‘บิ๊กสร้าง’ เปิดใจ ลายแทงปฏิรูปตำรวจ

“บิ๊กสร้าง” พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกรรมการและที่ปรึกษาในคณะกรรมการเพื่อเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ถูกจับตามอง เมื่อนั่งแท่น “ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ” กุมบังเหียนบอร์ดใหญ่นำ 36 อรหันต์ เดินหน้าพลิกโฉมองค์กรสีกากี ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ

ในแวดวงทหาร ตำรวจ นายทหารอดีตนักเรียนนายร้อยเวสปอยต์ จากสหรัฐอเมริกา นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 จปร.17 “บิ๊กสร้าง” ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นครูของนายทหารรุ่นน้อง อย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ “พล.อ.บุญสร้าง” ถึงบทบาทประธานปฏิรูปตำรวจ ทิศทาง แนวคิด แผนงานการวางไทม์ไลน์ และตำรวจไทยในสายตาหัวโต๊ะยกเครื่ององค์กรสีกากี

รับไม่รู้เรื่องตำรวจแต่จะทำให้ดีที่สุด

“ผมรู้ล่วงหน้าแค่ 2 วัน ถูกทาบทามให้ทำหน้าที่ประธาน ไม่มีใครบอกใบ้ล่วงหน้าเลย รู้สึกว่าเราไม่คุ้นกับตำรวจ ผมรู้สึกว่านี่คือเรื่องสำคัญ ผมบอกคนที่ชวนว่าผมไม่รู้เรื่องอะไรมาก แต่เขาบอกไม่มีตัวแล้ว ให้ช่วยหน่อย มี 2 คนทาบทามในวันเดียวกัน สำหรับผมเป็นทหาร รู้ว่านี่คือหน้าที่ ต้องทำให้ดีที่สุด เมื่อรับแล้ว ต้องทำสร้างสรรค์ ตั้งใจทำให้ดีที่สุด ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น ตอนที่ผู้ใหญ่ทาบทาม ผมออกตัวไม่มีความรู้เรื่องตำรวจเลยนะ ผู้ใหญ่บอกรู้อยู่แล้ว แต่ผมมีอย่างอื่นที่เขาต้องการ และยังแข็งแรงดี ผมก็บอกไปว่านั่นภาพลวงตานะผมไม่ได้แข็งแรงอะไรนักหนา (หัวเราะ)

Advertisement

เมินคำวิจารณ์ทหารคุมปฏิรูปตร.

เรื่องนี้ผมไม่กังวลอะไรเลย ใครคิดอะไรก็คิดไป ไม่ใช่หน้าที่ผม แต่ผมอยากชี้แจงในกรรมการทั้งหมด 36 คน มีทหารแค่ 3 คน ผม พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีตำรวจ 15 นอกนั้นไม่ใช่ทหารเลย เพราะฉะนั้นจะบอกว่าปฏิรูปโดยทหารคงไม่ใช่ แม้ประธานจะเป็นทหาร แต่จะฟังกรรมการ การตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่ผมอยู่ที่กรรมการ เวลาถกกันผมจะเป็นคนกลางให้ นำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสม ชักชวนเชิญชวนกันตกลงใจ หวังว่าคงไม่ต้องโหวตกันหรอก กรรมการที่เป็นตำรวจ ผมว่าความคิดความอ่าน ตั้งใจดี ตำรวจเยอะก็ดี ไม่เป็นปัญหาอะไร ตอนมาทาบทามบอกให้ผมเสนอกรรมการเข้าไป คงเป็นส่วนที่จะเพิ่มเติมภายหลัง บางคนก็ตรงกับที่ผมเสนอ เช่น นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความถนัดพิเศษในบ้างเรื่องที่ต้องการ หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ 3-4 ด้าน รวมถึงการสำรวจ รับฟังความคิดเห็น โดยตั้งอนุกรรมการ ในวันพุธ (12 ก.ค.) ประชุมนัดแรก ให้กรรมการได้เลือกตามที่ถนัดว่าจะดูงานด้านไหน หากความเชี่ยวชาญด้านไหนขาด ก็ขอตั้งเพิ่ม

ยกปมตร.ชั้นผู้น้อยหัวใจปฏิรูป

ที่ผมเห็นประทับใจและอยู่ในใจเสมอ คือตำรวจชั้นผู้น้อย เขาลำบาก ชีวิตลำบาก ทำงานก็เครียด คนที่ชวนก็บอก นั่นแหละที่เราต้องการประธานน่าจะต้องมีความรู้สึกอันนี้ ผมเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง คือดูแลการทำงานและสวัสดิการของตำรวจชั้นผู้น้อยให้สวัสดิการดี และประสิทธิภาพต้องดี

ยันไม่มองตำรวจติดลบ

ในรุ่น ตท.6 เป็นรุ่นแรกที่เหล่าตำรวจเรียนเตรียมทหารหลังหายไปหลายรุ่น เพื่อนผมที่เป็นตำรวจก็ดูเรียบร้อย มีคำถามว่าตำรวจต้องเป็นยังไง ผมยังดูว่าเพื่อนผมจะเป็นตำรวจได้อย่างไร รุ่นผมเป็นตำรวจประมาณ 60 คน คนดีๆ เยอะเลย ได้เจอะเจอก็ยังดีอยู่ มีบางคนที่เพี้ยนไปบ้างก็เป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่เป็นตำรวจน้ำดี ส่วนที่ไม่ดีก็มี แต่ภาพที่ดูว่ามากเพราะคนที่ทำอะไรแหลมๆ จะปรากฏในสื่อเยอะ ด้วยปริมาณไม่รู้ว่ากี่เปอร์เซ็นต์ที่ว่ามีเรื่องมีราว เพื่อนๆ ผมคนดีเยอะทีเดียว

Advertisement

ผมไม่มองตำรวจติดลบ เป็นองค์กรที่ไม่ได้แย่กว่าที่อื่น เปอร์เซ็นต์ตำรวจที่เสียหายคงไม่มากมายอะไรนัก แน่นอนประชาชนมองไม่ดี เป็นอย่างนี้ทั่วโลก แต่เราต้องทำให้ดีขึ้น ประชาชนอาจมองผิดสัดส่วน มันก็มีมูลอยู่ ผมดูทีวีเรื่อย มีเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้หลายอย่าง ก็ต้องช่วยกัน ตำรวจที่เป็นกรรมการผมว่าตำรวจดีๆ นะ

ผมเชื่อว่าตำรวจเองก็อยากแก้ไขไม่มาต่อต้านอะไร ผมเชื่อว่าตำรวจอยากปฏิรูปยิ่งว่าพวกเราที่ไม่ใช่ตำรวจเสียอีกเพราะถ้ามันไม่ดี เขาต้องทนอยู่กับสิ่งนั้น ฝืนความรู้สึก เขาต้องรู้สึกยิ่งกว่า ผมและทหารอีกหลายคนตอนที่ปรับโครงสร้างทหารส่วนที่เข้าใจ เขาก็อยากให้มันเปลี่ยน ผมว่าแรงต้านจากตำรวจก็คงมีบ้าง แต่ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความตั้งใจของกรรมการ คงไม่ยากนักที่จะชักชวนให้เข้าใจ และอีกอย่างไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบทันที แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ตำรวจมีเวลาปรับตัว ขณะเดียวกันบางเรื่องผมว่าทำให้เขาดีใจ เพราะจะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้น้อยให้ดีขึ้น ผมว่าเขาจะดีใจเรื่องแบบนี้คงไม่มีใครต่อต้าน

เปิดรับฟังทุกข้อเสนอแนะ

หลายท่านตั้งโจทย์อยู่แล้ว มีผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้เยอะแยะไปหมด คณะกรรมการชุดนี้ต้องไปศึกษาหมด ทั้งจาก สปช. สปท. สนช.หรือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เอง ที่พยายามปฏิรูปมาหลายยุคเต็มที การสัมภาษณ์ผู้หลักผู้ใหญ่ การศึกษารูปแบบตำรวจของต่างประเทศ ก็ศึกษาไว้มากมายหลายประเทศเหลือเกิน อย่างละเอียด เราไม่ใช่คนตั้งโจทย์ แต่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาแยกแยะตามหลักวิชาการ ตำรวจต้องดูเรื่ององค์กร กฎหมายและกระบวนการยุติกรรม และตามด้วยเรื่องการบริหารงานบุคคล รวมทั้งประสิทธิภาพ การศึกษาที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้มีอะไรต้องปฏิรูปบ้างก็แยกแยะออกไป ดูจากสิ่งที่เขาทำไว้แล้ว มีรายงานข้อเสนอแนะมากมาย เพียงแต่ต้องปรับ เลือกดูให้ทันสมัย ตามยุค มีการเสนอความคิดเห็นมากมาย เราเปิดรับความคิดเห็น เปิดกว้าง

5เดือนปั้นตุ๊กตาโชว์แนวปฏิรูป

ช่วงเวลา 2-3-4 ที่นายกฯให้มา ก็เหมาะนะ ใช้เวลาทบทวนรายงาน ข้อเสนอที่มีเดิม 2 เดือนพอแล้ว สรุปมาชี้แจงในที่ประชุม บางกรณีอาจจัดคนมาบรรยายพิเศษบ้าง แต่คงน้อยเพราะเสียเวลามาก ศึกษาจากข้อมูล การรับฟังความคิดเห็นอาจต้องใช้เวลามาก ช่วง 2เดือนแรกก็ฟังได้ อีก 3-4 เดือนต่อไปก็ฟังได้ ไม่มีปัญหาอะไรเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนพอรู้ปัญหาข้อเท็จจริงจากการศึกษา ช่วงต่อมาคือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่างๆ พิจารณาไป แก้ไป และเหลือเวลา 4 เดือน การรับฟังความคิดเห็นไว้มากๆ เพราะเราเหลือเวลาทำน้อย ยิ่งต้องใช้เวลาเยอะ เพราะเราต้องรีบทำตุ๊กตาให้เร็วที่สุด ถ้ามีเวลาเต็มที่ 2-3 ปีเวลาทบทวนหรือดูขั้นสุดท้ายอาจไม่ต้องถึง 4 เดือนก็ได้ เพราะตุ๊กตาเราประณีตหน่อย แต่นี่เรามีเวลาน้อย 5 เดือนแรก เราจะได้ตุ๊กตาหยาบๆ หน่อย มีตัว มีมือ มีแขนหมด แต่หยาบๆ รายละเอียดต้องปรับเยอะ

5 เดือนแรกเราจะเห็นตุ๊กตาแล้วว่าปฏิรูปตำรวจจะออกมาแนวไหน จะนำเสนอให้ประชาชนทราบ จากนั้นช่วง 4 เดือนหลัง เราต้องมาปรับ มาทำให้ละเอียด อุดช่องโหว่ แก้ไขปรับปรุง 4 เดือน เป็นเวลาอะไหล่ แก้ไขอะไรที่มันไม่เรียบร้อย แก้ปัญหา เป็นเวลาอะไหล่ขณะเดียวกันจะสื่อให้ประชาชนทราบถึงความคิดใหญ่ๆ 5 เดือนจะเห็นตุ๊กตา แก้ไขปรับปรุงกฎหมายใหญ่ กฎหมายปลีกย่อยให้เรียบร้อย แก้ออกมาให้ผ่าน ไม่ผ่านก็ต้องแก้กันอีก

พิจารณาปฏิรูปอย่างประณีต

หลายฝ่าย การเมือง วิชาการ พยายามให้ความเห็น เป็นไปได้เราก็อยากฟัง ถ้าไม่ฟังก็คงไม่ดี 2 เดือนแรกเราก็จะฟังไปด้วย แต่ผมเชื่อว่าทรงมาอย่างไร มีอยู่แล้ว ทรงมีอยู่แล้วในอดีต เลขาฯรวบรวมมา หัวข้อซ้ำๆ ไม่เปลี่ยนหรอก เรื่ององค์กร กฎหมาย การปรับในกระบวนการยุติธรรม เรื่องปรับปรุงประสิทธิภาพ และเรื่องบริหารงานบุคคล อันนี้คือหัวข้อ แต่ละหัวข้อก็มีการศึกษามาอยู่แล้ว การศึกษากำหนดหัวข้อชุดนี้คงไม่ต่างกัน ความคิดเห็นอาจมีแตกต่างกัน แต่กรอบคงไม่ต่าง ข้อเสนอปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ คงต่างไป อันนี้เป็นสิ่งมีประโยชน์ในระดับปฏิบัติ ในเรื่องไอเดียใหญ่คงไม่มีอะไรต่างมากมาย เรื่องที่ต้องใช้เวลาคือพิจารณาอย่างประณีตที่สุดเท่าที่ทำได้

นายกฯช่วยให้ลายแทงปฏิรูป

ไม่มีหรอกตุ๊กตาที่ปั้นแล้ว ยังไม่เห็นมีใครบอกผมเลย ไม่จริง ที่นายกฯ เขียนมาด้วยลายมือบอกกรรมการว่า อันนี้นึกเอง เขียนเอง แต่จะไปเปลี่ยนอย่างไรก็ได้ นายกฯท่านขยันเขียนมา 22 หน้า ตัวใหญ่อ่านไม่ค่อยออกหรอก (หัวเราะ) สรุปได้ 5 หน้า มีประโยชน์มาก มันทำให้งานเดิน เพราะถ้าไม่มีไอเดียตรงนี้กว่าจะเดินหน้าได้ ต้องประชุมอีกหลายครั้ง แต่นี่เป็นประโยชน์มาก กรรมการทุกคนรู้พร้อมกันว่าเดินไปอย่างไร รู้แนวความคิดท่านก็ช่วยได้เยอะ

นายกฯมีส่วนสำคัญที่จะพิจารณา ท่านไม่ได้บอกว่าเอาตามนั้นเป๊ะ แต่ดูหัวข้อที่ท่านพูดมา ไม่ลืมที่ท่านพูด และคิดเพิ่มเติมไปได้ ประหยัดเวลาได้เยอะ นายกฯเขียนมาเชิงตั้งหัวข้อและตั้งคำถาม เรื่องงานยุติธรรม จะแยกงานสอบสวน หรือไม่ หากแยกจะแยกยังไง เรื่องนี้ทุกคนพูดถึงอยู่แล้วเรื่องปรับย้ายทำอย่างไรถึงจะไม่มีข้อครหา ไม่ต้องพูดถึงว่ามีครหาซื้อตำแหน่งอะไรบ้าง ผมจะไม่สนใจไปหาว่ามันมีจริงไหม เราต้องออกแบบระบบ ถ้ามีอยู่เดิมแล้ว มันเป็นอย่างนั้นเอง ไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บ

ออกแบบภารกิจตำรวจใหม่

เรื่องขององค์กร มีการพูดกันว่า ภารกิจควรจะกว้างขวางเยอะแยะ ตำรวจป่าไม้ ตรวจคนเข้าเมือง ท่องเที่ยว เยอะแยะ หรือเราต้องการภารกิจแบบที่เป็นตำรวจแท้ๆ หรือไม่ ต้องทบทวนว่า ภารกิจตำรวจต้องแค่ไหน ถ้าต้องการแค่นี้ ภารกิจที่เหลือ ต้องทำยังไง หากให้หน่วยอื่นต้องทำอะไร ต้องมาคิดว่าในประเทศนี้ต้องการให้ตำรวจทำอะไร ตำรวจแท้ๆ ที่ต้องการ ทำแค่ไหน แบบที่ตำรวจแท้ๆ ในประเทศอื่นเขาไม่ทำ แล้วตำรวจในประเทศไทยเป็นอย่างไร ภารกิจบางอย่างเยอะไปหรือเปล่า ผมฟังๆ เสียงพูดกันแม้แต่ตำรวจเองก็ยอมรับ

ปรับให้เป็นตำรวจท้องถิ่น

อีกเรื่องตำรวจท้องถิ่น อยากให้จบสิ้นการทำงานในจังหวัดไม่ต้องขึ้นมาข้างบน การปฏิบัติการสั่งการทั้งหลายให้จบในจังหวัด ถ้าแบบต้องขึ้นมาถึงข้างบนมันจะช้า ปัญหาระดับท้องถิ่นต้องการความรวดเร็ว ตำรวจท้องถินต้องไปอีกแบบ แล้วตำรวจจะชำนาญพื้นที่มากขึ้น ตำรวจบางคนไปอยู่ที่บ้านเกิด ไปอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น การทำงานก็ไม่ต้องสนใจข้างบนมากนัก สนใจผู้บังคับบัญชาในที่นั้น การประสานงานท้องถิ่นจะดีขึ้น อันนี้เป็นแนวโน้มการปกครองท้องถิ่นอยู่แล้ว ผมว่าน่าจะดี ผมว่าตำรวจก็เห็นด้วย ฟังๆ ดูตำรวจจะบอกว่าการปฏิบัติจริงไม่ได้ง่าย มีท้องถิ่นมีการสั่งการแบบเดิมๆ อยู่แล้ว จะลบ และเปลี่ยนมันยาก ต้องเอาคนมาทำอะไรที่ไม่เคยทำ ให้เขาผิดแปลกไป สมมุติเขาเคยเป็นตำรวจท่องเที่ยว แล้วถ้าไม่มีตำรวจท่องเที่ยว จะทำอย่างไร เอาไปไว้ไหน มันยากกว่าเริ่มจากศูนย์ (0) เพราะมันทำมาแล้ว จะขึ้นต้นแล้วเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา เราไม่ค่อยกังวลเพราะการปฏิรูปจริงๆ จะเริ่มหลังจาก 9 เดือนนี้ ช่วง 9 เดือน ออกแผนเท่านั้นว่าจะออกมาอย่างไร แผน และกฎหมาย ถ้าเป็นจริงต้องเข้าสู่ระบบยุทธศาสตร์ชาติไป จะมีบังคับในกฎหมายหลายเรื่องต้องใช้เวลา และให้เวลา

ฟื้นรูปแบบสมัยสู้คอมมิวนิสต์

ใหญ่ขึ้นคงไม่ใช่ เล็กลง ก็อาจไม่เล็กลงมากมาย เราต้องนับว่าตำรวจในพื้นที่ก็คือตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมมุติว่าเขาไปทำงานเน้นการรายงานให้แค่ระดับจังหวัดแต่ยัขึ้นปกครองโดย ตร.แต่การใช้งานปฏิบัติหน้าที่ขึ้นกับจังหวัด ทหารเราใช้คำว่าควบคุมทางยุทธการ โอเปอเรชั่นคอนโทรล แต่คงไม่ขึ้นบัญชาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะตำรวจอาจไม่ค่อยสบายใจ เราก็จะทำให้สอดคล้องกับการปฏิรูปเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ คือ กอ.รมน. เหมือนในยุคคอมมิวนิสต์ที่ใช้ได้ผล ยุคนั้นการปฏิบัติงานร่วมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ไปได้ดี จนเราชนะคอมมิวนิสต์ แม้เราไม่ได้อยู่ในยุคนั้น แต่รูปแบบการแก้ปัญหาแบบนั้นจะแก้ปัญหาตอนนี้ได้ การปฏิบัติงานเล่นคนละเพลงอยู่ใน กอ.รมน. ใน กอ.รมน.มีตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตำรวจ ทหาร ที่ปฏิบัติอยู่ขึ้นกับ กอ.รมน.นี้ เขามีเจ้านายอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว มันไม่ต้องรายงานมาที่ ภาค-ตร.ช้า ทำงานไม่ทัน ใน กอ.รมน.จว.อาจเป็นทหารคุมก็ได้ ทหารเป็นหนึ่งในนั้น ไม่แน่ใจ อันนี้เป็นโครงสร้างที่ทำอยู่ เดิมมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายทหาร ไม่มีบทบาท เท่าใดนัก แต่ที่กำลังทำใหม่ ที่มีตำรวจเข้าไป กำลังรื้อฟื้นใหม่ให้แข็งแรง เมืองไทยอาจต้องทำอะไรอย่างนี้ กอ.รมน.กำลังออกแบบอยู่ เราก็ออกแบบตำรวจให้สอดรับกับตรงนั้น แนวโน้มอย่างนั้น แต่เขาไม่ได้สั่งว่าต้องทำแบบนั้น

ลดอำนาจส่วนกลาง

จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ แต่บางทีไม่ใช่อย่างนั้น เป็นอำนาจตามกฎหมาย อะไรที่ให้อำนาจ ควบคุมอำนาจมากเกินไป ไม่ค่อยดี ลงเอยจะคุมอะไรไม่ได้สักอย่าง ทำอะไรก็ไม่ รู้เอาชื่อเจ้านายไปขาย อ้างว่าเอาสตังค์แบบนี้ ยุ่งเหมือนกัน พอคุมไม่ได้ เลยกลายเป็นคนไม่มีอำนาจแม้แต่จัดการช่วยตัวเองก็ยังยาก ถ้าเรามีกำลังของเราที่คุมได้ติด คุมได้อย่างมีคุณภาพจริง จะดี ถึงมีเรื่องการกระจายอำนาจ

ออกแบบอำนาจผบ.ตร.ใหม่

ไม่ถึงขนาดนั้น จะปรับให้ท้องถิ่นมากขึ้น อาจจะปรับต้องพิจารณาเป็นการบ้านสำคัญที่สุดสำหรับกรรมการ เรื่องข้อเท็จจริงมีมาก แต่เรื่องข้อพิจารณาลงเอยต้องตัดสินใจ จะเอาอย่างไรแน่ นี่คือหน้าที่กรรมการ ข้อขัดแย้งความไม่เห็นด้วยมีแน่ แต่บอกว่าเวลาปฏิบัติมันไม่ง่าย แต่คิดว่ายุคนี้เป็นยุคต้องเปลี่ยนแปลง แค่ทำของใหม่ให้มันดี ถูกหลักการ ถ้าสร้างระบบดีของไม่ดีจะออกไปเอง ของไม่ดีจะมีน้อย ถ้าระบบโครงสร้างดี ของไม่ดีค่อยๆ หายไป

สร้างระบบนายดูแลลูกน้อง

ผมว่าตำรวจกับทหารไม่เหมือนกันในข้อใหญ่ๆ ทหารปฏิบัติงานเป็นทีมเป็นหน่วย ตำรวจต้องสามารถทำงานด้วยตัวบุคคลได้ คนเดียวมีอำนาจตามกฎหมายทำงานได้ ทหารต้องไปหน่วย พลทหารมีการศึกษานิดหน่อยยิงปืนเป็นพอทำงานได้แล้ว แต่ตำรวจต้องทำงานได้ด้วยตัวคนเดียวต้องมีอะไรหลายๆ อย่าง แต่เรื่องที่เหมือนกันคือเราใช้อาวุธ แม้อาวุธไม่เหมือน อีกอย่างเราต้องดูแลลูกน้อง ในทางที่ถูกต้องและต้องระบบที่เราดูแลได้ง่าย ไม่ใช่ระบบที่ใช้กำลังของตนเอง ทุกวันนี้ให้ตำรวจดูแลลูกน้องด้วยกำลังของตนเองเป็นไปได้ยาก มันไม่มีระบบ ตรงนี้ต้องศึกษา หรือที่บอกว่าลูกน้องต้องดูแลเจ้านาย คงมีความจริงอยู่บ้าง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด

ส่วนของทหารเรียบร้อยดี มีระบบที่ลูกน้องได้รับสวัสดิการ ถึงเงินเดือนน้อย แต่ที่พักอาศัย ดี มีกีฬาเล่น มีสวัสดิการ สบายไม่ต้องกังวล มีซิเคียวริตี้ ที่พักอาศัยดี อยู่สบายใจ ที่ต้องทำคือให้เขาอยู่อย่างสบายใจ ไม่เคร่งเครียดเพราะความขาดแคลน ถ้าราชการไม่มีให้ ตำรวจอยู่ลำบาก ผมต้องไปดูว่าตำรวจมีระบบการดูแล ความเป็นอยู่กันอย่างไร ทหารอยู่ด้วยกัน ได้ฝึก ได้อยู่ร่วมกันพร้อมเพรียงติดต่อง่าย ดีกว่าเยอะ ดีทั้งต่อตัวเขาและต่อประสิทธิภาพการทำงานให้บ้านเมือง หลายอย่างดูแบบอย่างทหารได้ นี่ คือสิ่งที่ทหารตำรวจต้องมีเหมือนกัน คือการดูแลสวัสดิภาพสวัสดิการของผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัว สำคัญมาก

ยันต้องแก้ส่วย-ทุจริต

เรื่องนี้ไม่มีใครรับได้ เพราะแย่ สมมุติว่าผู้น้อยเขาไม่มีเงินใช้ เพราะเงินเดือนน้อย สวัสดิการน้อย เครียด คนเครียดถ้ามีเงินเดือนสูงขึ้น มีบ้านพักราชการ มีคนดูแล ความเครียดลดลง ที่บ้านลูกเมียไม่ได้อยู่อย่างสุขสบาย กลับไปก็สร้างความเครียดอีก แถมถ้าอยากจะก้าวหน้าต้องดูแลเจ้านายให้ดีก็บังคับในตัว น้อยคนนะที่มีอุดมการณ์แบบว่าลำบากขนาดนั้น ก้มหน้าก้มตาโดยไม่ต้องเลื่อนอะไร แล้วทำไปอย่างนั้น แบบนั้นต้องเรียกว่าคนที่เป็นซุปเปอร์แมน ไม่ใช่คนธรรมดา เราต้องวางแผนแล้วคิด ตามที่คนธรรมดาเขาเป็นกัน ไม่ใช่คนที่ผิดธรรมดา ถ้าคิดแบบเป็นคนไม่ธรรมดา ไม่ต้องปรับอะไร เพราะคนดีอยู่ที่ไหน อย่างไร ไม่ต้องการ

อะไร ทำได้ อดทน ทำกับเขาอย่างไรก็ได้ ไม่เรียกร้อง ทำหน้าที่โดยไม่มีขออะไรทั้งสิ้น นี่คือซุปเปอร์แมน ถ้าใครวางแผนโดยพื้นฐานนี้แล้วเอาไปใช้กับตำรวจ ว่าตำรวจต้องเป็นซุปเปอร์แมนทุกคน ก็คงจะผิดพลาด มันก็ชัดเจน เรื่องนี้ต้องทำให้เร่งด่วน เท่าที่เร่งได้

นำร่องปฏิรูปปรับย้ายเก้าอี้

เรื่องที่เร่งด่วนจริงๆ เรื่องการปรับย้ายต้องทำให้เสร็จภายในธันวาคม เป็นข้อเดียว เรื่องอื่นทอดเวลาได้ นายกฯให้โจทย์เรื่องการแก้ปัญหาบุคลากรให้เสร็จในเดือนธันวาคมไม่ต้องวางไอเดียอะไร คนที่คิดได้มีเยอะ ต้องเอามาถกกัน จากที่เสนอในอดีตเป็นต้นมาเอามาถกกัน นี่เป็นเรื่องท้าทาย การคิดวางแผนปฏิรูป ต้องคิดภายใต้บริบทสังคมไทย เรื่องอุปถัมภ์ ระบบ บุคคล

ประชาชนไม่แฮปปี้ถือว่าไม่สำเร็จ

ถ้าประชุมกันไปได้ไอเดียออกมา แต่ทำไม่ได้สักเรื่อง อันนี้เรียกว่าทำการบ้านเสร็จ แต่ไม่สำเร็จ ถ้าปฏิรูปแล้วประชาชนไม่แฮปปี้ก็ถือว่าไม่สำเร็จเหมือนกัน ครั้งนี้ต้องทำให้เสร็จและสำเร็จครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งอื่นเพราะมันอยู่ในรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญ และโดยกระแสก็เอื้อ และอีกอย่างที่ช่วยได้มาก กรรมการที่เขาตั้งคนดีๆ ทั้งนั้น ผมว่าตำรวจนี่แหละ อยากปฏิรูปยิ่งกว่าคนอื่นๆ

คณะกรรมการชุดนี้ต้องเป็นผู้ใหญ่ รอบคอบ มีประสบการณ์ ในอนุกรรมการจะมีผู้น้อย รุ่นเล็กมากขึ้น มาช่วยกันเสนอ เราไม่ให้จุดอ่อนข้อไหนหายไป เราต้องรับฟังประชาชนเราก็รับฟังมากขึ้น เสนอเข้ามาเราจะมาจัดหมวดหมู่ ไม่ยาก จะตั้งอนุกรรมการ 3-4 ชุด รวมถึงสำรวจความคิดเห็นอีกชุด มีรูปแบบสำรวจความคิดเห็น เรื่องนี้ต้องไม่มุบมิบทำ เปิดให้มากที่สุด ไม่ปิดบัง ไม่ใช่เรื่องลับ ให้ประชาชน สังคมมีส่วนร่วมมากที่สุด

ผมเข้าใจตำรวจ เข้าใจในความยากลำบาก เมื่อผมเป็นเด็ก ในตำบลผมมีตำรวจอยู่คนเดียวเป็นจ่า แกดี๊ดี ดีมากเลย จ่าจะสนิทกับชาวบ้านหมด นี่ไงตำรวจท้องถิ่นไม่ต้องมีมาก แค่ให้ชาวบ้านนับถือเกรงกลัวเพราะชาวบ้านรู้ว่าคนตงฉิน คนเดียวรู้ไส้รู้พุงคนในพื้นที่ ไม่ใช่ย้ายไปตรงนั้นตรงนี้ ถ้าตำรวจท้องถิ่นทำให้ดี จะมีประสิทธิภาพมาก กลับไปอยู่บ้าน ถ้าตำรวจคนไหนไม่ดี ชาวบ้านก็รู้

ตำรวจสัญญาบัตรก็คิดว่าทำอย่างไรให้อยู่กับท้องถิ่นแล้วเติบโตได้ มีระบบที่ทำให้รู้ว่า ถ้ายังไม่ถึงเวลาที่คุณจะได้ออกจากพื้นที่ เที่ยววิ่งเต้นข้ามสายบังคับบัญชา ข้ามหัว ผิดปกติ วิธีการไปได้ดี คือก่อนจะออกนอกจังหวัดต้องทำงานในจังหวัดให้มีชื่อเสียง จะมีรายงานประเมินผล เป็นส่วนประกอบ

ไม่กดดัน-ประสานจุดร่วม

ไม่กดดัน ใครคิดยังไงไม่เป็นไร ผมมีหน้าที่ ผมค่อนข้างชินกับการระดมความคิดจากผู้รู้ทั้งหลาย ผมเป็นประธานคลังสมองศิษย์เก่า วปอ. และผมเป็น ผอ.สถาบันยุทธศาสตร์ ทิงค์แทงค์เป็นการประสานความขัดแย้ง เปรียบเทียบประสานความคิด ให้ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่การยกมือแบบการเมือง ชุดนี้ก็จะใช้วิธีการระดมสมอง คุย ประสานความคิด ไม่ใช่ยกมือ ทุกคนมีวุฒิภาวะแล้ว แต่เชื่อว่าถ้าคุยกันด้วยเหตุผลจะเข้าใจ ผมว่าทุกคนมีเหตุมีผล ไม่ใช่อารมณ์ เรื่องอารมณ์ผูกพันกับหน่วยของเดิมมีบ้างแต่ไม่มาก ผมว่า 9 เดือนเสร็จทัน ต้องเสร็จและสำเร็จ ไม่มีธง

สิ่งที่นายกฯให้มาแค่แนวทาง สะท้อนสิ่งที่ท่านคิด ไม่ได้บอกว่าต้องทำตาม นั่นไม่ใช่ธง นายกฯบอกสิ่งที่คิด ฟังเขามามาก ผมว่าผู้ที่มีประสบการณ์ในการบริหารคิดไม่แตกต่างกัน เพียงแต่เขียนออกมาให้ชัดเจน ที่นายกฯให้ เป็นเรื่องชี้ปัญหา ให้คิดได้หลายทาง หรือไม่ให้ทางเลย ไม่เป็นธง

ผมแก้ปัญหา ปฏิรูปตำรวจด้วยมุมมองแบบคนกลางๆ ตำรวจเคร่งเครียด ผมเห็นใจตำรวจ เขาปฏิบัติงานกับของจริงทุกคน ทหารเราเพียงฝึกรบ แต่ตำรวจรบทุกวัน อยู่กับการเสี่ยง ตำรวจเครียดกว่าทหารนะ กลับมาบ้านเครียด ครอบครัวแตกแยก หากต้องรับเงินรับทอง ถ้าจริงต้องส่งส่วยเพื่อความก้าวหน้า ให้ตำรวจสามารถดูแลลูกน้องให้ดี ให้มีลู่ทางดูแลลูกน้อง ทหารมีระบบงบที่ไปสู่ผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ใหญ่มีงบดูแลสวัสดิการลูกน้องได้ด้วย ทำให้ลูกน้องรู้ ผู้ใหญ่ห่วงใย ทหารรักเจ้านายเพราะเจ้านายดูแลห่วงใย ปรับให้ผู้น้อยอยู่ท้องถิ่นตัดวงจรไม่ดีต่างๆ บางอย่างไม่ต้องพูดว่ามันไม่ดีจริงไหม ถ้าพูดดกันอื้ออึงขนาดนี้ก็น่าอนุมานเอาได้ ไม่ต้องคิดอะไรมาก มาจัดองค์กร ระบบบริหารให้ดี ของไม่ดีไปเอง

สำหรับตำรวจผมว่านี่คือโอกาสที่ทุกคนต้องเสียสละ มุ่งเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผมว่าชาวพุทธเราต้องนึกถึงคนตกทุกข์ได้ยากให้มาก ต้องมีเมตตากับผู้น้อย ผู้ที่ตกทุกข์ ต้องช่วยเขาให้มาก ถ้าจัดการเรื่องตำรวจดี ใน 10 ปี อาจมีคนตกทุกข์ได้ยากน้อยลง เสียเลือดเนื้อน้อยลง เพราะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเยอะ ช่วยให้โจรลดลง คนตายลดลงเป็นพัน จับผู้ร้ายได้มากขึ้น ผมถือว่าเป็นกุศลที่ได้ทำเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image