สารเคมีกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ปลอดภัยต่อผลผลิต คนและสิ่งแวดล้อม

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การใช้สารเคมีเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวด้วยวิธีผสมผสาน ภายใต้โครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดซื้อสารเคมีสำหรับใช้ในโครงการ สำหรับสารเคมีที่เลือกนำมาใช้ในครั้งนี้กรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาวิจัยพบว่ามีความเป็นพิษน้อยต่อคนและสัตว์ รวมถึงไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิตทั้งในเนื้อและน้ำมะพร้าวอีกด้วย

โดยสารเคมีที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้กำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว แบ่งเป็นสารเคมีฉีดเข้าต้น สำหรับมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตรขึ้นไปแต่ห้ามใช้ในมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวทำน้ำตาล แนะนำให้ใช้ สาร emamectin benzoate 1.92% EC (อิมาเม็กติน เบนโซเอต) เท่านั้น ใช้ในอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น ส่วนมะพร้าวที่ความสูงต่ำกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวทำน้ำตาลทุกระดับความสูง แนะนำให้ใช้สาร flubendiamide 20% WG (ฟลูเบนไดอะไมด์) อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสาร cholrantraniliprol 5.17% SC (คลอแรนทรานิลิโพรล) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

Advertisement

“ขอยืนยันว่าการใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรทั้งวิธีการเจาะเข้าต้นหรือพ่นทางใบ จะไม่พบสารเคมีตกค้างในเนื้อและน้ำของมะพร้าวแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าการพ่นสารเคมีจะทำให้สารเคมีฟุ้งกระจายส่งผลกระทบต่อคนหรือสิ่งแวดล้อมนั้น ก็ขอยืนยันว่าสารเคมีที่เลือกมาใช้นี้มีความปลอดภัยสูงสุดแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับสารเคมีที่ฉีดพ่นยุงลายตามบ้านเรือนหรือแหล่งชุมชน สารเคมีกำจัดหนอนหัวดำมีพิษน้อยกว่านั้น ที่สำคัญกรมส่งเสริมการเกษตรได้อบรมถ่ายทอดความรู้การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องปลอดภัยให้กับผู้รับจ้างฉีดและพ่นสารเคมีที่เข้าร่วมโครงการทุกคน จึงมั่นใจได้ว่าการใช้สารเคมีเป็นไปตามหลักวิชาการทุกประการ มีความปลอดภัยทั้งต่อผลผลิต คน และสิ่งแวดล้อม” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวย้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image