เปิดปมร้อน! งบส่งเสริมสุขภาพใครได้ใครเสีย เอ็นจีโอลั่นแก้’กม.บัตรทอง’ไม่ใช่เพื่อพวกพ้อง

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กรรมาธิการสาธารณสุข(กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงประเด็นการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ว่า การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 นอกจากประเด็นต่างๆ ที่คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ฉบับ..) พ.ศ…. ชุด รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานเสนอไว้แล้ว หรือแม้แต่กรณีที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นต่างไว้ 5 ประเด็น มองว่าแต่ละประเด็นต้องหาเหตุผลมารองรับว่า อะไรควรแก้ไข และอะไรที่แม้จะเห็นต่าง แต่หากจำเป็นและมีเหตุผล ก็ควรเดินหน้า เรื่องนี้จึงต้องจับตาคณะกรรมการว่าจะทำงานอย่างไรต่อ

“ประเด็นที่เสนอให้รวมระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม โดยให้มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขเดียวสำหรับทุกคน เรื่องนี้ต้องพิจารณาดีๆ หากจะให้เหมือนกันหมดก็ต้องพิจารณาว่า จริงๆ แล้วข้าราชการก็มีส่วนร่วมสมทบด้วยการรับเงินเดือนน้อย และต้องประพฤติตนภายใต้ระเบียบของข้าราชการ และผู้ประกันตนต้องจ่ายสมทบประกันสังคมเป็นรายเดือน ดังนั้น ประชาชนสิทธิบัตรทองก็ต้องจ่ายด้วยหรือไม่ ซึ่งจะให้รัฐจัดบริการฟรีและดีด้วย เราก็ต้องร่วมกันจ่ายภาษีด้วยหรือไม่ เราต้องคิดด้วยว่ารัฐบาลจะเอาเงินจากไหน” พญ.เชิดชูกล่าว

พญ.เชิดชูกล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการจัดซื้อยาของ สปสช.ที่มีเงินส่งเสริมกิจกรรมภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) นั้น มองว่า สปสช.ไม่ควรทำหน้าที่จัดซื้อยา เพราะไม่ใช่หน้าที่ เห็นได้จากประเด็นทักท้วงของจริงในการจัดซื้อยานั้นมาจากกรณีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ก็ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ไม่สามารถทำได้ ซึ่งหน้าที่ตรงนี้ควรเป็นกระทรวงสาธารณสุขด้วยซ้ำไป เพราะการซื้อยา หรือน้ำยาล้างไต และหลายๆ อย่างควรสอบถามผู้ใช้ด้วย เนื่องจากผู้ใช้จะทราบดีว่ายาชนิดไหนเหมาะสมกับการรักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ส่วนประเด็นที่เอ็นจีโอออกมาพูดให้รัฐบาลตรวจสอบนั้น แม้เรื่องจะเงียบไป แต่ก็มองว่ารัฐบาลไม่ควรนิ่งเฉย ควรตรวจสอบให้หมด ไม่ใช่แค่งบส่งเสริมกิจกรรมภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม แต่ควรตรวจสอบงบทั้งหมด

“อย่างงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระดับท้องถิ่น ก็ควรตรวจสอบด้วยว่ามีการใช้จ่ายอย่างไร งบไปที่ไหน อย่างไรด้วย รวมทั้งงบอื่นๆ ของ สปสช.เช่นกัน ที่สำคัญการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค มองว่าควรเป็นหน้าที่ของกรมอนามัย หรือกรมที่เกี่ยวข้องกระทรวงสาธารณสุข หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งได้งบจำนวนมากมาทำหน้าที่จุดนี้ แล้วจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนทำไม” พญ.เชิดชูกล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ที่ออกมาพูดเช่นนี้ เพราะทางกลุ่มเอ็นจีโออาจดำเนินคดีได้ พญ.เชิดชูกล่าวว่า ไม่ได้พาดพิงใคร และการพูดแต่ละอย่างอ้างอิง คตร. เนื่องจากมีการท้วงติงมาก่อนหน้านี้ มีหนังสือยืนยันชัดเจน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าที่ออกมาคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง แต่เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อย่างประเด็นที่พวกตนค้านเรื่องคำนิยาม “สถานบริการ” เนื่องจาก “หลักการของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการบริการรักษาอย่างมีมาตรฐานแล้ว ยังมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการร่วมจัดบริการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ประชาสังคม องค์กรสาธารณะ รวมทั้งองค์กรท้องถิ่น” ซึ่งขอให้เพิ่มนิยาม “องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร” ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เพราะเอื้อพวกพ้อง แต่เป็นเพราะจากประสบการณ์การทำงานทำให้ทราบว่า การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจะทำแค่ในโรงพยาบาลไม่ได้

นายนิมิตร์กล่าวอีกว่า ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ เดิมโครงการเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี เคยได้รับงบประมาณจากโกลบอลฟันด์ จนกระทั่งช่วงปี 2553-2554 งบจากโกลบอลฟันด์สิ้นสุด ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มองว่าควรต้องมีการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ทำงานเชิงรุกควบคู่กับการให้ยาต้านเอชไอวี ด้วยการดึงกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้ามาร่วมกันทำงานกับ รพ.ในรูปแบบ “ศูนย์องค์รวม” ที่สามารถติดตาม ดูแล ให้ผู้ติดเชื้อสามารถกินยาได้อย่างต่อเนื่อง ลดปัญหาการดื้อยา ส่งผลต่อการลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบร่วมกันระหว่าง ผอ.รพ.และกรมควบคุมโรค(คร.) โดย สปสช.จะให้งบราว 20 ล้านบาทผ่านศูนย์องค์รวมประมาณแห่งละ 4-5 หมื่นบาท โดยที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีทำงานกว่า 300 กลุ่ม ปัญหา คือ คตร.ตรวจสอบและทักท้วงว่า สปสช.ไม่สามารถใช้งบบัตรทองแก่องค์กร หรือหน่วยงานอื่นได้ที่ไม่ใช่หน่วยบริการหรือ รพ. ทำให้ต้องโอนงบส่วนนี้เข้าไปยัง รพ.แทน

Advertisement

“ประเด็นที่น่าห่วงคือ เมื่อมีการโอนเงินไปยัง รพ. ในเรื่องงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ทำให้เกิดปัญหาว่า รพ.ไม่ได้ใช้งบก้อนนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากแค่ภาระงานในการรักษาก็เต็มมือแล้ว การจะส่งคนมาทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพยิ่งเป็นไปได้น้อย ยกตัวอย่าง งบป้องกันเอดส์กว่า 200 ล้านบาทที่ให้ผ่าน รพ.เป็นคนทำ ซึ่งพบว่าเมื่อ รพ.รับงบก้อนนี้ไปก็ไม่มีความพร้อมในการทำ อย่าง 1.รพ.รับงบไปก็ให้บุคลากรทำกันเอง ไม่ก่อเกิดความร่วมมือ 2.รพ.บางแห่งให้กลุ่มผู้ป่วยทำ แต่เป็นลักษณะว่าจ้างรายบุคคลเพียง 1-2 คน วันละ 80-100 บาท กลายเป็นลูกจ้าง รพ. ไม่เกิดการมีส่วนร่วม และ 3.รพ.บางแห่งได้รับงบมา 5 หมื่นบาททำศูนย์องค์รวม แต่ให้กลุ่มผู้ติดเชื้อ 2 หมื่นบาท แต่ รพ.นำไปรวมไว้ในเงินบำรุง 3 หมื่นบาท เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาจริงๆ หรือ รพ.บางแห่งติดหนี้ สปสช. อย่างได้รับงบมาแล้วแต่ทำผลงานไม่ตามเป้า ไม่มีเงินคืน พอครั้งหน้า สปสช.ก็ไม่ให้งบเพิ่ม เพราะหักเงินที่ค้างตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้นงบในส่วนศูนย์องค์รวมก็หายไป โดย สปสช.บอกว่าให้ รพ.จัดการเพิ่มส่วนนี้เอง ซึ่งที่ผ่านมา รพ.ไม่มีการเพิ่ม จากประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เราไม่ไว้ใจ รพ. จึงต้องมีการคัดค้านขึ้น” นายนิมิตร์กล่าว และว่า ดังนั้น หากจะตรวจสอบเอ็นจีโอ ตรวจได้เลย แต่ต้องตรวจสอบ รพ.ที่รับงบส่งเสริมสุขภาพไปด้วยว่ามีการใช้อะไรบ้าง และไปอยู่จุดไหน จะตรวจสอบทั้งทีต้องตรวจให้หมด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image