แปลงใหญ่พริก อ.ยางชุม จ.ศรีษะเกษ เน้นพึ่งตนเองบริหารจัดการแปลงปลูกอย่างเป็นระบบ

นางสาวสุจิตรา  จันทะศิลา  ประธานแปลงใหญ่กลุ่มผู้ปลูกพริกเพื่อการแปรรูป บ้านโนนติ้ว ต.โนนคูณ อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า  จากสถานภาพการผลิตพริกในเขตอำเภอยางขุมน้อยพบว่าเกษตรกรประสบปัญหาในการผลิต โดยเฉพาะขาดการจัดการที่เหมาะสม ส่งผลให้ปริมาณและคุณภาพผลผลิตต่ำ จึงได้เกิดการรวมตัวของเกษตรกรในพื้นที่ในลักษณะกลุ่มผู้ปลูกพริก เพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรมยาเมื่อปี 2556 และได้ดำเนินการมาเรื่อยจนถึงปี 2558 ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน พร้อมกับดำเนินการพัฒนาคุณภาพพริกโดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการที่เหมาะสม ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา และเทคนิคพิเศษด้านการ  ตัดแต่งกิ่ง ปักค้าง และอื่นๆ เพื่อให้ได้พริกปลอดภัยและเหมาะสมที่มีลักษณะตามความต้องการของตลาด

แต่ด้วยการดำเนินงานที่ยังขาดสภาพคล่องด้านเงินทุน แม้ว่าจะเป็นกลุ่มผลิตพริกคุณภาพ แต่ก็ไม่สามารถขยายกิจการให้รองรับกับความต้องการของตลาดได้ ซึ่งต่อมาในปี 2559 จึงได้เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร พร้อมกันนั้นก็ได้มีการเขียนแผนธุรกิจขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดในการพัฒนาตั้งแต่ภาคการผลิตไปจนถึงการตลาด ได้แก่ การจัดซื้อปัจจัยการผลิต การปรับปรุงอาคารโรงเรือนสำหรับเก็บและแปรรูปผลผลิต การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการทำเกษตรที่เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำไปพร้อมๆ กัน ปัจจุบันตลาดมีการขยายตัวมีความต้องการพริกคุณภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อใช้ในหลายๆ อุตสาหกรรม กลุ่มจึงได้มีการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์พริกให้ตรงกับความต้องการของตลาดขึ้นมา ทำให้ลดต้นทุนในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ลงไป รวมถึงมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและสามารถควบคุมได้ ลดการใช้สารเคมี ผลิตพริกนอกฤดู พร้อมกับวางแนวทางการผลิตพริกในอนาคตไปสู่ระบบอินทรีย์ต่อไป

Advertisement

ทั้งนี้จากการได้รับสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากโครงการแปลงใหญ่ในวงเงิน 8,000,000 บาท ทำให้กลุ่มสามารถดำเนินกิจการที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น จากแนวโน้มการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากสามารถขยายพื้นที่การปลูกพริกได้ครอบคลุม 3 ตำบลในพื้นที่ อ.ยางชุมน้อย ซึ่งการเลือกใช้พื้นที่ที่มีความห่างไกลกันก็เป็นหนึ่งในวิธีบริหารจัดการผลผลิตเพื่อลดความเสี่ยง หากพืชเกิดโรคระบาดก็จะสามารถควบคุมผลผลิตได้ โดยไม่กระทบกับพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้สามารถวางแผนบริหารจัดการผลผลิตของสมาชิกได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ในส่วนของการพัฒนาพันธุ์พริกของกลุ่ม ขณะนี้กลุ่มสามารถพัฒนาสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ตลาดได้หลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้นตามไปด้วย อาทิ อุตสาหกรรมยา พริกสด พริกแห้ง พริกแกง เป็นต้น

Advertisement

“อย่างไรก็ตามในอนาคตกลุ่มได้ตั้งเป้าหมายลดการใช้สารเคมีให้น้อยลง พร้อมกับเตรียมศึกษาและส่งเสริมให้สมาชิกผลิตพริกนอกฤดู พร้อมกับวางแนวทางการผลิตพริกในอนาคตไปสู่ระบบอินทรีย์ต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตพริกให้ดียิ่งขึ้น รองรับความต้องการของตลาดในอนาคตที่มีแนวโน้มจะแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพ ซึ่งหากกลุ่มสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้สมาชิกกลุ่มมีความเข้มแข็งและยั่งยืนในการอาชีพตลอดไป” นางสาวสุจิตรา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image