พระมหากัสสปะและพระอานนท์ : อัครสาวกขวา-ซ้าย ..โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

หลายปีมาแล้ว มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งส่งหนังสือที่แปลโดย ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาให้ผมตรวจก่อนตีพิมพ์ มีข้อความตอนหนึ่งว่า พระมหากัสสปะ และ พระอานนท์ เป็นอัครสาวกขวา-ซ้ายของพระพุทธเจ้า
ผมขีดเส้นแดงว่า “ผิด” เรื่องอย่างนี้เณรน้อยนักธรรมตรีก็รู้

ผมเพิ่งรู้หลังจากนั้นไม่นานว่า ชาวพุทธสายจีน ไม่นับพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวก แต่นับพระมหากัสสปะและพระอานนท์เป็นอัครสาวก เหตุผลคือ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะด่วนสิ้นชีพไปก่อนพระพุทธองค์ ไม่ทันได้ทำหน้าที่ “มือขวา-มือซ้าย” โดยสมบูรณ์ ภารกิจต่างๆ ได้ถ่ายโอนมายังพระมหากัสสปะและพระอานนท์ น่าที่จะให้ท่านทั้งสองเป็นอัครสาวกแทนเสียเลย

เวลาสร้างพระพุทธรูป มีพระอัครสาวกสององค์นั่งหรือยืนเคียงข้างพระพุทธรูป เขาจะบอกว่าคือ พระมหากัสสปะและพระอานนท์

ทั้งสองท่านนี้ ชาวพุทธฝ่ายเซ็นนับถือว่าเป็นผู้สืบทอดเซ็นต่อจากพระพุทธองค์อีกด้วย โดยพระมหากัสสปะได้รับถ่ายทอดมาจากพระพุทธเจ้า แล้วถ่ายทอดไปให้พระอานนท์ พระอานนท์ก็ถ่ายทอดต่อไปยังองค์อื่น สืบต่อกันเป็นช่วงๆ จนถึงพระโพธิธรรม พระโพธิธรรมเดินทางไปอินเดีย ชาวจีนเรียกว่า ตั๊กม้อ โจวซือ (หนังกำลังภายใน เรียกตโมภิกขุ) ตั๊กม้อถ่ายทอดเซ็นให้ศิษย์สืบต่อกันมาจนถึงเว่ยหล่าง (ฮุยเน้ง)

Advertisement

เว่ยหล่างเลิกถ่ายทอดอีกต่อไป ประเพณีการมอบบาตรและจีวรของอาจารย์ให้ศิษย์ถูกยกเลิก เว่ยหล่างจึงนับเป็น “สังฆปริณายก” องค์สุดท้ายของเซ็น

ทางฝ่ายเซ็น ถือพระมหากัสสปะสำคัญมาก เพราะเป็น “ตัวเชื่อม” กับพระพุทธองค์โดยตรง คือพวกเขาเชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาเรื่องเซ็นด้วยภาษาเงียบ โดยการชูดอกบัวเหนือพระเศียรไม่ตรัสอะไรเลย พระทั้งปวงไม่มีใครเข้าใจ มีแต่พระมหากัสสปะองค์เดียวยิ้มน้อยๆ ทำนองเข้าใจพุทธประสงค์

พระพุทธองค์ตรัสว่า “กัสสปะ เธอผู้เดียวเข้าใจ เราตถาคตขอมอบสิ่งที่ไร้คำพูดนี้ให้เธอ”

เพราะเหตุนี้แล สิ่งที่เรียกว่า “เซ็น” จึงได้รับถ่ายทอดสายตรงมาให้พระมหากัสสปะโดยเฉพาะเพียงผู้เดียว ว่ากันอย่างนั้น

บางท่านแย้งว่า เรื่องนี้ทางฝ่ายเซ็นเขียนเอาเอง โดยพยายามโยงพระมหากัสสปะไปถึงพระพุทธเจ้าให้จงได้ แต่คิดอีกทีเรื่องนี้มิใช่ว่าไม่มี “เค้า” แห่งความจริงเสียเลย พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ เพราะมี “ร่องรอย” บางอย่างแม้ในคัมภีร์เถรวาทนี้เองก็กล่าวถึง

เรื่องมีดังนี้ครับ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประชวรหนักนั้น พระมหากัสสปะเดินทางมาเพื่อเข้าเฝ้าพร้อมกับพระสงฆ์หมู่ใหญ่ เห็นคนต่างศาสนาคนหนึ่งเดินสวนทางมา จึงถามข่าวพระพุทธองค์ คนต่างศาสนานั้นบอกว่า พระสมณโคดมศาสดาของพวกท่านสิ้นชีพมาได้ 7 วันแล้ว

ภิกษุหลายรูปที่ยังเป็นปุถุชนได้สดับดังนั้น พากันร้องไห้อาลัยอาวรณ์พระพุทธองค์ มีขรัวตาเฒ่าเพิ่งบวชรูปหนึ่งพูดขึ้นว่า พวกท่านร้องไห้ทำไม พระศาสดาปรินิพพานก็ดีแล้ว สมัยยังมีพระชนม์อยู่ ห้ามไม่ให้ทำนั่นทำนี่ จู้จี้จุกจิกสารพัด บัดนี้พวกเราเป็นอิสระแล้ว อยากทำอะไรก็ทำได้

ท่านมหากัสสปะได้ยินก็สลดใจ “พระศาสดาสิ้นไปยังไม่เกิน 7 วัน สาวกก็พูดได้ขนาดนี้ ต่อไปนานเข้าจะเป็นฉันใด” ว่าแล้วก็นึกว่าหน้าที่ชำระสะสางพระศาสนาตกเป็นภาระของท่านแล้ว เพราะเมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ทรงไว้พระทัยท่านมาก ถึงกับทรง “มอบบาตรและจีวร” ให้ท่านครั้งหนึ่ง

นึกได้อย่างนี้แล้วก็รวบรวมพระอรหันต์ทรงอภิญญาได้ 500 รูป ทำ “สังคายนา” พระธรรมวินัย ดังที่ทราบกันดีแล้ว

ตรงนี้แหละครับ เป็นต้นเค้าให้ฝ่ายเซ็นนำไปเป็นข้ออ้างว่า พระพุทธเจ้าทรงมอบพระศาสนาให้พระมหากัสสปะสืบทอดแทน พูดให้ชัดก็ว่า ทรงตั้งให้พระมหากัสสปะเป็นทายาทสืบทอดพระศาสนา โดยทรงมอบบาตรและจีวรให้

ทางฝ่ายเซ็นจึงมีประเพณี “การมอบบาตรและจีวร” แก่ศิษย์ผู้รับช่วงสืบทอดพระศาสนามาแต่บัดนั้น

พุทธศาสนิกฝ่ายเถรวาท ก็ให้ความสำคัญแก่พระมหากัสสปะไม่น้อยไปกว่าฝ่ายจีนและฝ่ายเซ็น ด้วยซาบซึ้งในพระคุณอันยิ่งใหญ่ของท่านที่ “สืบทอดเจตนารมณ์” ของพระสารีบุตรจนสำเร็จด้วย

พิเคราะห์ตามประวัติแล้ว ท่านมหากัสสปะเป็นพระผู้เฒ่า บวชเมื่ออายุมากแล้ว เรียกว่าเป็น “หลวงตา” ว่าอย่างนั้นเถอะ

หลวงตาวัยไม้ใกล้ฝั่งแล้ว ส่วนมากมักจะไม่ค่อยเอาธุระพระศาสนานักจนพระพุทธองค์ตรัสว่า “พระแก่ว่าง่ายหายาก พระแก่มีความเพียรหายาก พระแก่คงแก่เรียนหายาก พระแก่มักน้อยหายาก..”

แต่พระมหากัสสปะเป็นพระแก่องค์หนึ่งในจำนวนที่หายากนั้น ท่านถือธุดงค์ 3 ข้ออย่างเคร่งครัดคือ อยู่ในป่าตลอด ถือบิณฑบาตตลอด ใช้ผ้าเพียง 3 ผืนเท่านั้น ธุดงควัตรต่างๆ นั้นมีไว้สำหรับให้พระปฏิบัติเพื่อ “ขูดเกลากิเลส” ให้จิตใจสะอาด ลดความยึดมั่นถือมั่นลง พระที่บรรลุเป็นอรหันต์แล้ว หมดกิเลสแล้ว ไม่จำต้องถือธุดงค์แต่พระมหากัสสปะยังถือธุดงค์ 3 ข้อดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า เธอหมดกิเลสแล้ว ทำไมยังถือธุดงค์อยู่ ท่านกราบทูลว่า มิได้ถือเพื่อตัวท่านเอง หากแต่ถือเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลัง

คำกราบทูลนี้ ควรที่เราจะใส่ใจให้มาก ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองปัจจุบันนี้ ควรจะคิดถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานให้มาก ควรทำอะไรหลายๆ อย่างเพื่อให้ลูกหลานได้ถือเป็นแบบอย่าง แม้ว่าเรื่องนั้นๆ เราไม่ทำก็ได้ก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น ใช้จ่ายเงินทองอย่างประหยัด ไม่ซื้อไม่ใช้ของที่หรูหราฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ แม้ว่าเราจะมีเงินมากพอจะซื้อจะจ่ายทีละเป็นหมื่นเป็นแสนก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อปลูกฝังนิสัยประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือยให้แก่เด็กๆ

หรือมีระเบียบวินัย ยึดถือกติกาสังคมเคร่งครัด เช่น ขับรถเคารพกฎจราจร ไหว้พระก่อนนอนทุกวัน หรือทำอย่างอื่นที่ดีงาม เพื่อให้เด็กถือเอาเป็นแบบอย่าง

พ่อแม่บางคน บอกให้ลูกสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอนทุกคืน แต่ตัวเองนอนเอกเขนกฟังลูกสวดมนต์ ครั้นลูกถาม แล้วทำไมพ่อ/แม่ ไม่สวดบ้างล่ะ ก็แก้ตัวอ้อมๆ แอ้มๆ ว่า “พ่อ/แม่สวดมามากแล้ว ลูกสวดจนโตก็ไม่สวดได้มากเท่าพ่อ/แม่”!

ก่อนจะทำหรือไม่ทำอะไร นึกถึงคนภายหลังว่า ถ้าทำหรือไม่ทำอย่างนั้นๆ จะเกิดผลดีผลเสียแก่อนุชนรุ่นหลังอย่างไรหรือไม่ นับเป็น “สำนึก” ของผู้รับผิดชอบต่อสังคมแท้จริง พระมหากัสสปะเอง ท่านมี “สำนึก” ที่ว่านี้ครบครัน

ท่านเป็นพระป่าแท้ๆ แทนที่จะปลีกตัวเสวยสุขทางใจโดยลำพัง พอถึงคราวที่วงการพระศาสนาต้องการคนมาชำระสะสาง ท่านก็ “กระโดด” ออกมา (ทานโทษ ขอใช้คำนี้ มันเห็นภาพชัดเจนดี) ดำเนินการทันที

งานที่พระสารีบุตรเริ่มไว้ เป็นงานด้านวิชาการคือ ร้อยกรองพระธรรมวินัยเป็นหมวดหมู่ เมื่อพระสารีบุตรมาด่วนจากไปเสีย งานไม่เสร็จสมบูรณ์ ท่าน
มหากัสสปะจึงเข้ามาดำเนินการ แม้ท่านจะไม่ถนัดทางวิชาการ แต่ก็คัดเลือกพระเถระผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือ เช่น ได้พระอุบาลี มาช่วยด้านพระวินัย ได้พระอานนท์มาช่วยด้านพระธรรม และได้พระเถระอื่นๆ ช่วยกันเสริมเติมเต็ม พระพุทธศาสนาจึงมี “แบบ” ที่แน่นอนต่อมา

พระไตรปิฎกที่มีมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็เป็นผลแห่งการ “สืบสาน” ของพระมหากัสสปะ พระมหาเถระผู้มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อพระธรรมวินัยสูงยิ่งองค์นี้เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image