ทอท.เปิดความจริงของคู่ค้า’กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์’ คืนรายได้รัฐเกินเป้า-มาตรฐานประมูลสุวรรณภูมิใหม่ปี’61

กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ทุ่มเทการลงทุนเดินหน้าบุกเบิกพัฒนาแบรนด์ “ร้านค้าปลอดภาษีและอากร” (Duty Free) ควบคู่การยกระดับสินค้า “ไทยแลนด์แบรนด์” ต่อเนื่องมาเกือบ 3 ทศวรรษ โดยได้ลงแข่งขันร่วมประมูลเสรีกระทั่งเป็นผู้ชนะสิทธิการประมูลพื้นที่ตามสนามบินที่อยู่ในความดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) “ทอท.” ทั้งในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต หาดใหญ่

“นายนิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) “ทอท.” เปิดเผยว่า ภายในเวลา 6 เดือนนี้ช่วงปลายปี 2560 หรือราวต้นปี 2561 จะเข้าสู่ฤดูการเปิดประมูลเสรีพื้นที่สัมปทานร้านค้าปลอดอากร ใน “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” หลังจากดำเนินการผ่านมากว่า 12 ปี ล่าสุดได้รับอนุมัติให้ใช้แผนแม่บท 10 ปีหน้า พัฒนาการลงทุนใหม่ในท่าอากาศยานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง เริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป ในจังหวะเดียวกันกับใกล้ครบรอบการเปิดประมูลสัมปทานด้วย

ตลอดการให้สัมปทานพื้นที่จำหน่ายสินค้าดิวตี้ฟรี พื้นที่เชิงพาณิชย์ (commercial area) ในอดีตมีตัวแปรรอบด้านเป็นปัจจัยต่างกันแต่ละสถานการณ์บ้านเมือง ทว่า ทุกฝ่ายพยายามใช้ระเบียบ หลักกติกา มาตรฐาน เข้ามาคลี่คลายคำถามและข้อสงสัยจากกระแสสังคม ด้วยข้อมูลเอกสารอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งแต่ละสมัยผู้บริหารเน้นวิธีปฏิบัติให้สอดคล้องตามระเบียบความถูกต้องในฐานะ ทอท.คือ “รัฐพาณิชย์” เป็นทั้งรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ และบริษัทจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบการลงทุนและการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ถือหุ้นร่วมทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคกัน

Advertisement

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ยืนยันว่า ตลอดสัมปทานสัญญาให้เช่าพื้นที่ประกอบกิจการร้านค้าดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และท่าอากาศยานอื่นๆ นั้น “กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดตามเงื่อนไขสัญญา โดยเฉพาะ “การจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ” ตามจำนวนพื้นที่การใช้งานและยอดขาย ซึ่งจ่ายตามสถานการณ์จริง บางปีจ่ายสูงกว่ามูลค่ายอดขายรวมขั้นต่ำรายปีตั้งแต่ 15% เป็นขึ้นไป

ส่วน “แนวทางการเปิดประมูลเสรี” พื้นที่ประกอบกิจการร้านค้าดิวตี้ฟรี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รอบใหม่ปี 2561 เพื่อให้ทันการเปิดบริการอาคารผู้โดยสารเฟส 2 ช่วงปี 2562 ซึ่งจะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1 เท่านั้น

ทอท.จะแยกรายละเอียดเปิดประมูลเสรีอย่างชัดเจนเป็น 3 สัมปทาน ได้แก่
1.ร้านค้า (duty free)
2.พื้นที่เชิงพาณิชย์ (commercial area) และ
3.พื้นที่ใช้สอยร่วมกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ (common use)

Advertisement

โดย ทอท.พร้อมจะเปิดกว้างให้ “ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ” เข้าร่วมประมูลอย่างโปร่งใส เช่นเดียวกับแนวทางที่ใช้ปฏิบัติกับ “กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์” เสมอมา ซึ่งทางคณะกรรมการทุกชุดต่างได้รับการแต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่คัดเลือกผู้ชนะประมูล 3 พื้นที่ ล้วนมีจริยธรรม พร้อมจะนำมาตรฐานการพิจารณาอย่างเป็นธรรมเข้ามาตัดสินหา “ผู้ชนะการประมูล” ตั้งแต่อดีตเรื่อยไปจนถึงอนาคตข้างหน้า เพื่อรักษาประโยชน์ให้รัฐรับผลตอบแทนสูงสุดเท่านั่นเอง

ส่วนข้อตกลงสัญญาอนุญาตประกอบการร้านค้าดิวตี้ฟรี ระหว่าง ทอท.กับ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPS) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน เส้นทางการทำงานร่วมกัน เริ่มทำสัญญาเข้าดำเนินธุรกิจเมื่อปี 2549 ช่วงหลังเหตุการณ์รัฐบาล (ขณะนั้น) มีนโยบายให้ปิดใช้ท่าอากาศยานดอนเมือง แล้วย้ายไปเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียว ทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงกำหนดจ่ายผลตอบแทนเบื้องต้น ประกอบด้วย

กำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำปีที่ 1-5 อัตราร้อยละ 15 จากปีละ 1,200-1,600 ล้านบาท จากนั้นในปีที่ 6-10 เพิ่มอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำตามลำดับในอัตราร้อยละ 16-17-18-19-20 เริ่มจากปีละ 1,800-2,500 ล้านบาท

แต่ช่วงก่อนเข้าสู่กระบวนการทำสัญญาสัมปทาน ทางคณะทำงานของ ทอท.(ขณะนั้น) ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนคู่ขนานกันไป ด้วยการ “จัดจ้างสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาจุฬาภรณ์มหาวิทยาลัย” เข้ามาศึกษาโครงการกรณี เข้าข่ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือไม่ อย่างไร กระทั่งได้ผลสรุปจากสถาบันดังกล่าวระบุไม่เข้าข่ายแต่อย่างใด

เมื่อ ทอท.ได้รับคำยืนยันจาก “สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาจุฬาภรณ์มหาวิทยาลัย” ด้วยคำตอบที่ชัดเจนถึงกรณีการอนุญาตให้สัมปทานโครงการร้านค้าดิวตี้ฟรีไม่เข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เรียบร้อยแล้ว

พอถึงขั้นตอนที่เข้าสู่กระบวนการ “ทำสัญญาสัมปทาน” ทางคณะทำงานของ ทอท.(ขณะนั้น) จึงมีหนังสือขอให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ในฐานะผู้ชนะสิทธิประมูลเพื่อเตรียมเข้าดำเนินกิจการร้านค้าดิวตี้ฟรี ชำระค่าตอบแทนให้ ทอท.ก่อนล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี คิดเป็นเงินประมาณ 2,460 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระบุให้ชำระ ณ วันลงนามในสัญญา กรณีที่สัญญาเริ่มต้นได้ปี 2549

ขั้นตอนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ทอท.พยายามกำหนดเงื่อนไขให้รัฐได้ประโยชน์มากที่สุด ด้วยการระบุ “ขอเก็บเงินล่วงหน้า” จ่ายตรงเข้าสู่หน่วยงานจากผู้ชนะสัมปทานประกอบการร้านค้าดิวตี้ฟรี นั้นมีผลเชิงบวกต่อองค์กรภาครัฐโดยตรงมากกว่าเหตุผลใดๆ

จากนั้นในปี 2554 เกิดเหตุการณ์มหาพิบัติภัยธรรมชาติน้ำท่วมใหญ่ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดทั่วประเทศ เรื่อยไปจนถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศต่อเนื่อง ของกลุ่มผู้มีความคิดเห็นต่างกัน ถึงขั้นนำกลุ่มคนจำนวนมากเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ อยู่ช่วงระยะหนึ่ง

ทั้งสองเหตุการณ์ได้ส่งผลกระทบต่อกิจการธุรกิจทุกภาคส่วน “รัฐบาล” จึงมีนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐ และ ทอท.จัดทำมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจอย่างเท่าเทียมกัน ตามที่ ทอท.ได้ขอมติคณะกรรมการ (บอร์ด) อนุมัติดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลผ่อนปรนอย่างเหมาะสม รวมทั้งยืดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการครอบคลุมทุกกลุ่มในท่าอากาศยานต่างๆ ออกไป

จึงเป็นเหตุผลให้กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ หนึ่งในคู่สัญญาทำธุรกิจในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับการเยียวยาตามสิทธิเช่นเดียวกับคู่ค้ารายอื่นๆ ของ ทอท.

ดังนั้น ผู้บริหารของ ทอท.จึงขอให้ทุกฝ่ายรออีกประมาณ 180 วัน กับการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับ “ผู้ประกอบการมืออาชีพ” ที่สนใจจะลงแข่งขันร่วมการประมูลเสรีเพื่อ “ชิงสัมปทาน” เข้าบริหารพื้นที่ทำรายได้ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

โดยจะพิจารณาเลือก “ผู้ได้สิทธิสัมปทานประกอบกิจการเพียงรายเดียว” เท่านั้น ประการสำคัญจะต้อง “พร้อมรอบด้าน” ครบเครื่องทั้งเรื่องศักยภาพความสามารถด้านการบริหารพื้นที่อย่างมืออาชีพ การจ่ายผลตอบแทนสูงสุดรัฐ และ “มีความโปร่งใส” ในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้เพราะท่าอากาศยานทุกแห่งของ ทอท.คือ “ประตูเศรษฐกิจของไทย” เชื่อมโยงไปยัง “ตลาดทั่วโลก” สามารถสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับประเทศไทยในระยะยาวต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image