เดินหน้า ‘ผลักดัน’ ประเทศนี้ไม่ตีเด็ก

ปัจจุบันมีเพียง 52 ประเทศทั่วโลก ที่มีกฎหมายห้ามการลงโทษทางกายและทำให้เด็กด้อยค่าครบถ้วนทุกสถานที่ สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะมีการห้ามลงโทษเด็กด้วยการตีในโรงเรียนและในกระบวนการยุติธรรม แต่ยังไม่ได้ห้ามอย่างครอบคลุมในทุกสถานที่ เช่น ที่บ้าน สถานสงเคราะห์ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) จึงได้จับมือกับ 3 องค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ มูลนิธิสายเด็ก 1387 มูลนิธิรักษ์เด็ก และกลุ่มละครชุมชนกั๊บไฟ ร่วมผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกฎหมาย และปรับเปลี่ยนทัศนคติในสังคมไทย ในโครงการยุติการลงโทษทางกายและทำให้เด็กด้อยคุณค่า ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในประเทศไทย

นัยนา ธนวัฑโฒ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก องค์การช่วยเหลือเด็ก เปิดเผยว่า การลงโทษทางกายและทำให้เด็กด้อยค่าเป็นปัญหาระดับโลก เพราะไม่เพียงทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลบนร่างกายเท่านั้น แต่ยังทำให้เป็นอันตรายต่อพัฒนาการของเด็กทั้งด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม การเผชิญกับความรุนแรงหรือการถูกข่มขู่ในโรงเรียน อาจทำลายแรงจูงใจและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กได้ และเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะออกโรงเรียนกลางคัน

“การใช้ความรุนแรงในบ้านเป็นการสอนเด็กให้เรียนรู้ว่าความรุนแรงเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีและยอมรับได้ ซึ่งเด็กจะนำวิธีการนี้ไปใช้ตลอดช่วงวัยเยาว์และวัยผู้ใหญ่ต่อไป” นัยนากล่าว

Advertisement
นัยนา

อิลยา สมิร์นอฟ ผู้อำนวยการมูลนิธิสายเด็ก 1387 กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในประเทศไทย องค์กรด้านสิทธิเด็กได้ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบาย และกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก ที่ยังไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงการลงโทษทางกาย และทำให้เด็กด้อยค่าในทุกสถานที่ โดยต้องถือว่าการลงโทษด้วยวิธีนี้ไม่ว่าเบาหรือหนัก ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2557 รัฐบาลไทยได้เริ่มแผนยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันและขจัดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน พ.ศ.2557-2562 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่กำหนดทิศทาง และปรับปรุงกลไกการป้องกัน การตอบสนอง และการเฝ้าระวังเด็กจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ แต่แผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ ก็ยังไม่ได้ให้ความชัดเจนว่าจะขจัดการลงโทษทางกายและทำให้เด็กด้อยค่าในทุกสถานที่ได้อย่างไร

“การลงโทษทางกายและทำให้เด็กด้อยคุณค่า มีรากลึกอยู่ในวัฒนธรรม และบรรทัดฐานของสังคมไทยมายาวนาน เด็กไทยจำนวนมากเผชิญกับความรุนแรง รู้สึกหวาดกลัว คับข้องใจ และไม่ได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยพ่อแม่หรือผู้ดูแล ซึ่งเป็นบุคคลที่พวกเขาสมควรที่จะให้ความเชื่อมั่นเป็นที่สุด พ่อแม่และผู้ดูแลยังขาดความรู้ และทักษะในการเลี้ยงดูลูก โดยไม่ใช้ความรุนแรง” อิลยากล่าว

อิลยา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image