“กระหัง” มาจากไหน? ส่องผีไทยในกฎหมายตราสามดวง เผย “กระสือ” ถูกเมินรับพิจารณาคดี

สืบเนื่องกรณีกระแสข่าวชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์อ้างว่าพบ “กระหัง” บนยอดไม้ สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก บ้างก็เชื่อว่ามีจริง บ้างก็ว่าเป็นเพียงความเชื่อที่ยังไร้ข้อพิสูจน์ บ้างก็ว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่

สำหรับแง่มุมทางด้านประวัติศาสตร์นั้น “มติชนออนไลน์” ได้ค้นคว้าข้อมูลจากกฎหมายตราสามดวง โดยมีส่วนที่กล่าวถึง “ผี” จำพวกต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อของคนในอดีต และบอกชื่อผีซึ่งเป็นที่รู้จักในช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏชื่อ “กระหัง” ในเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด มีเพียง กระสือ ฉมบ และจะกละ
ประเด็นนี้ ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ว่าความเชื่อเรื่องกระหังเป็นสิ่งที่กเิดขึ้นใหม่ จึงไม่ปรากฏในเอกสารโบราณ อย่างไรก็ตาม หากจะสันนิษฐานได้อย่างแน่ชัด ต้องค้นคว้าเอกสารเพิ่มเติม อาทิ เอกสารของหมอบรัดเลย์ เป็นต้น

กรณี “ผี” ตนอื่นๆ ที่ระบุจำพวกไว้อย่างแน่ชัดในกฎหมายตราสามดวงนั้นปรากฏในพระไอยการลักษณะรับฟ้องซึ่งบอกคุณสมบัติของผู้ที่สามารถฟ้องได้และไม่ได้ ในส่วนของผู้ที่จะไม่ถูกรับฟังในการฟ้อง หรือมีลักษณะต้องห้ามนั้น ส่วนหนึ่งก็คือกลุ่มผีได้แก่ ฉมบ จะกละ กระสือ นั่นเอง

ข้อความตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“ถ้าแลอนาประชาราษฎรมีถ้อยคำร้องฟ้องศาลา แลฟ้องร้องเรียนกฎหมายโรงสารกรมใด ๆ …. อนึ่งเปนสัจว่าเปนฉมบจะกละกะสือ แลมาฟ้องร้องเรียนแก่มุขลูกขุนก็ดี … แลราษฎรผู้ต้องคะดีมีถ้อยคำตัดฟ้อง 20 ประการนี้ ท่านให้มุขลูกขุนพิภากษาตามบทพระไอยการพระราชกฤษฏีกา ถ้าต้องด้วยพระไอยการห้าม 20 ประการนี้แล้วให้ยกฟ้องเสีย”

กล่าวโดยสรุปคือ ถ้าเป็นผีตามรายชื่อที่กล่าวมา ไม่ต้องพิจารณาคดี

ทั้งนี้ กระสือ เป็นผีที่คนไทยยังคุ้นเคยจนถึงปัจจุบันผ่านเรื่องเล่า ละคร และภาพยนตร์ ส่วน ฉมบ แทบไม่มีใครรู้จักแล้ว ความหมายที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ไว้คือ ผีผู้หญิงที่ตายในป่าและสิงอยู่ในบริเวณที่ตาย มีรูปเห็นเป็น เงา ๆ แต่ไม่ทำอันตรายใคร, ชมบ หรือ ทมบ ก็ว่า

สำหรับ จะกละ คือผีที่เชื่อว่ามีรูปร่างเป็นแมว อยู่ในจำพวกผีป่า หมอผีชาวป่าเลี้ยงไว้ใช้ทำลายศัตรู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image