เกษตรฯชู“ศาสตร์พระราชา” ลดวิกฤตโลกร้อนภัยคุกคามความมั่นคงอาหารเสนอที่ประชุมใหญ่ เอฟเอโอสมัยที่40

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมเข้าร่วมประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ( FAO Conference ) สมัยที่ 40 พร้อมกล่าวถ้อยแถลงภายใต้หัวข้อ “ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกษตร และความมั่นคงอาหาร” ณ กรุงโรม อิตาลี ว่าไทยพร้อมสนับสนุน แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ ความสำเร็จ และองค์ความรู้กับประเทศสมาชิกในเรื่อง “ศาสตร์พระราชา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาที่มีความลึกซึ้งรอบด้านและมองการณ์ไกลในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารจัดการน้ำและดิน ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวนมากกว่า 4,000 โครงการ อาทิ ฝนหลวง โครงการแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำเสียโดยใช้ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ปลูกหญ้าแฝก เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นต้น สามารถยกระดับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี พระองค์ท่านเป็นแบบอย่างในการปฏิรูปการเกษตรที่รัฐบาลนี้นำมาเป็นแบบอย่าง โดยได้กำหนดนโยบายพัฒนาการเกษตรและสร้างความมั่นคงด้านอาหารท่ามกลางผลกระทบของสภาพอากาศ เช่น การพัฒนาองค์ความรู้ให้เกษตรกร ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ฯ ทั่วประเทศ โดยทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ ใช้แผนที่เกษตรเชิงรุก เป็นเครื่องมือ ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน สินค้าเกษตร มีมาตรฐาน ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรอินทรีย์ ที่ปราศจากสารเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระจายน้ำจากแหล่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร บริหารจัดการน้ำให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม และภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรมีความมั่นคงมากขึ้น

“ไทยยืนยันการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานร่วมกับเอฟเอโอ ในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการพัฒนาด้านการเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อให้เป็นไปตามความตกลงปารีสซึ่งไทยร่วมเป็นภาคี โดยมีโรดแมป ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25 % ภายในปี 2030 รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นระยะเวลา 35 ปี ระหว่างปี 2015-2050 ซึ่งมีกรอบแนวทางดำเนินการ 3 แนวทาง คือ 1.การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ 3.การสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเอฟเอโอนั้น ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์การฯ เมื่อ 27 สิงหาคม 2490 โดยในปี 2560 ประเทศไทยจ่ายค่าบำรุงสมาชิก ประมาณ 40.9 ล้านบาท และไทยได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการ ในระดับประเทศ เป็นประจำทุกปีๆ ละ ประมาณ 300,000 เหรียญสหรัฐ ตั้งแต่เริ่มมีโครงการปี 2520 จนปัจจุบันกว่า 100 โครงการ ซึ่งครอบคลุมหลายๆ ด้าน อาทิ ด้านปศุสัตว์ ด้านการประมง ด้านการชลประทาน ด้านป่าไม้ ด้านการปรับปรุงดิน เช่น การควบคุมการขนส่งปศุสัตว์ โครงการด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โครงการศึกษาผลกระทบจากการทำนากุ้งในพื้นที่น้ำจืด และการฟื้นฟูที่เนื่องจากปัญหาดินเค็ม เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image