี ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการทำตาเทียมถาวรให้พอดีกับความพิการ

” ‘ตาเทียมถาวร’ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับตาเทียมชั่วคราว แตกต่างกันที่ความสวยงาม ตาเทียมถาวรจะมีสี และตาดำ และขนาดที่คล้ายกับตาด้านปกติ เมื่อผู้ป่วยได้สวมใส่แล้วจะทำให้เกิดความสวยงามดูมีความสมดุล ขั้นตอนในการทำตาเทียมถาวรเฉพาะบุคคล จะมีขั้นตอนการผลิตหลายขั้นตอน ผู้ป่วยจะต้องมาพบทันตแพทย์เป็นเวลา 3-4 ครั้ง จึงจะได้รับตาเทียมถาวรไป หลังจากนั้นทันตแพทย์จะนัดทุกๆ 6 เดือนเพื่อมาตรวจและบำรุงรักษาตาเทียม เพื่อให้มีสภาพดีตลอดไป”

คนไข้ใส่ตาเทียม

สำหรับผู้ที่สนใจจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสเหล่านี้ให้กลับมาใช้ชีวิตเช่นคนปกติ สามารถบริจาคโดยแสดงความประสงค์จะสนับสนุนทางด้านต่างๆ ของกองทุน อาทิ ด้านจัดสรรหาวัสดุเครื่องมือ ด้านช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชนบท และด้านการวิจัย โดยมีช่องทางบริจาค ดังนี้

1.เช็คสั่งจ่าย “มูลนิธิคณะทันตแพทย ศาสตร์มหิดล” โดยส่งเช็คมาที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ หม่อมหลวงธีรธวัช ศรีธวัช กองทุนโครงการ “หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกร” คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เลขที่ 6 ถนนโยธี แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

2.โอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี ชื่อบัญชี “มูลนิธิคณะทันตแพทยศาสตร์มหิดล” เลขที่บัญชี 026-2-13685-9

3.บริจาคโดยตรงที่ หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาคาร 5 ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา ชั้น 9 โทร 0-2200-7735-7 โทรสาร 0-2200-7735

กรณีโอนเงิน กรุณาส่งโทรสาร หรือสำเนาใบโอนเงิน พร้อมแจ้งชื่อที่ประสงค์ให้ออกใบเสร็จรับเงิน มายังหน่วยประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกร เพื่อหน่วยฯจะจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้ท่านต่อไป โดยท่านสามารถระบุชื่อบุคคลที่ต้องการนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยแนบมากับสำเนาใบโอนเงิน หรือเช็ค มูลนิธิคณะทันตแพทยศาสตร์มหิดล เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ 597 ของประกาศกระทรวงการคลัง ใบเสร็จรับเงินสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image