สัมภาษณ์พิเศษ : ‘สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’เคลียร์ปมร้อนแม่ทัพนำเพื่อไทย?

หมายเหตุ- คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงการนำคณะอดีต ส.ส.พรรค พท.ไปดูงานที่ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน -2 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีการเชื่อมโยงในทางการเมืองว่าเป็นการทำกิจกรรมในฐานะผู้นำของพรรค พท.คนต่อไป

การนำคณะอดีต ส.ส.ของพรรคไปดูงานที่ประเทศจีน มีการมองว่าเป็นการเปิดตัวในฐานะผู้นำของพรรค พท.คนต่อไป

การเดินทางไปดูงานที่ประเทศจีนระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน-2 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น เป็นไปตามคำเชิญของกระทรวงวิเทศสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ประเทศจีน ที่เขาจะติดต่อกับทุกพรรคการเมืองในทุกประเทศอยู่แล้ว โดยกระทรวงวิเทศสัมพันธ์ฯติดต่อดิฉันมาตั้งแต่ปี 2559 แต่ติดภารกิจจึงต้องขอเลื่อนการเดินทางไปดูงาน และเมื่อมีเวลาเหมาะสมจึงชวนอดีต ส.ส. ที่สนใจงานเรื่องเกษตรกรรมร่วมไปดูงานด้วย ยืนยันว่าเป็นการประสานโดยกระทรวงวิเทศสัมพันธ์ ไม่ใช่เรื่องที่ดิฉันจะทำเรื่องขอไปดูงานเองแต่อย่างใดตามที่สื่อ บางแห่งเสนอข่าวไป

อีกทั้งการไปดูงานที่ประเทศจีนดิฉันก็ได้เดินทางไปหลายครั้งแล้ว สมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เดินทางไปบุกเบิกการส่งออกผลไม้ของไทยไปประเทศจีนให้มีความสะดวก ลดขั้นตอนและอุปสรรค ไปดำเนินการให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรไทยมากที่สุด ซึ่งการไปดูงานที่ประเทศจีนครั้งนี้ได้คุยกับ 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของจีน ได้พูดคุยในเรื่องการลดขั้นตอนการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย 2.เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร เช่น การใช้โดรนมาควบคุมการผลิตทางการเกษตร และ 3.ได้ไปเสนอแนวคิดว่าประเทศไทยควรเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพ ส่งขายทั่วโลกได้ โดยเฉพาะอาหารออร์แกนิค ซึ่งคนจีนก็มีเทรนด์ที่นิยมในอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันยังได้พูดคุยกับรัฐมนตรีวิเทศสัมพันธ์ของจีน ในการร่วมกันผลักดันเส้นทาง สายไหมใหม่ระหว่างจีนกับไทยด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ยังได้ไปพูดคุยเกี่ยวกับการขาย “ข้าวสานธรรม” คือข้าวที่ผลิตโดยชาวนาที่ตั้งใจรักษาศีล 5 หรือหมู่บ้านศีล 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ดิฉันได้ทำระหว่างการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ซึ่งทางประเทศจีนก็ให้ความสนใจที่จะสั่งซื้อข้าวสานธรรมด้วย

การไปดูงานที่ประเทศจีนได้เจอกับนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านโยบายเศรษฐกิจในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร โดยมีการเชื่อมโยงว่าเป็นคนประสานงานให้ เพื่อเป็นการแนะนำตัวกับผู้นำต่างประเทศว่าจะเป็นแกนนำพรรค พท. ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

การนำคณะอดีต ส.ส.ไปดูงานที่จีน ได้เจอกับนาย พันศักดิ์เพียงครึ่งวัน เพราะนายพันศักดิ์เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศจีนก่อนคณะของดิฉันจะเดินทางไป อีกทั้งนายพันศักดิ์ไม่ได้เป็นคนจัดการให้ดิฉันและคณะไป ดูงานพบปะพูดคุยกับผู้แทนของรัฐบาลจีนแต่อย่างใด ยืนยันว่าได้รับคำเชิญจากกระทรวงวิเทศสัมพันธ์ของจีน ซึ่งออกเป็นหนังสืออย่างเป็นทางการ ไม่ได้มีนัยยะต่อการเมืองแต่อย่างใด ซึ่งนายพันศักดิ์เป็นคนช่วยดำเนินการโครงการข้าวสานธรรมกับดิฉันมาตลอด

Advertisement

การมาทำกิจกรรมในนามพรรคในช่วงนี้ เป็นการทดลองงานเพื่อปูทางไปสู่การขึ้นเป็นผู้นำของพรรค พท.ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ขอย้ำว่าเรื่องการทำงานในนามพรรค ไม่ใช่เป็นการทดลองงาน เปรียบเหมือนกับการทำงานในบริษัทคงจะมาทดลองงานกันไม่ได้ ดิฉันเป็นเพียงสมาชิกพรรค คนหนึ่งที่อาสามาช่วยงานพรรค เพื่อให้พรรคสามารถเดินหน้าต่อไปได้เป็นองค์กรทางการเมือง อีกทั้งกลไกต่างๆ เกี่ยวกับการทำกิจกรรมทางการเมือง ยังไม่ได้มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ ทั้งเรื่องกฎหมายพรรคการเมืองที่ยังไม่ประกาศใช้ อีกทั้งยังมีคำสั่ง คสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ยังประชุมพรรคไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องการที่พรรคเลือกใครมานำพรรคเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้นคงตอบลำบาก เพราะต้องมีการประชุมพรรค ตามขั้นตอนและกลไกของพรรค ที่ต้องเลือกผู้นำพรรคให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในอนาคต อีกทั้งการกำหนดวันเลือกตั้งของผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่แน่นอน ยังไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2561 หรือ 2562 ทุกอย่างเป็นไปได้หมด

กระแสข่าวที่ว่าคุณหญิงจะมาเป็นหัวหน้าพรรค กังวลหรือไม่ว่าจะทำให้ตัวเองเจ็บตัวหรือบอบช้ำ

อย่างที่บอกว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยมีโอกาสประชุมกันได้ อย่างแรกที่ต้องหารือคือทิศทางของพรรคภายใต้ข้อกำหนดใหม่ จากนั้นจึงค่อยมาดูว่าเราควรจะเลือกใครที่เหมาะสมเข้ามานำพรรค ส่วนตัวไม่ได้เก่งทุกเรื่องและไม่มีความต้องการหรือวางเป้าหมายว่าจะต้องเดินไปสู่จุดนั้น จุดนี้ เราทำงานมามาก ทั้งร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นรากฐานของพรรคเพื่อไทย คิดว่าหากเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ก็จะทำ ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะนำพรรค เพราะยังมีผู้เหมาะสมกว่าเรามาก วันนี้พรรค พท.ต้องเปิดใจให้กว้าง หาผู้ที่มานำพรรคหลังจากที่ได้พูดคุยกันแล้ว เราอยากให้องค์กรนี้ที่แม้จะโดนสารพัดมรสุมให้รอดไปได้ แต่ถ้าทุกคนคิดว่าตัวเองต้องมีตำแหน่งจึงจะทำงาน องค์กรคงไม่รอด ทั้งนี้หากองค์กรรอด แม้เราจะอยู่ตรงไหนเราก็รอดไปได้

การมีคอนเน็กชั่นกับหลายฝ่ายรวมถึงทหาร จึงถูกมองว่าพรรค พท.ต้องการให้เป็นผู้นำเพื่อคุยกับทหารง่ายขึ้น

ยืนยันว่าแม้ส่วนตัวอาจจะรู้จักกับนายทหารบางท่านบ้าง แต่ไม่เคยไปพูดคุยหรือดีลทางการเมือง เพราะพรรคการเมืองต่างๆ ก็ต้องทำงานของตัวเอง ส่วนตัวยังมองไม่เห็นเป้าหมายว่าทำไมถึงต้องไปเชื่อมกับทหาร แต่ยอมรับว่าวันนี้เรารู้จักบ้างกับบางคน ซึ่งเป็นความรู้จักจากในอดีต แต่การจะดีลเพื่อทำงานการเมืองในอนาคต ยืนยันว่าไม่มีเด็ดขาด และการทำงานการเมืองของเราก็ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องดีลกับทหาร ทหารที่เข้ามา บริหารประเทศวันนี้ต้องถือว่าเป็นนักการเมืองไปแล้ว ฝ่ายใดก็แล้วแต่หากทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ส่วนที่เหลือต้องสนับสนุน แต่ถ้าทำให้ประเทศเสียหาย ส่วนที่เหลือต้องช่วยกันตรวจสอบ

พรรคเพื่อไทยจะถอดบทเรียนจากอดีตเพื่อปฏิรูปตัวเองอย่างไร

แน่นอนเราต้องปฏิรูปตัวเอง พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เราโทษคนอื่น เวลามีปัญหาให้มองตัวเราเองก่อน จากนั้นก็แก้ไขด้วยตัวเราเอง ถ้าเสนอได้เราก็จะเสนอแบบนี้ ว่าควรปฏิรูปตัวเอง มองตัวเองก่อน อย่าเพิ่งไปถือโทษโกรธคนอื่น ต้องแก้ไขทั้งเรื่องที่เราอาจถูกป้ายสี หรือเราบกพร่องของเราเอง ดังนั้นเราควรแก้ไขจุดอ่อน ของเราก่อน

วันนี้มีข้อเสนอของผู้ใหญ่ทางการเมืองที่สนับสนุนให้พรรคการเมืองร่วมมือกันป้องกันทหาร ความร่วมมือกันเป็นสิ่งดี นั่นเป็นความร่วมมือหลังการเลือกตั้ง แต่ก่อนการเลือกตั้งควรจะมีความร่วมมือเพื่อแสดงจุดยืนและกำหนดทิศทางในเรื่องต่างๆ เช่น กฎหมายที่ส่งผลกระทบ ต่อประชาชน แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยืนยันว่า ทุกคนต้องเอาผลประโยชน์ส่วนรวมไว้ก่อน ถ้าส่วนรวมไปไม่ได้ แต่ละพรรคก็ไปไม่ได้ ดังนั้นเราควรดูว่าจะมี อะไรบ้างที่จะเป็นผลเสียในอนาคต เพื่อเสนอความคิดเห็น คิดว่าถ้าทำแบบนี้ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ

จะแก้ไขจุดอ่อนที่คนไทยมองพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคของคุณทักษิณ ได้อย่างไร

ความจริงก็คือความจริง รู้กันอยู่ว่าคุณทักษิณคือ ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เป็นสัญลักษณ์ของพรรค แม้จะถูกเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้งแล้ว คุณทักษิณยังเป็นบุคคลสำคัญที่คิดค้นนโยบายให้พรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ประชาชนเองก็ยังระลึกได้อยู่ คล้ายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่คุณชวน หลีกภัย นายควง อภัยวงศ์ เป็นดั่งปูชนียบุคคลของพรรค แต่สิ่งสำคัญคือการเดินหน้าพัฒนาพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองได้ อะไรที่คุณทักษิณและคนอื่นๆ ทำไว้ดีก็สานต่อ พร้อมกับคิดค้นนโยบายใหม่ๆ วันนี้การปฏิรูปพรรคเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในส่วนที่เป็นความจริงและเป็นเรื่องดี ก็ต้องพยายามทำให้ดีขึ้น โดยแก้ไขจุดอ่อน

คือถ้าเรายังต้องการปกครองตามระบอบประชา ธิปไตยต่อไป ก็ไม่ควรมีวาทกรรมว่านักการเมืองเป็นคนเลว ไม่ดี เพราะนักการเมืองก็เหมือนทุกอาชีพที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่พอโดนว่าอาชีพนักการเมืองเป็นคนไม่ดี ตรงนี้น่าเป็นห่วง เพราะในอนาคตจะหาคนดี มีความรู้ความสามารถมาเป็นผู้นำทางการเมืองได้อย่างไร เมื่อถูกมองว่าเป็นอาชีพของคนเลว เหมือนการตัดโอกาสของคนดีที่จะเข้าสู่อาชีพนี้ ดังนั้นสังคมต้องช่วยกันคิด เราไม่แก้ตัวว่านักการเมืองเป็นคนดี เพราะมีทั้งดีและไม่ดี แต่จะทำอย่างไรให้ได้นักการเมืองที่ดีเข้ามา

สำหรับพรรคเพื่อไทย บอกได้หรือไม่ว่ามีจุดใดบ้างต้องปรับปรุงแก้ไข

วันนี้คงยังให้ความเห็นส่วนนี้ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ต้องมีการหารือพูดคุยกับคนที่ทำงานของพรรค แต่พรรคเพื่อไทยมีจุดอ่อนคือการถูกโจมตี จนคนไม่ชอบในบางจุด จึงต้องรีบปรับเปลี่ยนแก้ไข ส่วนจุดแข็งคือ เป็นพรรคการเมืองที่รักษาคำมั่นสัญญา ใช้นโยบายใดหาเสียง ก็มุ่งผลักดันนโยบายนั้นๆ ให้ประสบความสำเร็จเป็นผลดีต่อประชาชน เป็นพรรคที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาทั้งเศรษฐกิจและอื่นๆ ตรงนี้เป็นจุดแข็งที่คนมองเห็น จึงต้องเสริมจุดนี้ด้วย ส่วนจะเสริมอย่างไรบ้าง คงต้องผ่านการหารือกันก่อน

มีทางออกอย่างไร เพราะมีการวิเคราะห์ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะรอเป็นนายกฯคนนอก

นั่นก็ชัดเจน เรามองอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะคล้ายมีการวางกฎเกณฑ์เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ ถ้าอยู่ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ก็ลำบาก เพราะไม่มีมาตรา 44 เหมือนทุกวันนี้ เราไม่ได้เป็นห่วงว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อจะทำงานลำบาก แต่ห่วงว่าชาวบ้านจะไม่ได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และด้วยกติกาแบบนี้จะไม่มีใครทำงานได้สะดวก กลายเป็นว่าประชาชนจ่ายภาษีเป็นเงินเดือนให้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. โดยที่ไม่ทำงาน

มีความชัดเจนที่ว่ากลไกที่ออกมาผ่านรัฐธรรมนูญนั้น ต้องการให้พรรคการเมืองอ่อนแอ บทเรียนมีมาแล้วในปี 2540 ที่รัฐบาลอ่อนแอแล้วรัฐบาลก็อยู่ได้ไม่นาน ปีเดียว สองปี ไม่ต่อเนื่อง เราเคยแข่งกับญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เราก็ถอยลงมาเรื่อยๆ จึงเกิดกระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้กลไกการเมืองเข้มแข็ง ขณะเดียวกันกลไกตรวจสอบก็เข้มแข็งด้วย เกิด ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และองค์กรอิสระอื่นๆ

จากนั้นก็ได้พรรคไทยรักไทยอยู่เป็นรัฐบาล 4 ปี เมื่อถูกมองว่าการเมืองเข้มแข็งมากเกินไป ก็มีการล้มรัฐบาล เกิดปฏิวัติปี 2549 จะเห็นว่านับตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน เป็นความพยายามให้ฝ่ายการเมืองอ่อนแอ ยิ่งถ้าเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญปี 2540 กับ 2560 จะเห็นชัดว่าของปี 2560 สร้างความเข้มแข็งให้รัฐราชการ การเมืองอ่อนแอ ซึ่งไม่ทราบว่าจะตอบโจทย์ให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองได้หรือไม่ หรือผู้มีอำนาจจะมองว่าบ้านเมืองจะเจริญด้วยระบบราชการโดยฝ่ายการเมืองต้องอ่อนแอ เราได้แต่นั่งดูด้วยความห่วงใย

สำหรับข้อเสนอให้ฝ่ายการเมืองรวมตัวกันสู้ทหาร มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

ก่อนเลือกตั้งเราควรจะได้คุยกัน ไม่ใช่คุยกันเพื่อแบ่งพื้นที่เลือกตั้งหรือต่อรอง แต่เอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง นักการเมืองมีประสบการณ์ในการทำงานให้ประเทศ รู้ข้อมูลมากที่สุด ก็ควรรวมตัวกันคิดในสิ่งที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศ โดยปราศจากอคติว่าเราอยู่คนละพวกคนละฝ่าย จะทำแบบนี้จะเกิดประโยชน์แน่นอน ยืนยันว่าถ้าเอาประโยชน์ส่วนตัวมาก่อน เราจะอยู่ในวังวนของความลำบากอีกไม่รู้กี่สิบปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image