แผนกำจัดดาวเคราะห์น้อย ที่พุ่งเข้ามาหาโลกของนาซา

ภาพ NASA

นับตั้งแต่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้าชนโลกครั้งใหญ่เมื่อเกือบ 65 ล้านปีก่อน โลกของเราก็ “ปลอดภัย” จากดาวเคราะห์น้อยมาจนถึงทุกวันนี้

แต่กระนั้นก็ตาม องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ก็มีแผนที่จะปกป้องโลกจากดาวเคราะห์น้อยที่อาจจะพุ่งมาชนโลกอีกเมื่อไหร่ก็ได้ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงใหม่ล่าสุดของทีมปกป้องโลกของนาซา ที่เรียกว่า “การทดสอบการเปลี่ยนทิศทางดาวเคราะห์น้อยเป็นสองเท่า” หรือ “ดาร์ท” ที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบโครงการจากนาซาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

โดยเป้าหมายของดาร์ท คือการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งมาเข้าใกล้ดาวโลก

ยานดาร์ท

ลินด์ลีย์ จอห์นสัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกป้องโลก แห่งสำนักงานใหญ่ของนาซา ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า “ดาร์ทถือเป็นปฏิบัติการแรกของนาซาที่จะสาธิตให้เห็นถึงเทคนิคในการพุ่งชนเพื่อให้ดาวเคราะห์น้อยเปลี่ยนวงโคจร เพื่อปกป้องอันตรายที่อาจจะเกิดจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย”

Advertisement

ทั้งนี้ นาซามีแผนที่จะทดสอบระบบดาร์ทนี้กับดาวเคราะห์น้อยที่ชื่อ “ดิดีมอส” โดยดิดีมอสเป็นภาษากรีก แปลว่า “คู่แฝด” เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยที่เป็นดาวเคราะห์น้อยคู่ คือมี ดิดีมอส เอ ขนาด 780 เมตร กับดาวเคราะห์น้อยอีกดวงที่มีขนาดเล็กกว่า เรียกว่า ดิดีมอส บี ขนาด 160 เมตร ซึ่งบางตำราก็ระบุว่า ดาวเคราะห์น้อย ดิดีมอส บี คือดวงจันทร์ของดาวเคราะห์น้อยดิดีมอส ที่คาดว่าจะเข้าใกล้โลกในเดือนตุลาคม 2022 และอีกครั้งในปี 2024

โดยระบบของดาวเคราะห์น้อยดิดีมอสถูกศึกษาอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา และเหมาะสำหรับการทดสอบในครั้งนี้

ทอม สแตทเลอร์ นักวิทยาศาสตร์ของโครงการดาร์ท กล่าวว่า ระบบดาวเคราะห์น้อยคู่ถือว่าเหมาะมากสำหรับการทดสอบนี้ เนื่องจาก ดิดีมอส บี โคจรอยู่รอบดิดีมอส เอ ทำให้ง่ายต่อการดูผลที่จะเกิดขึ้นหลังการกระทบ และเพื่อให้แน่ใจว่าการทดสอบนี้จะไม่ไปเปลี่ยนแปลงวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์น้อยทั้งคู่

Advertisement

แอนดี ริฟคิน หนึ่งในหัวหน้าทีมของดาร์ท เปิดเผยว่า เหตุผลที่เลือกทดสอบกับดวงจันทร์ของดาวเคราะห์น้อย เนื่องจากเราสามารถเปลี่ยนวงโคจรรอบดิดีมอสได้ง่ายกว่า และสามารถวัดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า

ทั้งนี้ ปฏิบัติการจะเริ่มจากการยิงยานอวกาศ “ดาร์ท” ซึ่งมีขนาดเท่ากับตู้เย็น ออกจากโลกในปี 2020 เพื่อมุ่งหน้าไปยังดิดีมอส และใช้ระบบกำหนดเป้าหมายอัตโนมัติเพื่อมุ่งสู่ ดิดีมอส บี หลังจากนั้น ยานดาร์ทก็จะพุ่งเข้าชน ดิดีมอส บี ด้วยความเร็วที่เร็วกว่าลูกกระสุนถึง 9 เท่า หรือราว 6 กิโลเมตรต่อวินาที หลังจากนั้น ศูนย์สังเกตการณ์บนโลกก็จะคอยจับตาดูผลที่เกิดขึ้น

แอนดี เฉิง จากห้องปฏิบัติการจอห์น ฮอปกินส์ แอพพลายด์ ฟิสิกส์ เมืองลอว์เรล รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา หนึ่งในหัวหน้าทีมของดาร์ท กล่าวว่า ดาร์ทถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการที่จะแสดงให้เห็นว่า เราสามารถปกป้องโลกของเราได้จากดาวเคราะห์น้อยที่อาจจะพุ่งเข้ามาชนโลก

“เนื่องจากเราไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับโครงสร้างภายใน หรือส่วนประกอบของดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ เราจึงต้องมีการทดสอบกับดาวเคราะห์น้อยจริงๆ ด้วยดาร์ท ที่สามารถแสดงให้เห็นว่า เราจะปกป้องโลกจากการถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน ด้วยเทคนิค คีเนติก อิมแพคเตอร์ พุ่งเข้าชนวัตถุที่เป็นอันตรายต่อโลกให้เปลี่ยนทิศทางออกไป

ทั้งนี้ มีอุกกาบาตขนาดเล็กที่ตกลงพื้นผิวโลกอยู่ทุกวัน ส่วนใหญ่ก็จะแตกกระจายบนชั้นบรรยากาศ และส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีคนสังเกตเห็น และไม่เป็นอันตรายต่อโลก ซึ่งอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่จะเป็นอันตรายต่อโลก ก็จะมีอยู่น้อยมาก แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือเมื่อปี 2013 ที่มีอุกกาบาตขนาดราว 65 ฟุต เกิดระเบิดขึ้นกลางอากาศเหนือน่านฟ้าเมืองเชลยาบินสก์ ประเทศรัสเซีย สร้างความเสียหายทั่วเมือง และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึงราว 1,500 คน

เพราะฉะนั้น การหาทางป้องกันเอาไว้ก่อน เป็นเรื่องดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image