พระเจ้าอโศก ไม่เคยส่งพระสงฆ์ไปสุวรรณภูมิ

คลิกอ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ : สองมาตรฐาน หรือ ไร้มาตรฐาน?

พระเจ้าอโศกไม่เคยส่งพระสงฆ์ไปเผยแผ่พุทธศาสนาถึงสุวรรณภูมิ เพราะไม่พบหลักฐานเป็นข้อความในศิลาจารึกสมัยของพระองค์

พระเจ้าอโศกครองราชสมบัติเมืองปาฏลีบุตรในชมพูทวีป (อินเดีย) ระหว่าง พ.ศ. 218-260

ภิกษุสาวก 3 รูป ถือบาตร ทำท่าบิณฑบาต ลายเส้นจำลองจากประติมากรรมดินเผา อายุราวหลัง พ.ศ. 1000 เป็นหลักฐานเก่าสุดที่แสดงว่ามีพระสงฆ์ในดินแดนสุวรรณภูมิ พบที่เมืองอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี (ภาพจากหนังสือ สุวัณณภูมิ โดย ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2510)

ในไทย ขณะนั้นมีชุมชนระดับเมืองขนาดใหญ่ บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ได้แก่

Advertisement

เมืองอู่ทอง (อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี) มีเทคโนโลยีก้าวหน้า สามารถถลุงโลหะสำริดเป็นเครื่องมือเครื่องใช้หลากหลายแล้ว เช่น แหล่งสำริดบ้านดอนตาเพชร (อ. พนมทวน จ. กาญจนบุรี) ฯลฯ

เอกสารที่ระบุว่าพระเจ้าอโศกส่งพระสงฆ์ 2 รูป (โสณเถระกับอุตตรเถระ) ไปเผยแผ่พุทธศาสนาถึงสุวรรณภูมิ คือ หนังสือมหาวงศ์ พงศาวดารลังกา แต่งโดยนักปราชญ์ราชสำนักสิงหล ราว พ.ศ. 1000 [หรือ 700 ปี หลังยุคพระเจ้าอโศก]

ไม่ใช่เอกสารยุคพระเจ้าอโศกแห่งชมพูทวีป (อินเดีย) แต่เป็นงานวรรณกรรม ยอพระเกียรติกษัตริย์สิงหลแห่งลังกาทวีป (ศรีลังกา) ยุค พ.ศ. 1000 ว่าสืบทอดความเป็นจักรพรรดิราชจากพระเจ้าอโศก ยุค พ.ศ. 200

Advertisement
ธรรมจักรพร้อมแท่นและเสาสลักหิน ทำเลียนแบบเพื่ออ้างอิงสัญลักษณ์พุทธศาสนาในอุดมคติยุคพระเจ้าอโศก พบอยู่กับพุทธสถานริมห้วยพุหางนาค เมืองอู่ทอง (เจดีย์หมายเลข 11) อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี
(ซ้ายบน) ธรรมจักร (ซ้ายล่าง) แท่นธรรมจักร (กลาง) เสาทรงแปดเหลี่ยม (ขวา) ลายเส้นสมมุติเสมือนจริงแสดงธรรมจักรประดิษฐานบนยอดเสา (ภาพจากหนังสือโบราณคดีเมืองอู่ทอง กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. 2545)

พระเจ้าอโศก ในมหาวงศ์ พงศาวดารลังกา

มีชื่อของพระเถระทั้งสอง (พระโสณเถระและพระอุตตรเถระ) อยู่ในจารึกของพระเจ้าอโศกเมื่อช่วงศตวรรษของ พ.ศ. 200 ซ้ำยังมีการขุดค้นทางโบราณคดีจนพบพระธาตุของพระโสณเถระ และพระอุตตรเถระจากสถูปเก่าแก่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียอีกด้วยก็ตาม

แต่จารึกของพระเจ้าอโศกนี้ไม่เคยกล่าวว่าส่งมหาเถระทั้งสองมาเป็นสมณทูตยังสุวรรณภูมิเลย ทั้งๆ ที่โดยปกติแล้ว เมื่อพระเจ้าอโศกได้ทรงส่งสมณทูตไปยังดินแดนแห่งใด ก็มักจะทรงจัดทำจารึกระบุไว้อย่างชัดเจนเสมอ

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการที่พระเจ้าอโศกได้ทรงส่งสมณทูตมายังสุวรรณภูมิมีระบุอยู่ใน “มหาวงศ์” พงศาวดารลังกาทวีป ที่มีอายุอ่อนลงมากว่ารัชสมัยของพระองค์อีกมากคือถัดมาอีกราว 700 ปีเศษ หรือเมื่อเกือบ พ.ศ. 1000 แล้วต่างหาก

เช่นเดียวกับหลักฐานในสมันตปาสาทิกา (แต่งขึ้นที่เมืองอนุราธปุระ ในลังกา) ซึ่งเป็นคัมภีร์รุ่นอรรถกถา (พระวินัยปิฏก) ที่ระบุถึงเรื่องพระโสณเถระกับพระอุตตรเถระมาสุวรรณภูมิ ก็เป็นคัมภีร์มีอายุอยู่ในช่วงไล่เลี่ยกับคัมภีร์มหาวงศ์เท่านั้น

พูดง่ายๆ อีกทีหนึ่งก็ได้ว่า เรื่องพระเจ้าอโศกส่งพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ มาเผยแผ่พุทธศาสนายังสุวรรณภูมิ เป็นสิ่งที่ถูกเขียนขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1000 โดยอ้างอิงถึงตัวละครที่เคยมีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แต่ตัวละครเหล่านั้นไม่เคยเดินทางไปยังสุวรรณภูมิ

ดังนั้นการที่ใครจะอ้างว่า มีวัดหรืออะไรก็ตามในพื้นที่ประเทศไทย (และรวมทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ ที่ในสมัยโบราณแขกอินเดียเขาเรียกว่า สุวรรณภูมินี้) ที่สร้างขึ้นโดยพระสมณทูตทั้งสอง ที่พระเจ้าอโศกส่งมานั้น จึงเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง ก็ในเมื่อพวกท่านทั้งสองไม่เคยธุดงค์เฉียดมาถึงอู่ทอง นครปฐม หรือชุมชนโบราณแห่งไหนละแวกนี้เลย

(สรุปย่อจากบทความเรื่อง พระเจ้าอโศกไม่เคยส่งสมณทูตมาสุวรรณภูมิ เขาทำเทียม ที่เมืองอู่ทอง ก็ไม่ใช่วัดแห่งแรกของไทยในยุคพระเจ้าอโศก โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 28 เม.ย.-4 พ.ค. 2560 หน้า 82)

ศิลาจารึกเป็นหลักฐานว่าพระโสณะและพระอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ประเทศเมียนมา
“ที่ประเทศเมียนมา เรายังพบหลักฐานเรื่องราวของพระโสณะพระอุตตระที่เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เมืองสะเทิม เป็นศิลาจารึกที่วัดเกละตะมี และยังมีรูปปั้นของพระโสณะและพระอุตตระที่หน้าเจดีย์กุลตินาโหย่ง”
(ภาพและคำอธิบายจาก มติชน ฉบับวันอังคารที่ 27 มิถุนายน 2560 หน้า 13)

สมณทูตของพระเจ้าอโศก

ถูกสร้างให้น่าเชื่อถือในเมืองมอญ

มหาวงศ์ หนังสือพงศาวดารของลังกาทวีป ระบุว่าพระเจ้าอโศกได้ส่งสมณทูตคือ พระโสณเถระและพระอุตตระเถระไปสุวรรณภูมิ อันเป็นที่มาของการเกิดความพยายามจะระบุว่าพื้นที่แห่งใดในภูมิภาคอุษาคเนย์กันแน่ ที่พระสมณทูตทั้งสองได้จาริกมาถึง?

แม้ว่าหนังสือมหาวงศ์จะแต่งขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1000 นับเป็นเวลาหลังยุคของพระเจ้าอโศกราว 700 กว่าปี และไม่มีหลักฐานใดในสมัยของพระเจ้าอโศกที่ระบุเรื่องราวข้างต้นเลยสักนิด แต่ก็ดูเหมือนว่านิทานเรื่องนี้จะมีพลังในหมู่ชาวพุทธของอุษาคเนย์ สำหรับใช้เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับจักรวาลวิทยาในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

จารึกกัลยาณี ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยของกษัตริย์มอญที่ทรงพระนามว่า พระเจ้าธรรมเจดีย์ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2013-2035) ระบุว่าสุวรรณภูมิที่สมณทูตของพระเจ้าอโศกทั้งสององค์นั้นมาถึงก็คือ พื้นที่ที่เรียกว่า Golamattika (โกละมัททิกะ)? หรือ Taikkala (เทียกกะละ?) แถวๆ หมู่บ้าน Ayetthema (อเยทธมา?) ตรงตีนเนินเขา Kelasa (เกลาศะ?) ห่างจากตัวเมืองสะเทิมในปัจจุบันไปราว 30 ไมล์

[ควรสังเกตด้วยว่า ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น พระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงครองสมณเพศเป็นพระภิกษุ และเมื่อหลังจากครองราชย์แล้วพระองค์ก็ทรงปฏิรูปพระพุทธศาสนาของมอญขนานใหญ่ โดยหลักฐานสำคัญที่เล่าเกี่ยวกับการปฏิรูปดังกล่าวของพระองค์ ก็ถูกเล่าเอาไว้ในจารึกกัลยาณี ที่อ้างว่าพระเจ้าอโศกส่งสมณทูตมาที่แถวๆ เมืองสะเทิม อันเป็นเมืองโบราณของพวกมอญนี่เอง]

ไม่ว่าเบื้องหลังพระราชดำริของพระเจ้าธรรมเจดีย์ เกี่ยวกับเรื่องสมณทูตของพระเจ้าอโศกจะเป็นอย่างไรก็ตาม (แน่นอนว่าอาจจะมีชาวมอญคนอื่นคิดเช่นนี้มาก่อนพระเจ้าธรรมเจดีย์ก็ได้) แต่แนวคิดดังกล่าวก็ฝังรากให้ชาวมอญมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องสมณทูตของพระเจ้าอโศกที่ฝังรากลึกเป็นอย่างมากเลยทีเดียว จนเกิดความพยายามในการสร้างเครื่องรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในครั้งนั้น เช่น จารึกที่วัดเกละตะมี

รวมทั้งรูปปั้นของพระโสณเถระและพระอุตตระเถระ ที่หน้าเจดีย์กุลตินาโหย่งที่เมืองสะเทิมในยุคหลัง เป็นต้น

โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อดีตอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ธรรมจักรและกวางหมอบ ศิลา พบที่พระปฐมเจดีย์ จ. นครปฐม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.21 เมตร (จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ก้อนศิลาจารึกคำสันสกฤตว่าปุษยคิริ อ้างอิงพุทธสถานยุคพระเจ้าอโศกบนเขาในอินเดีย นักค้นคว้าวิชาการเชื่อว่าพบบนเขาพระ ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของเมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี (ภาพจากหนังสือ สุวัณณภูมิ ของ ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร จัดพิมพ์เป็นพุทธบูชา โดย กรมศิลปากร พ.ศ. 2510)

 



พุทธศาสนา ไม่เคยเป็นศาสนาประจำชาติ

พุทธศาสนา ไม่เคยเป็นศาสนาประจำชาติของไทยมาแต่ยุคแรกเริ่ม

เพราะพบหลักฐานว่ามีทั้งศาสนาผี ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ ปะปนอยู่ด้วยกันในเมืองอู่ทอง ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย ศรีศักร วัลลิโภดม บอกว่า

“เมืองอู่ทองที่เป็นเมืองแรกเริ่ม—-บรรดาศาสนสถานที่พบนั้น ล้วนแสดงให้เห็นว่ามีทั้งศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน อันแสดงให้เห็นว่าทั้งผู้คนที่มาจากภายนอกและคนที่อยู่ภายในนั้น มีหลายศาสนาอยู่ด้วยกัน”

[จากหนังสือ ประวัติศาสตร์โบราณคดี : เมืองอู่ทอง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549 หน้า 81]

ศาสนาผี เป็นศาสนาประจำชาติ

“ผี พราหมณ์ พุทธ” ก็คือศาสนาไทย

คือศาสนาผีรับเอาพราหมณ์และพุทธที่ไม่ขัดกับหลักผีไว้เป็นศาสนาของตน”

[สรุปจาก บทความเรื่องศาสนาผี ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21-27 ตุลาคม 2554 หน้า 28-29]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image