กรมป่าไม้เร่งแก้กฎกระทรวงฯ ตัดไม้หวงห้ามกรณีเกิดภัยธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ได้ระบุว่าไม้หวงห้ามประเภท ก. มีทั้งหมด 5 ชนิด คือ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง และไม้กระพี้เขาควาย หากแบ่งเป็นรายชื่อที่เรียกตามพื้นถิ่นของแต่ละภาคจะมี 17 รายชื่อ ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย และได้กำหนดไว้ว่าหากผู้ใดมีไว้ครอบครองโดยผิดกฎหมาย จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 2,000,000 บาท ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลในการสั่งลงโทษ ซึ่งคำสั่งคสช.ดังกล่าวนี้ ได้ออกมาเพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าอย่างผิดกฎหมาย

“สำหรับกรณีของนางหนึ่งฤทัย สารภัคคี ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ถูกต้นพะยูงล้มทับบ้านนั้น ซึ่งไม้พะยูงเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ชาวบ้านจึงไม่กล้าตัดไปโดยพลการ และได้ไปแจ้งยังหน่วยงาน แต่อาจเกิดความล่าช้าเนื่องจากไม่มีเอกสารโฉนดที่ดินมายืนยันต่อเจ้าหน้าที่ และไม่ได้มาติดต่อใหม่ ซึ่งกรมป่าไม้อยากจะแจ้งให้ชาวบ้านรับทราบว่า กรณีที่เกิดภัยธรรมชาติจนทำให้ไม้หวงห้ามหักล้มทับบ้านเรือน รถยนต์ หรือทรัพย์สินมีค่า ซึ่งต้องเร่งตัดหรือเคลื่อนออกโดยเร่งด่วนนั้น มี 2 แนวทางในการดำเนินการ คือ 1.หากมีเอกสารโฉนดที่ดินยืนยันว่าไม้หวงห้ามได้ขึ้นในพื้นที่ของตน ชาวบ้านสามารถไปแจ้งยังสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) หรือ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ กรมป่าไม้ ในพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตัดหรือเคลื่อนย้ายได้ทันที และ 2.กรณีที่ไม่มีเอกสารโฉนดที่ดินมาเป็นหลักฐาน เนื่องจากนำโฉนดที่ดินไปเข้าธนาคารอย่างกรณีนางหนึ่งฤทัย หรือกรณีใดๆ ชาวบ้านสามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หรือทสจ. จะร่วมลงพื้นที่เพื่อเป็นสักขีพยานการตัดไม้หรือเคลื่อนไม้ดังกล่าว และให้เก็บไม้หวงห้ามนั้นไว้เป็นไม้ของกลางจนกว่าชาวบ้านจะนำเอกสารโฉนดที่ดินมายืนยันเป็นเจ้าของ”นายอรรถพล กล่าว

รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ไขกฎระเบียบกระทรวงตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 นั้น จะมีการแก้ไขระเบียบในกรณีหากเกิดภัยธรรมชาติ ทำให้มีไม้หวงห้ามล้มทับ และต้องเร่งตัดหรือเคลื่อนย้ายโดยด่วนนั้น สามารถกระทำได้ทันทีใน 2 แนวทางดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้เสนอร่างกฎกระทรวงฯ ต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว หากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบก็จะยื่นให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ แก้ไขกฎระเบียบดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ แต่ระหว่างนี้ทางกรมป่าไม้ได้ออกหนังสือชี้แจงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการตาม 2 แนวทางได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image