“สบพ.”อ้อนของบ900 ล้านสร้างศูนย์ฝึกแห่งใหม่รองรับอุตฯการบินขยายหากปลดธงแดง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (เอ็มโอยู) สำหรับการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ ระหว่าง สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)ว่า เป็นความร่วมมือต่อเนื่องภายหลังจากที่สบพ.ได้ลงนามร่วมกับกองทัพเรือ ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฯ ณ สนามบินอู่ตะเภา และครั้งนี้เป็นการลงนามร่วมมือกับการบินไทยในการร่วมกันพัฒนา และผลิตบุคลากรด้านการบิน โดยเฉพาะด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน ให้มีองค์ความรู้ ความสามารถ ทักษะ ได้มาตรฐานสากลให้สอดคล้องตามแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาค ซึ่งในแต่ละปี สบพ.สามารถผลิตบุคลากรด้านการบินได้ประมาณ 500 คน อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในอีก 20 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ สบพ. จะต้องวางแผนเพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรได้เพียงพอและเหมาะสม

พล.ร.ต.ปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าสถาบันการบินพลเรือน(สบพ.) กล่าวว่า ขณะนี้สบพ.ผลิตนักบินได้ประมาณปีละ 80-120 คน ซึ่งไม่อาจเพียงพอต่อความต้องการในอนาคตอันใกล้ หากไทยได้รับการปลดล็อกธงแดงจากองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) จะส่งผลให้ตลาดด้านการบินขยายตัวมากขึ้น ดังนั้น สบพ. จึงเตรียมเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบประมาณ 900 ล้านบาท เพื่อขยายศูนย์ฝึกการบินแห่งที่2 ทั้งการก่อสร้างอาคารเรียน อาคารที่พัก รวมถึงเพิ่มจำนวนครูฝึก และเครื่องบินที่ใช้ในการสอน ให้สามารถผลิตนัดบินได้เพิ่มขึ้นเป็น 150 คน โดยเบื้องต้นมองไว้ที่บริเวณจ.ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ และตาก เนื่องจากไม่ใช่จังหวัดที่มีสนามบินหลัก ทำให้ไม่ติดปัญหาการขึ้นลงของเครื่องบิน และปริมาณการจราจรทางอาการยังไม่หนาแน่น คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีงบประมาณนี้

พล.ร.ต.ปิยะ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ตลาดแรงงานของนักบินนั้น ยอมรับว่า ขณะนี้ไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนนักบินในส่วนของนักบินที่มีประสบการณ์ (กัปตัน) อย่างกรณีที่สายการบินนกแอร์เกิดปัญหาในช่วงปีที่ผ่านมา ก็เกิดจากดึงตัว หรือ ซื้อตัวกัปตัน โดยการให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าสายการบินเก่า ทั้งนี้พบว่า นักบินจากการบินไทยถูกดึงตัวมากที่สุด ถึงปีละ100 คน เพราะการบินไทยกว่าจะได้เป็นกัปตันต้องใช้ชั่วโมงบินพอสมควร อย่างไรก็ตามในส่วนของนักบินที่จบใหม่ยังตกงานอยู่จำนวนหนึ่ง โดยจากที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสมาคมนักบินไทย พบว่า มีประมาณ100 กว่าคน และในส่วนของคนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนมีอีกพอสมควร ซึ่งดูได้จากการรับสมัครนักบินใหม่ของสายบินต่างๆในแต่ละรอบ พบว่า มีนักบินไปสมัครงานมากถึง 200 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image