นักวิชาการค้าน ฟื้นหลักสูตรครู 4 ปี ชี้คนเห็นต่างมาก ขาดการวิเคราะห์

นาวาอากาศโทสุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและ บริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการคุรุสภาที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเห็นชอบในหลักการให้กลับไปผลิตครู 4 ปี โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบมาตรฐานวิชาชีพครู ซึ่งมีนายไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตประธานกรรมการคุรุสภา เป็นประธาน ไปจัดทำข้อเสนอการผลิตครูทั้งระบบ ว่า ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง อดีตเราก็เคยเปิดสอนในหลักสูตรครู 4 ปี ต่อมา ปี2542 เห็นว่าควรยกระดับวิชาชีพครู เป็นวิชาชีพชั้นสูงเช่นเดียวกับแพทย์ จึงควรเพิ่มการฝึกปฏิบัติการสอนให้เข้มข้นมากขึ้น และปรับมาเป็นหลักสูตรผลิตครู 5 ปีแทน ซึ่งขณะนี้หลักสูตรครู 5 ปีเริ่มเดินมาถูกทาง เป็น 1 ใน 5 สาขาวิชาที่เด็กเลือกเข้าเรียน ที่สำคัญสามารถคัดคนเก่งมาเป็นครูเพิ่มในระบบได้มากขึ้นตามเป้าหมาย

“ผมไม่เห็นด้วย แม้จะเป็นข้อเสนอของส.ค.ศ.ท. เอง แต่ก็เป็นข้อเสนอที่มีคนเห็นต่างค่อนข้างมาก เป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างเร็ว ขาดการวิเคราะห์ที่นุ่มลึก ตอนนี้หลักสูตรผลิตครู 5 ปี พัฒนามาถูกทางแล้ว สามารถคัดคนเก่งมาเป็นครูได้ ซึ่งไม่เข้าใจว่า เราจะถอยหลังกลับไปเป็นหลักสูตร 4 ปีเพื่ออะไร อีกทั้งหากปรับเปลี่ยนตอนนี้ เด็กที่เรียนหลักสูตร 5 ปี ปัจจุบันก็จะเสียเปรียบ โดยเฉพาะเด็กที่เข้าเรียนชั้นปีที่1 ปีการศึกษา 2560 ที่ต้องเรียน 5 ปี แต่จบพร้อมเด็กที่เรียนหลักสูตร4 ปีที่จะใช้ในปีการศึกษา 2561 จากที่จบปีละ1 แสนคน ก็เป็น 2 แสนคน “นายสุมิตรกล่าวและว่า ส่วนการปรับการได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จากผู้ที่เรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จะได้โดยอัตโนมัติ มาเป็นสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ นั้นตนเห็นด้วย เพราะต้องยอมรับว่ามาตรฐานแต่ละมหาวิทยาลัยไม่เท่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image