ป่วนอีก! มัลแวร์เรียกค่าไถ่ Petya โจมตีทั่วโลก “เชอร์โนบิล”เฝ้าระวัง บ. เกาหลีใต้ยอมจ่ายแล้ว 34 ล้านบาท

เมื่อเวลา 23.00น. ของวันที่ 27 มิถุนายน ตามเวลาประเทศไทย เว็บไซต์บีบีซี รายงานว่า เกิดเหตุ “มัลแวร์เรียกค่าไถ่” ระบาดไปทั่วโลกอีกครั้งส่งผลกระทบกับบริษัทหลายแห่งทั่วโลกโดยระบาดไล่มาตั้งแต่ประเทศรัสเซีย ยูเครน อังกฤษ รวมไปถังบริษัทในสหรัฐอเมริกา

ดับเบิลยูพีพี บริษัทโฆษณาของอังกฤษ เป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่รายงานว่าระบบไอทีของบริษัทต้องประสบปัญหา เช่นกันกับบริษัทในยูเครน ในจำนวนนี้รวมไปถึงบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าของรัฐ และสนามบินหลักของกรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศ ด้านโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล จำเป็นต้องเฝ้าระวังระดับกัมมันตรังสีโดยไม่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์หลังจากระบบเซ็นเซอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ถูกปิดลง ขณะที่โฆษกประธานาธิบดียูเครน ระบุว่ารัฐบาลกำลังจับตาสถานการณ์ดังกล่าวในระดับสูงสุด

ด้านบริษัท “เมอร์ซ” บริษัทโลจิสติกยักษ์ใหญ่ของเดนมาร์คที่มีสาขาอยู่ทั่วโลกระบุว่า หน่วยงานธุรกิจหลายแห่งของบริษัทต้องปิดลงหลังถูกโจมตีทางไซเบอร์

รายงานดังกล่าวมีขึ้นหลังบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซียอย่าง รอสเนฟต์ ระบุว่ เซิร์ฟเวอร์ ของบริษัทได้รับผลกระทบจากการโจมตีไซเบอร์ครั้งรุนแรง

Advertisement

ด้านสื่อท้องถิ่นของสเปน รายงานว่าสำนักงานของบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของประเทศอย่าง มอนเดเลซ เจ้าของแบรนด์ โอรีโอ รวมถึง ทอบเบิลโรน ก็ได้รับผลกระทบ ขณะที่บริษัททีเอ็นที บริษัทขนส่งของเนเธอร์แลนด์ ระบุว่าระบบบางส่วนของบริษัทจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ขณะที่บริษัทวัสดุก่อสร้างของฝรั่งเศส อย่าง แซงโกแบง ก็ระบุว่าบริษัทตกเป็นเหยื่อการโจมตีไซเบอร์ครั้งนี้ด้วย

ฟากฝั่งของสหรัฐอเมริกา บริษัทผู้ผลิตยาอย่าง Merck และสำนักงานของบริษัทด้านกฎหมายอย่างดีแอลเอ ไพเพอร์ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า มัลแวร์ดังกล่าวใช้ข้อได้เปรียบเดียวกันกับ มัลแวร์ “วอนนาคราย” ที่ระบาดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมัลแวร์ตัวล่าสุดนี้เป็นมัลแวร์ที่เรียกว่า Petya เป็นมัลแวร์ที่ได้รับการอัพเดทมาจาก Petrwrap ที่เคยระบาดมาแล้วก่อนหน้านี้ โดย Petya จะใช้ช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการวินโดว์หรือที่เรียกว่า “อีเทอร์นัลบลู” ที่หลุดออกมาจากเอกสารของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นเอสเอ) ก่อนหน้านี้เช่นกัน

ล่าสุดมีรายงานว่าบริษัทนายานา บริษัทผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้ง ของเกาหลีใต้ ได้ยอมจ่ายเงินค่าไถ่แล้วเป็นมูลค่าสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 34 ล้านบาท เพื่อปลดล็อคข้อมูลที่ถูกมัลแวร์ยึดไปคืนกลับมา และการจ่ายเงินดังกล่าวจะนับเป็นสถิติสูงที่สุดในการจ่ายค่าไถ่มัลแวร์เท่าที่เคยมีรายงานมาก่อนหน้านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image