นักวิชาการแรงงานตั้งข้อสังเกตออก ‘พรก.แรงงานต่างด้าว’ เหมาะสมหรือไม่

นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวถึงประเด็นการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ว่า จริงๆ แล้วการออกกฎหมายในลักษณะพระราชกำหนดนั้นจะต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนเรื่องฉุกเฉิน แต่เรื่องการบริหารจัดการคนต่างด้าว มองว่าไม่ได้ต้องถึงขั้นออกเป็นพระราชกำหนด ซึ่งเมื่อออกมาในรูปแบบนี้ก็จะแตกต่างจากการออกเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ที่ต้องมีการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นเข้ามา ตรงนี้จึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการ นายจ้างจะออกมากังวลในเรื่องของเนื้อหาสาระของกฎหมาย อย่างเรื่องโทษที่สูงตั้งแต่ 4 แสนไปจนถึง 8 แสนบาท และยังมีข้อกังวลในเรื่องของผู้บังคับใช้กฎหมายว่าจะมีธรรมาภิบาลต่อการจับปรับหรือไม่ เพราะยังมีข้อกังวลว่าอาจเปิดช่องให้กรณีนายจ้างไม่อยากจ่ายค่าปรับสูงๆ ก็ใช้เส้นทางลัดจ่ายที่ถูกกว่ากฎหมายกำหนด สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่มีข้อกังวลกัน

นายบัณฑิตย์กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ร่วมกับองค์กร Solidarity Center จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาสังคมต่อร่างพระราชกำหนดดังกล่าวในช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 เพราะคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนด(ร่าง พ.ร.ก.) ฉบับนี้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(สคก.) ตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายไร้โอกาสมีส่วนร่วมพิจารณา ตรวจสอบเสนอแนะร่างพระราชกำหนด โดยมีผู้แทนกองนิติการ กรมจัดหางานมาชี้แจงความเป็นมา และสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก. ซึ่งผู้วิพากษ์มาจากหลายส่วนทั้งตนเอง รวมทั้งนายสมชาย หอมลออ ทนายความและอดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายวาทิน หนูเกื้อ นักวิชาการกฎหมายและคณะทำงานด้านแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายบัณฑิตย์กล่าวว่า หลักการสำคัญของร่างพระราชกำหนดเป็นการควบรวม และปรับปรุงเพิ่มเติมกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และ พ.ร.ก.นำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 เพื่อจัดระเบียบควบคุมการทำงานของคนต่างด้าวและการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพภายอย่างเร่งด่วน สร้างความมั่นคงทางด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สาระสำคัญซึ่งที่ประชุมได้วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอแนะมีจำนวนมาก ขอสรุปบางประเด็น คือ ความจำเป็นและความชอบธรรมของการออกพระราชกำหนด การออกพระราชกำหนดฉบับนี้ไม่น่าจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ที่กำหนดให้การตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชามติฉบับนี้เป็นครั้งแรกที่มีหมวดการปฏิรูปประเทศในมาตรา 258 ด้านกฎหมายซึ่งกำหนดให้รัฐต้องมีกลไกปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการมาตรา 77 และพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักสากล ฯลฯ

“ปัญหา คือ พระราชกำหนดฉบับนี้ได้รับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร และกฎหมายเก่าที่นำมารวมปรับปรุงเป็นพระราชกำหนดนี้ ยังมีบางเรื่องที่ยังไม่บังคับใช้ หรือเพิ่งออกมาไม่นานโดยผู้เกี่ยวข้องยังไม่รู้เรื่อง นอกจากไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 รัฐธรรมนูญแล้ว ยังไม่เคยเห็นการออกพระราชกำหนดเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก พร้อมแก้ไขพระราชกำหนดที่เพิ่งออกมาไม่ถึงปี เพราะพระราชกำหนดควรออกในช่วงมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เขียนในเหตุผลของพระราชกำหนดให้ดูดี ทั้งที่ปัญหาการทำงานของคนต่างด้าวและการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้มานานแล้ว” นายบัณฑิตย์กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image