“สุรชัย” นำทีม 5 สนช. ลุย “กมธ.ร่วม” ถก 6 ปัญหากฎหมาย กกต.

“สุรชัย” นำทีม 5 สนช. ลุย “กมธ.ร่วม” ถก 6 ปมปัญหากฎหมาย กกต. นัดแรกเริ่ม 3 ก.ค. นี้

เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 27 มิถุนายน ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ในวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายนนี้ สนช.จะตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เนื่องจากทางกกต.ได้ส่งความคิดเห็นชี้ประเด็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสนช.ไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 จำนวน 6 ประเด็น คือ กำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการสรรหาและกกต.เกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด การให้อำนาจกกต.สั่งระงับ ยับยั้ง เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้งในแต่ละหน่วย รวมทั้งการออกเสียงประชามติที่ขัดกับเจตนารมของรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ชัดเจน การให้กกต.มอบอำนาจสอบสวนนั้นไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงการเซตซีโร่กกต.ด้วย ดังนั้น วิปสนช.จึงมีมติเสนอรายชื่อในสัดส่วนของสนช. จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 นายสมชาย แสวงการ นายตวง อันทะไชย พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ และตน ทำงานร่วมกับตัวแทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จำนวน 5 คน และประธานกกต. โดยจะประชุมนัดแรกในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ โดยจะมีกรอบการทำงานนับแต่แต่งตั้งกมธ.ร่วม และเมื่อพิจารณาเสร็จก็จะนำเข้าที่ประชุมสนช. ถ้าที่ประชุมไม่เห็นชอบต้องใช้มติมากกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสนช. ซึ่งจะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไป

นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายนนี้ สนช.จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่กรธ.ส่งให้สนช.พิจารณา จะตั้งกมธ. จำนวน 21 คน โดยเป็นสนช. 17 คนซึ่งส่วนใหญ่มาจากคณะกรรมการศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าวล่วงหน้ามาแล้ว และจะมีตัวแทนจากกรธ. จำนวน 2 คน ตัวแทนจากรัฐบาล คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมพิจารณาด้วย ทั้งนี้ เนื้อหาสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ ในมาตรา 60 ให้เซตซีโรกสม. เช่นเดียวกับกกต. แต่แตกต่างกันโดยกสม.เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยให้กสม.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นองค์กรอิสระ ขณะที่กกต.เป็นองค์กรอิสระ ดังนั้นกสม.ชุดปัจจุบันสามารถกลับมาสมัครเป็นกสม.ใหม่อีกครั้งได้ ไม่เหมือนกับกกต.ที่ไม่สามารถกลับมาสมัครใหม่ได้อีก

นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนความเคลื่อนไหวของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าพรรคการเมืองนั้น ที่ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านระบบไพรมารีโหวตว่ามีปัญหาในการปฏิบัติที่ไม่อาจทันเวลา ซึ่งต้องรอดูว่ากกต. และกรธ. จะส่งความเห็นแย้งมาหรือไม่ แต่ความเห็นส่วนตัวคิดว่า ควรมีบทเฉพาะให้ไพรมารีโหวตใช้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ยังไม่ใช้กับการเลือกตั้งครั้งนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image