บอร์ด’กสทช.’โละเกณฑ์OTTทิ้ง เหตุมีจุดอ่อนเพียบหวั่นถูกฟ้อง-เตรียมยกร่างเป็นกม.มีผลใช้ก่อน6ต.ค.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์บนโครงข่ายอื่น ที่ให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ต (Over the Top) หรือ OTT โดยที่ประชุมมีมติใน 3 ประเด็น คือ 1.รับทราบรายงานของ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ในฐานประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ OTT 2.บอร์ด กสทช.เห็นว่าตามหลักกฎหมายทั่วไป การดำเนินธุรกิจประเภทใดต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งผู้ให้บริการ OTT ที่ให้บริการในไทยก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย บอร์ด กสทช.จึงมีมติว่าผู้ให้บริการ OTT ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

นายฐากรกล่าวว่า 3.บอร์ด กสทช.ได้มีมติให้ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ให้บริการ OTT ด้วยการออกเป็นประกาศ กสทช. เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย โดยให้คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ OTT ที่มี พ.อ.นที เป็นประธาน ไปดำเนินการจัดทำร่างหลักเกณฑ์กำกับดูแล OTT ภายใน 30 วัน ซึ่งขั้นตอนหลังจากนั้นเมื่อบอร์ดอนุมัติจะนำไปทำประชาพิจารณ์ระยะเวลา 60 วัน เพื่อรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการ นักวิชาการ ประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ก่อนมีการปรับแก้และนำเสนอต่อบอร์ด กสทช.พิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย และนำไปประกาศราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้คาดตลอดกระบวนการใช้เวลาทั้งสิ้นราว 90 วัน หรือให้เสร็จก่อนวันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งเป็นกำหนดครบวาระของบอร์ด กสทช.ชุดปัจจุบัน เพื่อให้เป็นผลงานส่งท้าย นอกจากนี้อีกสาเหตุที่ กสทช.ต้องเร่งดำเนินการเนื่องจากบอร์ด กสทช.เห็นว่าการกำกับดูแล OTT เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญ

“เมื่อมีการร่างกฎหมายขึ้นใหม่ ดังนั้นก่อนหน้านี้ที่ กสทช.ได้เปิดให้ผู้ให้บริการ OTT มาลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ OTT ภายใต้กฎหมายไทยกับ กสทช. จึงต้องยกเลิกทั้งหมด รวมถึงเส้นตายที่ให้เฟซบุ๊ก ยูทูบ และเน็ตฟลิกซ์ ต้องมาลงทะเบียนก่อนวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ ก็ต้องยกเลิกด้วยเช่นกัน โดยเบื้องต้นในกฎหมายใหม่จะกำหนดให้ผู้ที่เข้าข่ายเป็นผู้ให้บริการ OTT ในประเทศไทยมาลงทะเบียนอีกครั้งภายใน 90 วัน ภายหลังกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้” นายฐากรกล่าว และว่า การที่บอร์ด กสทช.ต้องเริ่มดำเนินการ OTT ใหม่ เนื่องจากมีหลายภาคส่วนมีข้อห่วงใย ซึ่งบอร์ด กสทช.ก็เห็นด้วยว่าหลักเกณฑ์เดิมที่ออกไปก่อนหน้านี้มีจุดอ่อนอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องในภายหลังได้ อีกทั้งการดำเนินการภายใต้มติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) นั้นก็ไม่ควร เพราะ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดให้มีบอร์ดย่อย คือ กสท. ฉะนั้นจึงควรดำเนินการโดยบอร์ดที่มีอำนาจเต็มคือ กสทช. มากกว่า

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image