เอกชนห่วงกม.แรงงานกระทบธุรกิจ เมินเทียร์ 2 วอตช์ลิสต์…ไม่ระคาย

ประเด็นร้อนที่ถูกจับตามองมาหลายสัปดาห์ต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ คงหนีไม่พ้นการประกาศบังคับใช้ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเป็นการรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าวไว้ในฉบับเดียว ให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงแรงงาน ซึ่งสาระสำคัญที่ถกเถียงกันอย่างมาก คือ การเพิ่มโทษให้สูงขึ้น โดยเฉพาะโทษปรับนายจ้างจะแยกตามจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ เช่น นายจ้างที่จ้างต่างด้าวทำอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำหรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของสหรัฐอเมริกาที่ออกเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (ทิปรีพอร์ต) ประจำปี 2560 โดยคงสถานะไทยอยู่ในบัญชีที่ต้องเฝ้าจับตามอง (เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์) ในวันที่ 27 มิถุนายน เพราะมองว่ารัฐบาลไทยยังไม่สามารถทำตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดในการขจัดการค้ามนุษย์ได้ และไม่ได้แสดงความพยายามที่มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ในการเอาผิดและลงโทษต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดในข้อหาค้ามนุษย์ และเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ร่วมกระทำผิด ขณะเดียวกันยังคงขัดขวางความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ เพราะถึงแม้ว่าการสอบสวนเรื่องการใช้แรงงานบังคับจะเพิ่มขึ้น แต่ที่ระบุตัวตนของเหยื่อค้ามนุษย์เพื่อนำมาใช้แรงงานบังคับยังน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้น

หลายคนมองว่าทั้ง 2 เรื่องนี้อาจจะมีส่วนเกี่ยวโยงกัน นั่นก็เพราะการออกกฎหมายของไทยมีผลก่อนการประกาศผลของสหรัฐเพียงไม่กี่วันเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากความใกล้เคียงของระยะเวลาที่ออกมาไล่เลี่ยกัน และสาระสำคัญของกฎหมายที่ปรับปรุงเพิ่มโทษ คล้ายกับทำเพื่อตอบโจทย์ข้อเสนอแนะจากต่างชาติ เรื่องการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะหากไทยถูกจัดให้อยู่เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ ก็อาจจะถูกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีจากสหรัฐ ซึ่งจะทบต่อการส่งออกของไทย แต่ท้ายที่สุดก็ยังขยับหนีไม่ได้ ส่วนผลกระทบจะเป็นอย่างไรต้องฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

มองเทียร์2วอตช์ลิสต์ไม่กระทบส่งออก

Advertisement

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) และผู้อำนวยการ สคต. (ทูตพาณิชย์) ในสหรัฐและทั่วโลกติดตามสถานการณ์การนำเข้าสินค้าไทย และชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้นำเข้าสินค้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง ถึงความตั้งใจและจริงจังต่อการดูแลปัญหาการค้ามนุษย์ โดยยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์ยังเดินหน้าผลักดันการส่งออก และยืนยันเป้าหมายการขยายตัว ส่งออกทั้งปีนี้ไว้ที่ 5% ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการค้าโลกเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดจีน กลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) และสหรัฐ

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ประเมินว่า เมื่อไทยยังอยู่เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ จะกระทบกับภาพลักษณ์สินค้าประมงของไทยที่ส่งออก โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐและยุโรป ที่ยังมีความสุ่มเสี่ยงเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ อาจจะส่งผลให้การนำเข้าและสต๊อกสินค้าประมงของไทยของต่างประเทศลดลงได้ อย่างไรก็ดี สินค้าประมงของไทย ยังได้รับการยอมรับถึงคุณภาพ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า การส่งออกสินค้าประมงของไทย เมื่อไทยได้ถูกจัดอันดับให้อยู่ในเทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ 2 ปีติดต่อกัน คือ ตั้งแต่ปี 2559 และ 2560 ถือว่าอยู่ในอันดับเดียวกับปี 2556 แต่ในปี 2557 และ 2558 ได้ลดอันดับอยู่ในระดับประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐ และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ (เทียร์ 3) ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ พบว่าการส่งออกสินค้าประมงทั้งหมดในปี 2555 อยู่ที่ 2,823 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า 8.52% ในปี 2556 อยู่ที่ 2,101 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 25.58% ในปี 2557 อยู่ที่ 2,102 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.06% ในปี 2558 อยู่ที่ 1,751 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 16.68% ปี 2559 อยู่ที่ 2,022 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.43% และล่าสุด 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ปี 2560 อยู่ที่ 791 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.11%

ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย มองว่า การจัดอันดับรอบนี้ไม่มีผลต่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าประมง เพราะปีที่ผ่านมาก็ค้าขายกันปกติ และสินค้าประมง เช่น กุ้ง ทูน่า ก็มียอดส่งออกเติบโตต่อเนื่อง

จับตาผลกระทบ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว

นายพจน์เปิดเผยว่า ภาคเอกชนบ่นกันทั่วประเทศถึง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ โดยเฉพาะผู้ต้องใช้แรงงานต่างด้าว รวมถึงรายย่อยที่จ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เช่น แม่บ้านตามบ้าน แรงงานภาคเกษตร และลูกจ้างตามร้านอาหารและบริการเล็กๆ เป็นต้น ด้วยเห็นว่ากฎหมายออกมาใช้อย่างกะทันหัน มีโทษที่สูงเกินไป จนถึงขั้นอาจส่งผลให้เกิดความตระหนก แรงงานต่างด้าวกลับประเทศ ไทยขาดแรงงานที่จะขับเคลื่อนธุรกิจ เป็นต้น

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ยอมรับว่า เรื่องนี้มีผลกระทบทันทีกับอุตสาหกรรมร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก เพราะต้องยอมรับว่าแรงงานที่ร้านอาหารต่างๆ รับไว้ทำงาน ไม่ได้ขอดูใบรับรองว่าทำงานประเภทนั้นๆ ได้ทั้งหมด จากปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการ คือ ต้องการจ้างแรงงาน แต่แทบไม่มีคนไทยเข้ามาทำงานด้านนี้เลย เช่น เสิร์ฟ ล้างจาน ถ้าเราไม่รับแรงงานจากเพื่อนบ้าน ธุรกิจก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในการออกกฎหมายรัฐบาลควรจะต้องคุยกับคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในฐานะที่มีสมาชิกและการจ้างงานด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่กำลังได้รับผลกระทบและกำลังวุ่นวายกันอยู่ในขณะนี้ เพราะเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ทันที ย่อมส่งผลให้เอสเอ็มอีลำบากเข้าไปใหญ่ เพราะบางรายมีลูกจ้าง 20-30 คน ต้องใช้เวลาเตรียมตัวและต้องนำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียน น่าจะมีช่วงเวลาให้เอสเอ็มอีได้เตรียมตัวก่อน

กกร.ชง4ข้อเสนอทางออกชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม พอเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.ก.ดังกล่าวค่อนไปทางติมากกว่าชม เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาตัวแทน กกร.ได้ยื่นหนังสือแก่กระทรวงแรงงาน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีข้อเสนอ 4 ข้อ ซึ่งรวบรวมจากสมาชิก กกร.ทั่วประเทศ ได้แก่ 1.ควรเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศ ณ ศูนย์เบ็ดเสร็จด้านแรงงาน ตามระยะเวลาที่กระทรวงแรงงานเห็นสมควรเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ได้เข้าสู่ระบบการทำงานที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย 2.ควรพิจารณาให้มีผู้แทนภาคเอกชน เช่น กกร. เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อกฎหมายอนุบัญญัติ 39 ฉบับ เพื่อให้พระราชกำหนดสามารถปฏิบัติได้อย่างเห็นผล และไม่กระทบต่อสังคมการจ้างแรงงานต่างด้าวจนมากเกินไป 3.ควรให้มีการกำหนดกฎหมายอนุบัญญัติเฉพาะในการจ่ายค่าชดเชยแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานกับนายจ้างในประเทศ และ

4.ควรมีการประชาสัมพันธ์พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว อย่างเร่งด่วนในการให้ความรู้และความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายกับผู้ประกอบการ ตลอดจนให้ตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาของกระทรวงแรงงาน ในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแรงงาน

จ่อใช้ ม.44 ลดยาแรง กม.แรงงานต่างด้าว

ส่งผลให้เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กกร.ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีให้รับทราบ โดยได้ข้อสรุปว่าจะใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ 3 มาตราใน พ.ร.ก.ดังกล่าวออกไป 120 วัน ซึ่งจะมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ซึ่ง 3 มาตราดังกล่าว คือ มาตรา 101, 102 และ 122 ที่เป็นการกำหนดค่าปรับรวมถึงบทลงโทษที่รุนแรงกับนายจ้างและลูกจ้างที่กระทำผิดกฎหมาย พร้อมระบุว่าระหว่างนี้จะไม่มีการจับกุมหรือกวดขันแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย เว้นแต่จะเกี่ยวข้องความผิดค้ามนุษย์ โดยแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ต้องกลับไปทำเรื่องให้ถูกต้องก่อน โดยหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่านายกรัฐมนตรีจะใช้ ม.44 ออกคำสั่งดังกล่าวในเร็วๆ นี้

ด้านนายพจน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ จะมีการประชุม กกร. โดยจะมีการพูดคุยกันเกี่ยวกับแรงงานด้วย ส่วนจะลงลึกรายละเอียดอย่างไร คงต้องรอดูคำสั่งจาก ม.44 ก่อน โดยตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายหลังจาก พ.ร.ก.นี้บังคับใช้ได้ ไม่ทราบว่ามีแรงงานเดินทางกลับประเทศเท่าไหร่ ธุรกิจหยุดเท่าไหร่ รวมทั้งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมีแค่ไหน แต่คาดว่าจะไม่ต่ำกว่าล้านคน ส่วนที่ถูกกฎหมายมีราว 3 ล้านคน

ตอนนี้หลายฝ่ายต่างรอลุ้น “ไพ่” ใบใหม่ของรัฐบาลจะออกมาอย่างไร สามารถแก้ปมแรงงานต่างด้าวและค้ามนุษย์ได้จริงหรือไม่ นั่นเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกจับตามองเฉพาะคนไทย ต่างชาติก็ไม่ละสายตาหนีไปไหนเหมือนกัน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image