‘หมอธี’ ไม่สนเสียงค้านเลิกครู 5 ปี เดินหน้าผลิตแม่พิมพ์ 4 ปี เริ่มปี 61 ตกลงกันไม่ได้ทำ 2 ระบบควบ

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้หารือร่วมกับ ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(ทปอ.มรภ.) 38 แห่ง ซึ่งได้มีการพูดคุยถึงเรื่องระบบการผลิตครู ที่ต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตามพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่ทรงเน้นให้มรภ. เป็นสถาบันหลักในการผลิตครูที่มีคุณภาพ โดยที่ประชุมได้หารือถึงกรณีที่ คณะกรรมการคุรุสภา ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ ตามที่สภาคณบดีคณะครุศาสตร์ /ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ส.ค.ศ.ท. )เสนอให้กลับไปผลิตครูในหลักสูตร 4 ปี โดยที่ประชุมได้มีการพูดคุยเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทำให้มีความชัดเจนจะต้องมีการปรับระบบครั้งใหญ่

“การประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ประชุมมีมุมมองทั้งสองด้าน มีทั้งกลุ่มที่แน่ใจและไม่แน่ใจ แต่หากดูจากกรณีศึกษาในต่างประเทศจะพบว่าหากระบบไม่ลงตัว ก็สามารถมีหลายระบบได้ เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องมาวัดกันที่ผลผลิต โดยที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการวิจัยของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับการผลิตครูหลักสูตร 5 ปี ซึ่งพบว่า มีจุดอ่อนที่เน้นเนื้อหา ไม่ใช่สมรรถนะ เด็กต้องเสียเวลาเรียนเพิ่มขึ้น 1 ปี โดยมีผลวิจัยมาเทียบเคียงว่าเด็กที่จบหลักสูตร 5 ปี กับ 4 ปี มีคุณลักษณะไม่แตกต่างกัน และจากข้อมูลการผลิตครูพบว่า ในแต่ละปีมีการผลิตครูถึง 5 หมื่นคน โดยมีค่าใช้จ่าย 1 แสนบาทต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตาม มีผู้แสดงความคิดเห็นว่าการผลิตครูขึ้นอยู่กันประบวนการไม่ใช่จำนวนปี โดยยกตัวอย่างการผลิตครูตามโครงการคุรุทายาท ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตครูที่เข้มข้นโดยใช้ระยะเวลาเพียง 4 ปี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าคิดในการนำมาพิจารณาถึงกระบวนการผลิตครูที่ชัดเจนต่อไป ”นพ.ธีระเกียรติกล่าว และว่า ส่วนที่ตั้งเป้าว่าระบบการผลิตใหม่นี้จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไปนั้น ขอยืนยันว่าระบบการผลิตครูที่ได้รับการพัฒนาใหม่นี้จะทันใช้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน เพราะหากตกลงไม่ได้และต้องมี 2 ระบบ ก็จะต้องไม่ทำให้ผู้เรียนหลักสูตร 5 ปี และ 4 ปีได้รับผลกระทบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image