นพ.วิจารณ์ ฟันธง ไทยแลนด์4.0เกิดไม่ได้ ถ้ามหาวิทยาลัย ไม่เชื่อมโยงกับสังคม

หมอวิจารณ์ฟันธงไทยแลนด์4.0เกิดไม่ได้ ถ้ามหาวิทยาลัยไทยไม่ปรับให้เชื่อมโยงกับสังคมและทำงานร่วมกัน

วันนี้ (5 ก.ค.) ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ได้นำเสนอปาฐกถาในหัวข้อ “พันธกิจมหาวิทยาลัยกับสังคมในยุคทองแห่งโอกาส” ที่เวทีการประชุมระดับชาติ พันธกิจมหาวิทยาลัยกับสังคม (Engagement Thailand) ครั้งที่ 6 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นการประชุมและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่ายนักวิชาการที่ทำงานกับชุมชนและสังคมจากมหาวิทยาลัยต่างๆกว่า 200 คนจากทั่วประเทศ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ ระบุว่า สังคมไทยปัจจุบันติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และกำลังพยายามแสวงหาทางออกด้วยยุทธศาสตร์ไทยแลนด์4.0 ทว่าด้วยต้นทุนทั้งทางมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ไม่เข้มแข็งอย่างที่เป็นอยู่ มีความเป็นไปได้ต่ำมากที่จะสามารถบรรลุถึงไทยแลนด์ 4.0 และจะปฎิรูปสังคมสู่เป้าหมายตามที่รัฐบาลวางไว้ในอีก 20 ปีข้างหน้า

มหาวิทยาลัยเป็นกลไกเชิงสถาบันที่สำคัญที่สุดที่สามารถจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เอื้อต่อการพัฒนาสู่ไทยแลนด์4.0 แต่กระบวนทัศน์ของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันเน้นเรื่องของศาสตร์เชิงทฤษฎีไม่ใช่ศาสตร์เชิงปฏิบัติ ทำให้ไม่สอดคล้องและสนับสนุนการพัฒนาสู่ไทยแลนด์4.0 ที่เน้นการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าด้วยนวัตกรรมและการทำงานแบบบูรณาการ การสร้างองค์ความรู้ที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่และการปฏิบัติจริงจึงไร้ประโยชน์ต่อการพัฒนาในทิศทางใหม่

Advertisement

“ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยทำงานเพื่อมหาวิทยาลัย อาจารย์ก็ทำงานเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ นิสิตนักศึกษาก็เป็นผู้รับหรือผู้เสพความรู้ที่อาจารย์จัดมาให้ เวลาทำงานกับชุมชนหรือสังคมจะเป็นในลักษณะการช่วยเหลือหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transfer) ความสัมพันธ์เลยเป็นแบบแนวดิ่ง เป็นแบบอาจารย์เก่ง นักวิชาการรู้ดีกว่าเขา ซึ่งตรงนี้ต้องเปลี่ยนเลย ต้องเปลี่ยนเป็นการมีพันธกิจร่วมกันเพื่อสังคม”

เท่าที่เป็นอยู่ มหาวิทยาลัยมักมีพันธกิจพื้นฐานใน 4 เรื่องด้วยกันคือ การเรียนรู้/ผลิตบัณฑิต การสร้างความรู้และการวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทว่าศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์มองว่ากระบวนทัศน์ดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนสู่การพัฒนาตามยุทธศาสตร์ใหม่ และจำเป็นต้องขยายไปสู่การทำงานแบบมีพันธกิจร่วมกันกับสังคม ซึ่งมีหลักการอยู่ใน 4 เรื่องคือ 1. การร่วมคิดร่วมทำแบบหุ้นส่วน 2. เกิดประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 3. มีการใช้ความรู้และเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน 4.เกิดผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้

“เราต้องเปลี่ยนจากการให้ความช่วยเหลือมาเป็นการร่วมกันคิดร่วมกันสร้างโจทย์และหาทางออกร่วมกัน แบบหุ้นส่วนร่วมทุน จะทำให้เกิดความสัมพันธ์แนวราบ และเป็นแบบwin-win-winกันทุกฝ่าย เหมือนอย่างในเยอรมันที่อาจารย์ทำวิจัยจากโจทย์เชิงปฏิบัติจากท้องถิ่น จากสถานประกอบการ จากชีวิตจริง จนเป็นเหมือนเป็นDNA ของการศึกษาเค้าไปแล้ว นอกจากนี้นิสิตนักศึกษาก็ต้องมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะที่บูรณาการกับกิจกรรมที่เป็นพันธกิจกับสังคมเหล่านี้ด้วย มันจะเป็นคุณูปการต่อทุกฝ่าย” ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์กล่าว

Advertisement

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิชาการในศาสตร์ต่างๆต้องเริ่มที่จะต้องมาทำงานร่วมกันในลักษณะสหวิทยาการ พร้อมๆกับที่ มหาวิทยาลัยต่างๆต้องหาทางมาทำงานร่วมกัน เพื่อเสริมศักยภาพของกันและกัน และเติมเต็มจุดที่อีกฝ่ายขาด แทนที่จะแข่งขันกัน และทำงานซ้ำซ้อนกันแต่ไม่เกิดทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล

“ถ้าเราเปลี่ยนไม่ได้ในแนวทางที่เป็นการสร้างพันธกิจร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคมซึ่งจะทำให้คนที่มีศักยภาพที่สุดของประเทศรู้สึกกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนและสังคม รู้สึกเดือดร้อนเจ็บปวดและชื่นชมไปด้วยกัน สามารถพัฒนานวัตกรรมที่เป็นฐานของ4.0จากความต้องการและโจทย์ของสังคมจริงๆ ผมฟันธงเลยว่า ไทยแลนด์4.0ไม่เกิด จริงๆอาจจะช้าไปแล้วที่มาทำเอาในช่วงมหาวิทยาลัย น่าจะต้องไปทำตั้งแต่อนุบาล แต่ในระดับโครงสร้าง มหาวิทยาลัยเป็นกลไกระดับสถาบันที่มีความพร้อมที่สุด” ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image