สนช.ผ่านฉลุย กม.อาญานักการเมือง เปิดไต่สวนลับหลังได้

มติเอกฉันท์ สนช. ผ่าน กม.คดีอาญานักการเมือง ชี้ ไต่สวนลับหลัง ไม่ละเมิดสิทธิจำเลย

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีมติเอกฉันท์ 176 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. …. การประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.แล้วให้กับศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาว่าเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้อภิปราย โดยถามถึงความชัดเจนในมาตรา 26-27 ว่าด้วยการให้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญานักการเมืองพิจารณาไต่สวนคดีลับหลังจำเลย จะถือว่าละเมิดสิทธิของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นจำเลยหรือไม่ และกฎหมายฉบับนี้ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและกติกาสิทธิพลเมืองที่ยูเอ็นได้รับรองไว้หรือไม่ โดยนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง สมาชิกสนช.ในฐานะประธานคณะ กมธ.วิสามัญฯ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ทั้งนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการกระทำที่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไป ยากต่อการแสวงหาพยานหลักฐาน อีกทั้งในระบบเดิม ถ้าจำเลยหนีคดีระหว่างการพิจารณาของศาล คดีต้องหยุดลง จนทำให้คดีขาดอายุความ ผู้กระทำความผิดที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง จะหลุดพ้นความผิด โดยยืนยันว่าไม่ได้ขัดต่อหลักการสากล เพราะถึงเป็นการพิจารณาคดีลับหลัง แต่จำเลยแต่งตั้งทนายความมาต่อสู้คดีได้ เช่นเดียวกับกรณีที่ศาลที่พิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว จำเลยก็สามารถขอรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งศาลสิทธิมนุษยชนก็ให้การยอมรับ

ด้าน นายอุดม รัฐอมฤต กรธ.ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า คดีทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความสามารถในการหลบหนีเพื่อให้รอดพ้นจากอำนาจของรัฐในการที่จะอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรม การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถฟ้องคดีโดยไม่ต้องมีตัวจำเลย ชาวบ้านทั่วไปอยู่ภายใต้อำนาจของกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย แต่คนที่หลบหนีและจงใจไม่อยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรม ถามว่าเราจะอย่างไรกับเขาครับ อันนี้เป็นเรื่องที่กฎหมายต้องการสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมแท้ๆ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประเด็นแก้ไขที่น่าสนใจ แต่ไม่มีสมาชิก สนช.คนใดติดใจอภิปราย คือในส่วนบทเฉพาะกาล ที่ระบุให้คดีที่ได้ยื่นฟ้อง และได้ดำเนินการไว้ก่อนที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.นี้ ทั้งหมด โดยเปลี่ยนจากร่างเดิมของ กรธ.ที่กำหนดให้ คดีอาญานักการเมืองที่ค้างอยู่เดิม ให้ดำเนินการตามกฎหมายเก่า แต่ให้สิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมายใหม่ไว้ โดยนายนายอุดม รัฐอมฤต กรธ.ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯกล่าวหลังกฎหมายผ่าน สนช.ว่า คดีเก่าที่ยังไม่ขาดอายุความ จะถือว่าจะต้องใช้ขั้นตอนเเละหลักเกณท์การพิจารณาคดีตามกฎหมายฉบับใหม่ ส่วนที่ขาดอายุความไปแล้ว ไม่นับ เมื่อถามต่อว่า ในกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่กำลังถูกดำเนินคดีในโครงการรับจำนำข้าวนั้น หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลบหนี ระหว่างพิจารณาคดี เเล้วคดีจะไม่ถูกนับอายุความ ตามหลักการของกฎหมายใหม่หรือไม่ นายอุดมกล่าวว่า “ก็ตามนั้น ซึ่งตามกฎหมายใหม่ หากจำเลยหลบหนีระหว่างพิจารณาคดี การนับอายุความต้องหยุดลงตามกฎหมายใหม่ แต่จะนับเฉพาะคดีเก่าที่ยังไม่ขาดอายุความ ส่วนคดีที่ขาดอายุไปแล้วไม่นับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image