ก้าวต่อไป ‘ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน’ กับภารกิจครั้งใหม่ ผนึกกำลัง สืบทอดพระศาสนา

คณะธรรมยาตราเดินข้ามสะพานแม่น้ำเซกง อ.สตึงเตรง

ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช หลังจากมีการสังคายนาครั้งที่ 3 พระเจ้าอโศกได้ส่งสมณทูต 9 สาย ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยสายที่ 8 พระโสณะ และพระอุตตระ เดินทางเข้าสู่สุวรรณภูมิ

ปัจจุบันดินแดนที่ได้รับการอ้างว่าคือ “สุวรรณภูมิ” ปรากฏในหลายประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง

หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย โดยปรากฏหลักฐานที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังมีที่ประเทศสหภาพพม่า ที่เมืองสะเทิม

แต่ทว่านั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญมากไปกว่าการที่ประเทศในแถบลุ่มน้ำโขงทั้ง 5 ประเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย มี “พ่อ” องค์เดียวกันคือ พระพุทธเจ้า

Advertisement

สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 มองเห็นความสำคัญในจุดนี้ว่า การเผยแผ่การสืบทอดพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีพุทธศาสนิกชนในอีกหลายประเทศที่มีความพร้อมที่จะสืบทอดเผยแผ่พระพุทธศาสนาเช่นกัน

จึงเป็นที่มาของ “โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง” เพื่อเชื่อมโยงหลักความคิด ความสามัคคี โดยใช้หลักคำสอนของพระพุทธองค์เป็นแกนกลาง

คณะธรรมยาตราเริ่มต้นเดินธรรมยาตราที่ จ.อุบลราชธานี

พลังแห่งธรรมะ 5 แผ่นดิน

แม้ว่าการจัดธรรมยาตราในครั้งนี้จะใช้เวลาเพียงแค่ 15 วัน แต่ได้ผลออกมาก็เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ไม่มากก็น้อย

Advertisement

ยกตัวอย่างเช่น ที่ประเทศกัมพูชา ในช่วงที่คณะธรรมยาตราข้ามแดนที่ด่านหนองนกเขียน ของ สปป.ลาว ไปยังด่านตรอเปียงเกรียล เพื่อเดินทางต่อไปยัง จ.สตรึงเตรง ของประเทศกัมพูชา ระหว่างทางที่ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำเซกง ความยาว 1,057 เมตร มีประชาชนจำนวนหลายพันคนมาตั้งแถวรอต้อนรับ เป็นภาพที่งดงามและสร้างความประทับใจเป็นอย่างมากให้กับคณะ

แม้ว่าระยะทางจากสะพานข้ามแม่น้ำเซกงที่ทอดยาวไปยังวัดโพธิญาณจะมีระยะทางถึง 6 กม. แต่คณะธรรมยาตราก็เดินเท้าไปถึงวัดด้วยใบหน้าที่เปี่ยมสุข ด้วยกำลังใจจากประชาชนสองข้างทาง ทำให้ถึงจุดหมายได้อย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด

พระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทฺโธ) หัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล สักการะ พระมหาผ่อง สะมาเลิก ประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว

นอกจากนี้ ที่ประเทศเวียดนาม การมาเยือนของคณะธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ประชาชนชาวเวียดนามโดยปกติจะมีการใส่บาตรเช่นวิถีพุทธศาสนิกชนทั่วไป แต่ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการทำบุญใส่บาตรกันที่ลานวัดของแต่ละวัดเท่านั้น ครั้งนี้คณะธรรมยาตราที่ได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษให้มีการบิณฑบาตกลางเมืองฮาเตียน จ.เกียนซาง เป็นครั้งแรก มีประชาชนออกมาร่วมทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ประเทศเมียนมา คณะธรรมยาตราเดินทางมาจนถึงประเทศสุดท้าย ได้พบกับความประทับใจอย่างที่สุดกับการต้อนรับแสนจะอบอุ่นของพุทธศาสนิกชนที่นี่ ทางการของเมียนมาได้ประกาศให้วันที่คณะเดินทางมาถึงเป็นวันหยุด เพื่อทุกคนได้มีโอกาสมาร่วมขบวนแห่งธรรมจาก 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง จึงมีพุทธศาสนิกชาวพม่ามารอต้อนรับจากกลางสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาหลายพันคน พร้อมกับขบวนแห่ระบำรำฟ้อน อีกทั้งวงดุริยางค์ มีการตีฆ้อง ปล่อยลูกโป่งสัญลักษณ์ธรรมยาตรา

ที่ประเทศเมียนมา เรายังพบหลักฐานเรื่องราวของพระโสณะ พระอุตตระที่เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่เมืองสะเทิม เป็นศิลาจารึกที่วัดเกลาตะมี และยังมีรูปปั้นของพระโสณะและพระอุตตระที่หน้าเจดีย์วกุลตินาโหย่ง

ศิลาจารึกเป็นหลักฐานว่าพระโสณะและพระอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ประเทศพม่า

พุทธศาสนิกไม่ใช่แค่จุดธูป 3 ดอก

พระเมธีวรญาณ (สายเพชร วชิรเวที พธ.ม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส, เจ้าคณะ 8 ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เล่าว่า ตั้งแต่การเตรียมการก่อนจะออกเดินทางไม่มั่นใจว่างานธรรมยาตราจะสำเร็จลุล่วงได้สักเพียงไร เพราะทุกขั้นตอนต้องมาจากความร่วมมือของหลายฝ่าย กลุ่มภูมิภาคอาเซียน และทางฝ่ายบ้านเมืองของแต่ละประเทศด้วย โอกาสที่จะสำเร็จคงเป็นไปได้ยาก

ถามว่างานครั้งนี้ถือว่าได้ผลหรือไม่ พระเมธีวรญาณบอกว่า ถึงจะไม่ได้ผลเต็มร้อย แต่ก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมขึ้น และอย่างน้อยทำให้คนได้รู้ว่าพุทธศาสนิกชนในแต่ละประเทศได้สร้างความร่วมมือกันในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการออกธรรมยาตราครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่เทียบเท่าพระโสณะ พระอุตตระ แต่เป็นการเจริญรอยตามท่านทั้งสอง

สำหรับพระสงฆ์ที่ร่วมไปธรรมยาตราครั้งนี้ ทางชมรมโพธิคยาวิชชาลัย 980 คัดเลือกมาจากพระสงฆ์ที่เป็นพระธรรมทูตจากทุกรุ่นที่ทางชมรมส่งไปศึกษาพระพุทธศาสนาเชิงลึกที่ประเทศอินเดีย ทั้งหมด 45 รูป อาตมาเดินทางร่วมกับธรรมยาตราในครั้งนี้ รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งและได้เห็นภาพคณะสงฆ์และประชาชนออกมาต้อนรับกันจำนวนมากขนาดนี้

พระอาจารย์ใหญ่ มหาบุญมา สีมาพม ประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ร่วมกับคณะธรรมยาตราที่วัดพูส่าเหล้า สปป.ลาว

นายชัช ชลวร ประธานสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เล่าว่า การจัดงานธรรมยาตราครั้งนี้ได้ผลลัพธ์ดีมาก สิ่งแรกก็คือธรรมยาตราครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นการรวมตัวกันโดยไม่แบ่งแยกประเทศ ทุกคนอยู่ภายใต้พระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน ธรรมะของท่านได้แพร่หลายไปทั่วโลกแล้ว

ธรรมยาตรามีตั้งแต่สมัยของพระพุทธองค์แล้ว คือการออกโปรดสัตว์สอนธรรมะให้กับผู้คน การจัดธรรมยาตรามีพระสงฆ์ไปเผยแผ่พระธรรมครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นการรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมเก่าที่พระพุทธองค์เคยทำมา

“ผมเคยบอกกับคุณสุภชัย เลขาธิการว่าไม่ใช่ทำง่ายๆ สำหรับธรรมยาตรา แต่ก็เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เจริญรอยตามสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป

ขอชมเชยว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้ง 5 ประเทศที่ได้ธรรมยาตราเข้าไป อย่างน้อยได้กระตุ้นในเรื่องพระพุทธศาสนา และจะได้ทราบว่าศาสนาพุทธไม่ใช่แค่ยกมือไหว้พระ จุดธูป 3 ดอก”

ฯพณฯท่าน ฮอนัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ฯพณฯท่าน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยพบกันวันเปิดธรรมยาตราที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

ธรรมยาตรา เส้นทางวัฒนธรรม เส้นทางท่องเที่ยว

ด้าน สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ระบุถึงโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง ว่า งานนี้สำเร็จหรือไม่สำเร็จตอบยาก มองว่าสิ่งที่เราได้คือศรัทธา เราเห็นความร่วมมือร่วมใจ ได้เจอเพื่อนใหม่จำนวนมาก เหมือนเรารู้จักกันมานาน เป็นญาติธรรมกัน

“พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราอยู่ในศีล มีความจริงใจให้กัน เดินแค่ 7 ก้าว ก็เป็นเพื่อนกันได้ แค่เล่าว่าจะมีการจัดโครงการนี้ก็ได้รับการติดต่อประสานงานเข้ามาแล้ว แต่กว่าจะลุล่วงก็ใช้เวลาพอสมควร ต้องได้รับการอนุญาตจากหลายประเทศที่คณะธรรมยาตราผ่าน ชมรมโพธิคยาเองก็อยู่ที่ประเทศอินเดีย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกสำหรับประเทศ สปป.ลาวกับเวียดนาม รวมทั้งสหภาพพม่าและกัมพูชาที่มีจัดธรรมยาตรา จึงต้องอธิบายในรายละเอียด”

ส่วนเรื่องจะมีการจัดต่อเนื่องเพื่อต่อยอด สุภชัยบอกว่า ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุม ส่วนตัวเองจัดทุกปีไม่ไหว เรายังต้องทำงาน และงานธรรมยาตราเป็นงานที่ต้องใช้เวลามาก ก็คิดว่าจะเป็นปีเว้นปี คือจัดปีนี้ เว้นปีหน้าไปจัดอีกปีหนึ่ง

สุภชัยบอกอีกว่า สำหรับเส้นทางสำหรับธรรมยาตราครั้งต่อไปที่คิดเอาไว้โดยส่วนตัวอยากจะผ่านเข้าเมืองหลวงเก่าของแต่ละประเทศ จะได้สัมผัสวัฒนธรรม ประเพณี ซึ่งส่วนมากจะมาจากหลักศาสนาเป็นหลัก อย่างเมืองเว้ ของเวียดนาม ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าในอดีต ก็มองอยู่ อาจจะเริ่มจากทางเขตของแม่สาย โดยอาจจะคุยกับท่านคินฉ่วย อาจจะตั้งหลักที่เริ่มจากเขตพื้นที่ของไทยใหญ่ ลงมาทาง อ.แม่สาย จ.เชียงราย มาตามแม่น้ำโขง ผ่านเลย หนองคาย สกลนคร เข้านครพนม มุกดาหาร เพื่อข้ามไปสะหวันนะเขต ซึ่งจากเส้นทางนี้ก็จะเข้าเมืองเว้ ของเวียดนามได้

หรืออาจจะล่องลงใต้ จากเมืองเว้ ของเวียดนาม กวางน้ำ ไปเข้ารัตนคีรี ของประเทศกัมพูชา ใช้เส้นทางที่เป็นพื้นที่ห่างไกลมาก เข้าสตรึงเตรง เข้าพระวิหาร ก็คิดไว้ก่อน เส้นทางของเวียดนามแม้ว่าจะไกลแต่ก็น่าจะทำได้

อีกเส้นทางหนึ่งคือเข้าหลวงพระบาง ไปเดียนเบียนฟู แต่เส้นทางจะยาวมาก เป็นป่าทึบ ใช้เวลา 2-3 วัน ลำบาก แต่เส้นทางของเมืองเว้ ประเทศเวียดนามจะง่ายกว่าและมีด่านถาวรอยู่

เพราะเส้นทางธรรมยาตราเหมือนการไปบุกเบิกเส้นทางทางวัฒนธรรม เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวไปในตัวด้วย

คณะธรรมยาตราบิณฑบาตที่ฮาเตียน ประเทศเวียดนาม

สิ่งที่ได้และสิ่งที่คาดหวัง

สุภชัยตอบคำถามถึงสิ่งที่คาดหวังกับการจัดธรรมยาตรา 5 แผ่นดินที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปว่า “ต้องบอกว่าเป็นการปลูกจิตสำนึก เพราะไม่มีใครทำมาก่อน และภาพที่ออกไป เชื่อว่าอาจจะไม่มาก แต่เป็นการจุดประกาย ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติธรรมกัน ในฐานะที่นับถือศาสนาเดียวกันให้มีความรักกัน มีความเข้าใจกัน”

“ระยะเวลา 15 วันของคณะธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน กับการเดินทางผ่านเข้าไปยังประเทศต่างๆ ผมว่าน้อยมาก มีความรู้สึกว่าในแผ่นดินสุวรรณภูมิเราเป็นพี่น้องกัน เราต้องช่วยกันส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้สืบทอดไปอีก 5,000 ปี อยากฝันว่าคนรุ่นหลังจะสืบทอดศาสนาต่อไป

“ที่ผ่านมาชมรมจัดเสวนาก็อยู่แต่ในห้องประชุม แต่ครั้งนี้เราลงพื้นที่ได้เห็นพลังของทุกคน ทำให้ฝันเป็นจริงได้”

สุภชัยระบุต่อว่า ส่วนภาคีที่จะมาเข้าร่วมกับเราในครั้งต่อไปนั้น เราไม่ปิดกั้น เพราะงานนี้เป็นงานบุญ จะเป็นใครก็ได้ ชาติไหนก็ได้ แต่ต้องมีแนวคิดคล้ายๆ กับเรา ไม่คิดหาผลประโยชน์ แต่เพื่อจรรโลงและปกป้องพระพุทธศาสนา ผมเชื่อว่าคนที่เข้าใจในหลักธรรมะอยากจะมาเข้าร่วมสานต่อความคิดนี้ ซึ่งก็ไม่มีปัญหา

ขณะที่ เกษม นวลจันทร์ รองเลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 สะท้อนสิ่งที่เห็นจากการได้เดินทางไปสำรวจก่อนหน้าและได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะธรรมยาตราด้วยว่า ความคาดหวังต่างกันมาก จากที่คิดว่าจะมีประชาชนจะมาเข้าร่วมไม่มากเท่าไร กลับมีผู้ใหญ่ในแต่ละประเทศออกมาต้อนรับคณะของพวกเรา นับว่าเกินความคาดหมายจริงๆ

คณะธรรมยาตรา ที่พระธาตุอินแขวน ประเทศเมียนมา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image