คสช.ออก ม.44 ไม่จับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย6เดือน ผ่อนคลาย ปัญหากลับประเทศ

คสช.ออกม.44 ผ่อนคลายปมรง.ต่างด้าว ออกไป 6 เดือน สิ้นสุด 31 ธ.ค. 60 พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 61

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีวาการกระทรวงแรงงาน นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน และพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการประชุมคสช.เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว นายวิษณุ กล่าวว่า และเรื่องการแก้ปัญหาอันเกิดจากการบังคับใช้พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งกฎหมายสองฉบับนี้มีผลบังคับใช้ออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน เกิดผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ต้องประกาศใช้พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว เป็นความจำเป็นที่ไทยต้องแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวตามพันธะกรณีที่เรามีกับต่างประเทศ ตามมาตรฐานสากล เรื่องไอยูยู ไม่เช่นนั้นเราจะถูกตอบโต้ทางการค้า โดยอ้างว่าเราหย่อนยานต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งนี้พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ออกมา 145 มาตรา ซึ่งถูกถามว่าทำไมไม่ออกเป็นพ.ร.บ. ก็เพราะสภาจะใช้เวลาพิจารณายาวนานกว่า 6 เดือนกว่าจะออกมาเป็นกฎหมายได้ แต่เวลาบีบว่าเราต้องออกมาในเวลาอันเร็วเพื่อสามารถบริหารจัดการได้หลายอย่าง ส่วนทำไมไม่ออกเป็นม.44 ตั้งแต่แรก ก็เพราะเราไม่เคยใช้ม.44 ออกกฎหมายถึง 145 มาตรา แต่การออกม.44นั้นต้องเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ชั่วคราว แต่พ.ร.ก.ต้องเป็นกฎหมายที่ยั่งยืนถาวร จึงต้องรอบคอบและรวดเร็วจึงออกมาเป็นพ.ร.ก.
นายวิษณุ กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวในไทยมีหลายประเภท คือ แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย มาในระดับสูง เช่นซีอีโอ , แรงงานต่างด้าวที่มีพาสปอร์ต ได้รับอนุญาต แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามใบอนุญาตนั้น ในเรื่องสถานที่ทำงาน ชื่อนายจ้าง อย่างนี้เรียกว่าผิดกฎหมายแต่จัดการง่ายคือไม่ต้องออกไปนอกประเทศ แต่ไปติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดที่มีทุกจังหวัด ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงเท่านั้นในการแก้ไขใบอนุญาตให้ถูกต้อง กำหนดสถานที่ กำหนดชื่อนายจ้าง , แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย วีซ่าไม่มี ไม่มีใบอนุญาตทำงาน เรียกว่าผิดทุกอย่าง เป็นแรงงานผิดกฎหมายโดยแท้ พวกนี้เป็นแรงงานที่ไอยูยูจับตาดู ประเทศเพื่อนบ้านเราจับตาดูว่าเราจะทำอย่างไรกับพวกนี้

นายวิษณุ กล่าวว่า ดังนั้นตามข้อตกลงที่เราทำตามพันธะกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงต้องให้ประเทศเจ้าของบ้านได้ตรวจสอบสถานะภาพพิสูจน์บุคคล มีประวัติอาชญากรรมหรือไม่ จึงจำเป็นต้องส่งกลับไป พ.ร.ก.นี้จึงให้ส่งออกไปทั้งหมด หากมีการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายโดยแท้นี้จะมีความผิดทั้งนายจ้างทุก ที่ต้องถูกปรับ 4 แสนบาท ถึง 8 แสนบาท ส่วนลูกจ้างก็ต้องถูกปรับในโทษที่เบาลงมาหน่อยอาจจะ 2-3 แสนบาท

นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อเห็นว่าพ.ร.ก.สำแดงฤทธิ์ ให้เกิดสุญญากาศแรงงานขึ้น ทางคสช.จึงออกคำสั่งตามมาตรา 44 โดยมีหลักการ ว่า ไทยกำหนดเจตนารมณ์ยืนยันว่า ถึงอย่างไรก็ยังมีนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างไม่ลดราวาศอก แต่ขณะเดียวกันเรามีความเป็นห่วงเศรษฐกิจภายในประเทศ ห่วงความสงบเรียบร้อยของสังคมในประเทศ เพื่อไม่ให้มีอะไรหยุดยั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย การประกอบกิจการ การแข่งขันการค้าต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องช่วยเหลือในเรื่องนี้ ส่วนกรณีโทษแรงตาม 4 มาตราในพ.ร.ก.ที่ปรับ4-8 แสนบาท จึงให้ 4 มาตรานี้หยุดการใช้นั้นแล้วยืดเวลาออกไป อีก 6 เดือน หรือประมาณ 180 วัน เพราะเราไม่ต้องการให้แรงงานทะลักออกนอกประเทศในทีเดียว แต่ให้นายจ้างทำเป็นพลัดทีละชุดได้ เพื่อให้มีแรงงานหมุนเวียนอยู่ เพราะต่อรายจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ดังนั้นขยายให้ 6 เดือนสิ้นสุด 31 ธ.ค. 60 และเริ่มใช้พ.ร.ก. ในวันที่ 1 ม.ค. 61 เป็นต้นไปดังนั้นมีผลบังคับใช้พ.ร.ก.ปกติในบัดนั้น

Advertisement

นายวิษณุ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามคำสั่งม.44 ผ่อนคลายให้ ระหว่าง 6 เดือนนี้จะไม่มีการจับปรับดำเนินคดี ให้มีการผ่อนผันเรื่องการเข้าออกเมือง เหมือนที่เคยปฏิบัติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ผิดตามม.157 แต่ถ้าจนท.ไปจับจะโดนผิดม. 157เอง ในคำสั่งเขียนไว้ด้วยว่าไม่ให้เจ้าหน้าที่รีดไถ ไม่ให้เรียกเงิน ไม่ให้ทุจริต ไม่ให้เอาไปกักขังใดๆทั้งสิ้น แต่ห้ามอำนวยความสะดวกจนกระทั่งเซลฟี่กัน ขณะเดียวกันให้ระวังสกัดกั้นแรงงานใหม่ที่จะเข้ามา เพราะส่วนมากจะมีนายหน้าคอยจัดการ ไม่ให้อาศัยเข้ามาด้วย และให้กระทรวงแรงงานใช้เวลา 6 เดือนนี้ไปทบทวน พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่าจะปรับปรุงแก้ไขอัตราโทษอย่างไร มาตรการอย่างไร ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ คสช.ก็ได้ท้วงเรื่องการออกระบบการอนุญาต หรือระบบกรรมการเท่าที่จำเป็น จึงให้กระทรวงแรงงานไปสำรวจความจำเป็น โดยนายกฯระบุว่าให้เวลากระทรวงแรงงานเพียง 4 เดือน แล้วอีก 2 เดือนรัฐบาลจะได้พิจารณา เผื่อจำเป็นต้องออกเป็นพ.ร.ก.แก้ไขก็ต้องออก

พล.อ.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องจัดระเบียบแรงงานตามมาตรฐานสากล หลังจากนี้เป็นต้นไป กระทรวงแรงงานจะออกประกาศให้นายจ้างที่มีแรงงานผิดกฎหมาย มาติดต่อสำนักงานจัดหางานทั่วประเทศเพื่อขึ้นบัญชี จากนั้นจะปรับปรุงงานอำนวยความสะดวกแก่สถานประกอบการหรือนายแจ้งที่มีแรงงานต่างด้าว พร้อมทบทวน พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ฉบับปัจจุบันนี้ด้วย ทั้งนี้กระทรวงแรงงานต้องขอความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

อธิบดีกรมการจัดหางาน ยัน แรงงานต่างด้าวผิด กม. ไม่เกิน 1 ล้าน แรงงานเข้าระบบทัน 31 มีนา แน่นอน

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย 3 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทที่ถูกกฏหมายทั้งหมด คือ มีใบอนุญาตทำงานและใบอนุญาตเข้าเมืองถูกต้อง 1.3 ล้านคน 2. ประเภทที่ถือบัตรสีชมพูหรือได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวถึง 31 มีนาคม ซึ่งมีภาระจะต้องไปออกเอกสารประจำตัว 1.3 ล้านคน โดยรัฐบาลไทยได้ทำการตกลงกับ 3 ชาติ ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว เพื่อมาตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย 5 ศูนย์ ที่สมุทรสาคร 2 ศูนย์ สมุทรปราการ แม่สอด แม่สาย อย่างละ 1 ศูนย์ ขณะนี้ทางเมียนมาร์ดำเนินการไปแล้ว 180,000 คน และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทางกัมพูชาเองก็ได้นำเอกสารประจำตัวมาแจกให้คนของตนในประเทศไทย ส่วนลาวกำลังจะเริ่มต้นดำเนินการในเดือนหน้า โดยสรุปแล้วทั้ง 3 ชาติ ได้ดำเนินการตามข้อตกลง เพื่อให้แรงงานในประเภทที่ 2 ทั้ง 1.3 ล้านคน กลายเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฏหมาย

นายวรานนท์ กล่าวว่า ส่วนในประเภทที่ 3 แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ไม่สามารถยืนยันตัวเลขทั้งหมดได้ แต่ประมาณการว่า ไม่เกิน 1 ล้านคน ซึ่งเกิดจากการประเมินตัวเลขเวลาเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว จะมีตัวเลขอยู่ราวๆ 1.1-1.2 ล้านคน แต่ขณะนี้แรงงานผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบแล้ว 4 แสนคน จึงประมาณการว่า มีเหลืออยู่ไม่ถึง 1 ล้านคน มาตรการที่จะดำเนินการเป็นมาตรการแรก คือ การเปลี่ยนนายจ้างในใบอนุญาตทำงาน เพื่อให้แรงงานที่มีความผิดจากการเปลี่ยนนายจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาตกลายเป็นแรงงานถูกกฎหมาย ตัวเลข 11 วันที่ผ่านมามีนายจ้างพาแรงงานมาเปลี่ยนทั้งหมด 8 พันราย

นายวรานนท์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้มาตรการรองรับสำหรับแรงงานประเภทที่ 3 แรงงานผิดกฎหมายมี 2 ทางเลือก 1. มาตการ MOU นายจ้างส่งกลับบ้านแล้วไปทำเรื่องขอกลับเข้ามาใหม่ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ทางการไทยใช้เวลา 15 วัน ส่วนเวลาที่เหลือขึ้นอยู่กับประเทศต้นทาง 2. พิสูจน์ทราบความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งเจรจากับทางเมียนมาร์สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทางการไทยจะทำการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้ และส่งให้ทางการพม่า หลังจากนั้นเมียนมาร์จะออกใบรับรองสัญชาติ ซึ่งสามารถใช้ขอใบอนุญาตเข้าเมืองและใบอนุญาตทำงานได้ 2 ปี เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการมาตรการทั้งหมดเพื่อนำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบภายใน 31 มีนาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image