วงเสวนา ‘รถไฟจีน’ ชี้ ใช้ม.44สร้างปัญหาหนัก ถามรบ.ทำไมยอมเสียเปรียบ ทิ้งการต่อรอง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 2 กรกฎาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย จัดเสวนา “อนาคตประเทศไทย ภายใต้รถไฟจีน ม.44” ร่วมเสวนาโดย นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ The Nation รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมอิสระ นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และนายเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ดำเนินรายการ

นายสุภลักษณ์ กล่าวว่า จีนเป็นผู้เสนอตัวเข้ามาทำรถไฟให้หลายประเทศในภูมิภาคนี้ คือไทย และลาวกับอินโดนีเซียที่เริ่มก่อสร้างแล้ว โครงการสร้างรถไฟลาวจากหลวงน้ำทา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ 427 กม. งบ 6พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง และมีข้อตกลงเป็นที่ดินสองข้างทางรถไฟรวมแล้วเป็นแผ่นดิน1.9หมื่นไร่ โดยลาวมีเงื่อนไขว่างานโยธาต้องใช้บริษัทของลาวและต้องตั้งบริษัทร่วมทุนสองฝ่าย40เปอร์เซ็นต์ และอีก60เปอร์เซ็นต์กู้จากสถาบันการเงินของจีน ลาวเสียเปรียบจีนมากเนื่องจากไม่มีข้อต่อรองมากนัก เพราะไม่มีทั้งเงินทุนและเทคโนโลยี ขณะที่อินโดนีเซียที่กำลังทำรถไฟความเร็วสูงเส้นทางจาการ์ตา-บันดุงมีข้อตกลงกับจีนที่ดีกว่า งบ5.9พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งบริษัทร่วมทุนสองประเทศแต่อินโดนีเซียถือหุ้นใหญ่ แหล่งทุนมาจากจีน และรัฐบาลอินโดนีเซียไม่ต้องค้ำประกันเงินกู้

“เราสำคัญตัวผิดว่าจีนต้องการทางออกทะเลเส้นทางนี้ แต่จีนก็มีทางเลือกที่จะออกมหาสมุทรอินเดียทางพม่า การรัฐประหารทำให้เกิดขีดจำกัดในการดำเนินงานระหว่างประเทศ ขนาดรัฐบาลญี่ปุ่นยังออกมาตำหนิ รถไฟญี่ปุ่นจึงไม่อยู่ในแผนนี้ตอนแรก จนเราให้ญี่ปุ่นทำอีกสายหนึ่งไม่ต้องมาแข่งขันกับจีน การเจรจาเรื่องรถไฟจีนถึงวันนี้ดูยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แม้เราไม่มีเทคโนโลยีแต่วิศวกรไทยมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ ขณะที่ไทยไม่มีแผนคุณสมบัติรถไฟที่ต้องการสร้างเลย บอกเพียงว่าจะให้จีนสร้าง การเจรจา18รอบที่ผ่านมากลายเป็นว่าจีนเป็นผู้เสนอมาทั้งหมด ทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองน้อย ทั้งที่เราควรมีอำนาจต่อรองมากกว่าอินโดนีเซีย และกรณีใช้ม.44 ยกเลิกมาตรฐานวิศวกรเป็นการใช้อำนาจพิเศษยกเลิกมาตรฐานจะสร้างปัญหาต่อไป เพราะเมื่อญี่ปุ่นเข้ามาทำเราก็ต้องให้เงื่อนไขเดียวกับจีน จึงควรมีการทบทวนเรื่องนี้”

นายสุภลักษณ์กล่าวต่อไปว่า อยากให้รัฐบาลหยุดโครงการนี้ไว้ก่อน ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองระยะสั้น การทำโครงการใหญ่จึงไม่เหมาะกับรัฐบาลนี้ ส่วนตัวมองว่ารถไฟความเร็วสูงที่จะสร้างไม่ตอบโจทย์อะไร ในแง่การขนสินค้าจากโคราชมากรุงเทพยังมองไม่เห็นสินค้าชนิดใด หากใช้ขนผู้โดยสารควรได้ความเร็วมากกว่านี้เพื่อลดระยะเวลา

Advertisement

นายชาตรี กล่าวว่า การยกเลิกบางมาตราของพ.ร.บ.วิศวกรและสถาปนิก และตกลงกันว่าจะมีการอบรมให้วิศวกรและสถาปนิกจีน และมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกัน เป็นการมองผิดประเด็น เพราะการใช้ม.44งดเว้นมาตรฐานบางอย่างเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง รัฐบาลควรทบทวนเรื่องนี้เพราะเป็นการสร้างสองมาตรฐาน โดยเฉพาะคำสั่งคสช.ที่ให้ยกเว้นกฎหมายบางฉบับเรื่องการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้าง และการยกเว้นพ.ร.บ.สถาปนิกและวิศวกรซึ่งไม่ใช่เรื่องการแย่งงาน แต่จะส่งผลต่อมาตรฐานความปลอดภัย คุณภาพ และจรรยาบรรณประกอบวิชาชีพซึ่งจะนำมาใช้ในการก่อสร้างงานขนาดใหญ่ ทั้งที่ต้องมีการร่วมตรวจสอบควบคุมมาตรฐานวัสดุที่ใช้ซึ่งมีความแตกต่างกันในสองประเทศ เพราะถ้าใช้วัสดุจากจีนทั้งหมดจะเป็นการเสียหายมาก ข้อต่อรองของเราจึงดูจะเสียเปรียบทุกประตู

“ตอนแรกเราเห็นการต่อต้านจากสภาวิศวกรและสถาปนิกไทย แต่ไม่กี่วันมานี้ตกลงกันว่าจะมีการจัดอบรมให้สถาปนิกและวิศวกรจีน 2 วัน แล้วจัดการทดสอบซึ่งหากสอบไม่ผ่านสามารถสอบซ้ำได้ และจะมีการออกใบรับรองให้ โดยสถาปนิกจีนที่มีตำแหน่งศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ใช้การสอบด้วยการสัมภาษณ์ ถ้าจะทำแบบนี้ก็ให้การสอบแบบนี้เป็นมาตรฐานการสอบสถาปนิกไทยเลยไหม นี่เป็นการสร้างละครฉากหนึ่งเพื่อให้ผ่านกระบวนการนี้เท่านั้น อยากบอกไปถึงสภาสถาปนิกและวิศวกรไทยที่รู้อยู่แล้วว่าสิ่งนี้ไม่ใช่มาตรฐาน ควรมีการทบทวนก่อนที่จะทำให้สภาวิชาชีพไม่มีค่า” นายชาตรีกล่าว

Advertisement

ด้านนายสิรวิชญ์ กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วปานกลางไทยจีนเป็นการใส่พานประเคนให้จีน โดยเส้นทางรถไฟทั่วประเทศจะมี4เจ้าภาพมาทำคนละเส้นทางโดยศูนย์กลางอยู่ที่บางซื่อ ซึ่งอาจมีปัญหาในการบริหารจัดการในอนาคตเมื่อมีการแยกบริหารแต่ละเส้นทาง การที่รัฐบาลไทยไม่เปิดประมูลจะเป็นปัญหาใหญ่ เราจะเสียเปรียบตั้งแต่เริ่มเจรจา เมื่อไม่ได้ตั้งต้นด้วยการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ เหตุใดรัฐบาลจึงยอมเสียเปรียบตั้งแต่แรก

นายรังสิมันต์กล่าวว่า จากที่ตนไปยื่นหนังสือเพื่อให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่ไปตกลงกับจีน เพราะในเว็บไซต์รัฐบาลมีรายละเอียดน้อยมาก ไทยละทิ้งการต่อรองอย่างมีนัยยะสำคัญ ที่ผ่านมารัฐไม่ได้ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลที่จะเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ รวมถึงการใช้ม.44เร่งรัดโครงการ และการงดเว้นกฎหมาย7ฉบับเกี่ยวกับการเสนอราคาและการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้เกิดความโปร่งใส การยกเว้นเช่นนี้จะทำให้ทางจีนและวิศวกรจีนละเว้นจากการถูกลงโทษหากทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่

“การใช้มาตรา44แสดงให้เห็นว่าโครงการรถไฟมีความสำคัญมากจึงต้องเร่งรัด และไทยไม่มีตัวเลือกมากนัก ทำให้จีนสามารถกำหนดราคาได้ ผลประโยชน์จึงตกไปที่จีนมากกว่าไทย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศเสียผลประโยชน์มหาศาล โดยทอดทิ้งการต่อรองเพื่อเอาใจจีน และหันหลังให้ประเทศที่ต้องการให้ไทยเป็นประชาธิปไตยทั้งที่เขามีศักยภาพในการสร้างรถไฟความเร็วสูงเช่นกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนที่ไม่ชอบ คสช. แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ประเทศชาติที่ประชาชนต้องเข้ามาแบกรับ” นายรังสิมันต์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image