“ทำเสียเอง” โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เราเคยได้ฟังได้ยินอยู่เสมอว่า เมื่อข้าราชการทุจริตประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เพราะละเลยไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนด หรือกฎหมายต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในรูปพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา อีกทั้งกฎกระทรวงหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ของผู้รับเหมาผู้รับจ้างหรือผู้จัดหาสิ่งของหรือบริการให้กับหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการเหล่านั้นจะต้องโดนลงโทษทั้งทางวินัยและชดใช้ความเสียหาย ถูกฟ้องทั้งทางแพ่งและทางอาญา

กฎหมายที่ ม.44 ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติ ล้วนเป็นกฎหมายที่มีเหตุผลในการออกเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันทุจริตประพฤติชั่วของข้าราชการ หรือปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของชาติ รวมถึงเพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเสียเงินซื้อมาด้วยราคาแพง ไม่ใช่จากเงินเดือนของคณะรัฐมนตรี แต่จากภาษีอากรของประชาชน การใช้ ม.44 เพื่อละเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันการทุจริตและการประพฤติชั่ว สามารถอนุมัติโครงการได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทางบ้านเมือง จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรับได้และไม่เชื่อว่าจะไม่ทุจริตเพราะเปิดโอกาสให้ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันการทุจริต

โครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินจำนวนมหาศาล เมื่อลงทุนเสร็จเรียบร้อยแล้วยังต้องมีรายจ่ายเพื่อดำเนินการ ในกรณีรถไฟความเร็วสูงก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินรถ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย จิปาถะ แล้วถ้าคาดการณ์ผิดกลายเป็นทางรถไฟสายเปลี่ยว อย่างที่ “คุณซูม” แห่งไทยรัฐที่คาดการณ์ว่าจะเกิดชุมชนตามสถานีที่รถไฟความเร็วสูงหยุดก็อาจจะไม่เกิด เพราะเมื่อคนลงจากสถานีก็จะรีบกลับบ้าน หรือจะมาสถานีก็ต่อเมื่อใกล้เวลาที่รถจะมาถึง เมืองไทยและคนไทยไม่เหมือนคนเมืองและคนญี่ปุ่น คนไทยอยากอยู่บ้านนานๆ แล้วค่อยออกมา คนญี่ปุ่นไม่อยากอยู่บ้านนานๆ เพราะบ้านเล็กคับแคบ
อยากอยู่ข้างนอกนานๆ จะกลับบ้านก็เพื่อเข้านอนเท่านั้น อีกทั้งเมืองไทยความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่มีน้อย โอกาสที่โครงการรถไฟความเร็วสูงจะกลายเป็นโครงการช้างเผือกหรือ “white elephant project” มีสูงมาก หลายโครงการที่ศรีลังกาก็เป็นอย่างนั้น

ช้างเผือกนั้น เป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเอเชีย รวมทั้งบ้านเรา แต่ช้างเผือกเป็นช้างที่ไม่สู้จะมีประโยชน์ เอามาใช้งานชักลากเป็นพาหนะเดินทางอย่างช้างสีดำธรรมดาไม่ได้เพราะได้รับการยกย่องว่าเป็นสัตว์มงคล ต้องทำโรงอย่างดีให้อยู่ ต้องจ้างคนคอยดูแล ต้องเกี่ยวหญ้าผักผลไม้มาเลี้ยง ฝรั่งจึงเปรียบเทียบโครงการใหญ่ที่ไม่ได้ทำการศึกษาให้ดี ไปเชื่อคำสรรเสริญเยินยอของผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือเห็นแก่อามิสผลประโยชน์ที่ผู้รับเหมาหยิบยื่นให้ เมื่อโครงการเสร็จสิ้นลงไปก็ไม่มีใครใช้หรือใช้น้อย รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยการขาดทุนไปเรื่อยๆ ได้ยินมาว่าโครงการจะคุ้มทุนต้องใช้เวลา 50 ปี หรือครึ่งศตวรรษ

Advertisement

แต่ถ้าคิดเสียว่าค่าใช้จ่ายในการวางรางเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีอายุใช้งานเป็นเวลานานกว่า 100 ปี เหมือนกับทางหลวง เหมือนกับทางรถไฟรางคู่ความกว้าง 1.00 เมตร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็ต้องมั่นใจว่ารถไฟความเร็วสูงจะมีผู้โดยสารเพียงพอที่จะสามารถอยู่ได้ ไม่เลิกกิจการไปก่อน 50 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบกฎเกณฑ์ ไม่ใช่คิดเอาเองแล้วใช้อำนาจเผด็จการ สั่งยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแบบแผนของบ้านเมือง โดยใช้เหตุผลว่าให้เร็วและเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเป็นผู้เลือก ไม่ใช่เราเป็นผู้เลือก รวมทั้งยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมของไทย รูปร่างสถานีรูปแบบต่างๆ คงจะออกเป็นแบบจีนๆ เหมือนศาลเจ้าหรือตึกแถวก็ได้ เพราะสถาปนิกจีนก็คงไม่ถนัดในเรื่องศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ

โครงการรถไฟความเร็วสูงก็ไม่ได้มีแต่สายกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคายเท่านั้น ยังมีสายอื่น เช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-ตราด ก็ไม่เห็นต้องใช้คำสั่ง ม.44 ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดกฎหมายของบ้านเมือง ถ้ากฎหมายไม่ดี ล้าสมัยก็สามารถแก้กฎหมายได้ เป็นรัฐบาลเผด็จการทหารก็สามารถสั่งเร่งรัดสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อยู่แล้ว อย่างน้อยก็จะได้ฟังคำอธิบายของรัฐบาลและคำอภิปรายทั้งสนับสนุนและติติงได้ ไม่ใช่เป็นความลับดำมืดเช่นนี้ ก่อนจะลงนามกับฝ่ายจีนก็ควรจะต้องขออนุมัติจากสภานิติบัญญัติด้วย แม้จะเป็นสภาตรายางก็ตาม ยังดีกว่าไม่ต้องให้ใครช่วยดูเลย โครงการอื่นๆ เหตุใดเขาจึงปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายได้ แล้วต่อไปถ้าข้าราชการหลีกเลี่ยงหลบหลีกไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในการอนุมัติโครงการ แม้ไม่มีใบเสร็จก็ตาม จะกล่าวหาว่าข้าราชการเหล่านั้นประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองก็ทำโดยใช้อำนาจเผด็จการ ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตยก็อยู่ตรงนี้ไม่ใช่ช้าหรือเร็วในการอนุมัติโครงการ

Advertisement

รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากความยินยอมเห็นชอบของประชาชน แต่มาด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาลของประชาชน ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ก็ควรจะต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ควรเป็นรัฐบาลที่ประชาชนเผลอไม่ได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นอันตรายมาก เพราะประชาชนตรวจสอบไม่ได้ จะหวังพึ่ง สนช.ก็คงไม่ได้เพราะ สนช.มาจาก คสช.ซึ่งขณะนี้เป็นรัฐบาลอยู่

รัฐบาลทหารรุ่นก่อนๆ ที่พังทลายก็มักจะเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเองที่อยู่เหนือกฎหมาย ละเมิดกฎหมาย เช่นกรณีการไปล่าสัตว์ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ โครงการรถไฟไทย-จีน หรือจีน-ไทย จึงเป็นโครงการอยู่เหนือกฎหมาย ต้องใช้อำนาจคณะรัฐประหารดำเนินการ

ข่าวล่าสุด เมื่อมีความกดดันจากสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกรรม สถาปัตยกรรม จึงออกมาชี้แจงว่า ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานการวางรางนั้นอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งมีมูลค่า 75 เปอร์เซ็นต์ของโครงการ แต่ก็ยังไม่ได้ชี้แจงว่าในมูลค่า 75 เปอร์เซ็นต์เป็นค่าเวนคืนที่ดินเท่าไหร่ อาจจะมากกว่าค่าก่อสร้างทางหรือเท่ากันก็ได้ ซึ่งจีนไม่สนใจ

ส่วนที่น่าสนใจคือส่วนที่เหลืออีก 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณ ระบบสื่อสาร การเดินรถและเป็นส่วนที่จะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี มีคำถามว่าทำไมต้องใช้เทคโนโลยีจีน ราคาถูกกว่าหรือ ทนทานกว่าของญี่ปุ่นหรือ เปรียบเทียบกับของฝรั่งเป็นอย่างไรหรือ ที่ว่าเป็นโครงการ G to G นั้นเป็นอย่างไร ไทยได้ประโยชน์อย่างไรจึงต้องเจาะจงเอาของจีน เพราะจะต้องเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีนที่มาลาว แต่ทำไมไม่คำนึงถึงการเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสายอื่นในประเทศไทยที่เขาสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบตามกฎหมายไทยได้ โดยไม่ต้องใช้มาตรา 44 ยังไม่ได้คำตอบจากนายกรัฐมนตรี

การพยายามผลักดันโครงการรถไฟฟ้าไทย-จีน แม้จะขอความเห็นจากสำนักงานพัฒนาการทางเศรษฐกิจ จากสำนักงบประมาณ จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประชาชนทุกฝ่าย ถ้าหากจะเปิดดูจากสื่อออนไลน์ทั้งหลาย

การทำความเข้าใจกับประชาชนว่าได้มีการศึกษาในเรื่องต่างๆ เป็นต้นว่าต้นทุนในส่วนต่างๆ ของโครงการ ค่าโดยสารที่เป็นไปได้จะเป็นเท่าไหร่ รัฐบาลมีทางที่จะต้องตั้งงบประมาณชดเชยปีละเท่าไหร่ เป็นเวลาเท่าไหร่ ในกรณีที่ขึ้นค่าโดยสารไม่ได้ตามแผน ซึ่งมักจะไม่ได้ระบุเวลาคุ้มทุนแล้วต้องยืดจาก 50 ปีออกไปเป็นกี่ปี เพื่อแลกกับผลประโยชน์ของประเทศไทยเท่าไหร่ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการลดค่าขนส่งผู้โดยสารปีละกี่คน จะเป็นการแย่งผู้โดยสารรถไฟธรรมดารางคู่ที่มีทั้งรถเร็ว รถด่วน จำนวนเท่าใด จะยิ่งทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องขาดทุนจากรถไฟปกติอันเกิดจากการแย่งผู้โดยสารเท่าใด ล้วนเป็นคำถามที่ประชาชนผู้เสียภาษีมีสิทธิจะได้รู้

ที่สำคัญ ทำไมโครงการรถไฟความเร็วสูงรายอื่นๆ สามารถปฏิบัติตามกฎหมายปกติ 6-7 ฉบับนั้นได้ โดยไม่ต้องขออำนาจตามมาตรา 44 ทำไมโครงการรถไฟไทย-จีนต้องใช้อำนาจพิเศษให้อยู่เหนือกฎหมายไทย ต่อไปถ้าญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา เกาหลี ขอยกเว้นกฎหมายไทย รัฐบาลนี้จะยอมให้ไหม

ถ้าเป็นโครงการจีทูจี จีนก็ต้องออกค่าก่อสร้างทั้งหมด แล้วยกให้รัฐบาลไทย มิฉะนั้นจะเรียกว่า จีทูจีได้อย่างไร ทีแรกก็คงจะรวบรัดทำแบบจีทูจี ถ้าเผลอ แต่บังเอิญไม่เผลอออกมาคัดค้านให้ชี้แจง จึงถอยมาเป็นผู้ออกแบบควบคุมการก่อสร้างงานโยธามูลค่า 75 เปอร์เซ็นต์และไทยเป็นผู้เดินรถ แต่จีนก็ยังจะเป็นผู้วางราง ติดตั้งสัญญาณและจัดหารถไฟ รวมทั้งให้ฝ่ายไทยหาเงินกู้เองได้ ไม่ต้องกู้จากจีนในอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 2.50 เปอร์เซ็นต์

ถ้าเผลอก็คงเสียค่าโง่ให้จีนไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image