สัมภาษณ์พิเศษ ‘กรณ์ จาติกวณิช’ เหลียวหลัง แลหน้า เศรษฐกิจ-การเมืองไทยยุคคสช.

ความขัดแย้งทางการเมืองรอบทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้ประเทศเสียต้นทุนโอกาสการพัฒนาทางการเมือง ในเรื่องเศรษฐกิจเราก็สูญเสียต้นทุนทางโอกาสไปไม่น้อย “มติชนออนไลน์” นำประเด็นปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อถามคำถามกับ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อสรุปบทเรียนที่เกิดขึ้น และคำถามว่าเราจะก้าวต่อไปอย่างไร ทั้งในเรื่อง เศรษฐกิจและการเมือง

กรณ์ ตอบคำถาม เมื่อถามว่า สถานการณ์ทางการเมือง ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ที่ผ่านมาส่งผลยังไงต่อสังคม โดยกรณ์เห็นว่า ถ้าดูผิวเผินอาจจะมองว่าไม่กระทบเท่าไหร่ เราจะได้ยินเสมอว่าขนาดประท้วงปิดถนนกันเป็นเดือนส่งออกก็ยังดีอยู่เศรษฐกิจก็ยังเดิน ในระดับหนึ่งต้องบอกว่าใช่ แต่สิ่งที่ขาดไปคือการยกระดับการพัฒนาความสามารถทางเศรษฐกิจของเรา เวลา 10 ปีที่ผ่านไป ที่เราไม่ได้ให้ความสนใจกับขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทยและประเทศไทย วันดีคืนดี กลับกลายเป็นว่าเรากลับแข่งขันกับเขาไม่ได้ สินค้าที่เราผลิตเริ่มไม่ตรงกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป การขาดการพัฒนาทางการศึกษา การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างที่ควรต้องเดินหน้า เป็นเพราะความขัดแย้งทางการเมืองหรือเปล่าก็ไม่แน่ แต่ที่แน่นอนคือมันยึดพื้นที่ทางความคิดและเวลาการทำงานของคนจำนวนมากไปเยอะ ที่มาความขัดแย้งก็ยังกระทบกับหน่วยงานราชการทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงไปเยอะ

“สรุปสุดท้าย คิดว่ามีผลค่อนข้างมากด้วยต่อการพัฒนาประเทศแต่เศรษฐกิจ ที่เสียโอกาสไปเยอะมาก วันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปมาก เรายังไม่มีการปรับตัวเท่าที่ควร มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมซึ่งวันนี้เราเป็นสังคมผู้สูงอายุไปแล้ว และ 20 ปีข้างหน้าก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ตัวชี้วัดคือประเทศเพื่อนบ้านมีสัดส่วนระหว่างประชากรวัยทำงาน 8 คนเทียบกับวัยเกษียณ1คน แต่ของเรามีอัตรา 4 ต่อ1 และอีก 20 ปีเราจะเหลือ 2 ต่อ 1 ถามว่าเราเตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ความจริงคือเราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย คนส่วนใหญ่ยังยากจนไม่มีหลักประกันในวัยชราเลย รัฐบาลจะช่วยเหลือก็ต้องเอาเงินมาจากภาษีซึ่งหากคนในวัยทำงานน้อยลงก็ไม่รู้จะเก็บภาษีจากใคร เหล่านี้คือปัญหาที่เกิดแน่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าหากไม่มีปัญหาทางการเมืองเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แต่ว่าความขัดแย้งมันทำให้คนหันไปคิดเรื่องอื่น” กรณ์ ระบุ

กรณ์ เล่าให้ฟังถึงการเริ่มต้นชีวิตทางการเมือง ที่เติบโตมา พร้อมกับจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเมือง โดยระบุว่า

Advertisement

“ผมสมัคร ส.ส.ครั้งแรกในปี 2548 ครั้งนั้น พรรคไทยรักไทยเข้มแข็งมากพรรคประชาธิปัตย์มีส.ส.ทั้งสภาแค่ 97 คน แต่ก็เป็นช่วงการทำงานที่สนุกมาก ผมมีโอกาสทำงานในสภาวะที่ถือว่าปกติแค่ปีเดียวพอปี 2549 ก็มีปรากฎการณ์เสื้อเหลือง รัฐบาลทักษิณก็ยุบสภา ตอนเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็มีปัญหาทางการเมืองทันที ทำงานยากมาก มีการขัดแข้งขัดขากันในระดับประเทศ นอกจากนี้ยังมีวิกฤตการเงินระดับโลก ไตรมาสแรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาลเศรษฐกิจติดลบ 7% เป็นผลกระทบที่ได้รับจากโลกตะวันตกที่รุนแรง ปีแรกจึงเป็นการมุ่งแก้ปัญหาวิกฤติ มีคนไทยถูกปลดออกจากงานเยอะมาก คาดการณ์ว่าอาจมีคนว่างานเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านคนหากไม่ทำอะไรโดยเร็ว จึงมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาคือไทยเข้มแข็ง ประกันรายได้เกษตรกร มาตรการทางการคลังอื่นๆ เช็กช่วยชาติ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนที่เดือดร้อน ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว มีการคิดเผื่อความมั่นคงในระยะยาวของประชาชนที่อยู่นอกระบบประกันสังคม โดยดันกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งเรื่องนี้ก็ขัดแย้งกับยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ดองเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรมที่พยายามผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่วนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและแม้แต่รถไฟความเร็วสูง ที่มีการอนุมัติผ่านคณะรัฐมนตรี หลักของยุคนั้นคือการร่วมทุน ไทย 51 %จีน 49% ซึ่งมีนัยยะแตกต่างจากยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก” กรณ์ ระบุ

เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรเจ็ดถึงแปดปีที่ผ่านมา ความฝันทางการเปลี่ยนแปลง มันแทบไม่ขยับเลยหรือขยับน้อย กรณ์กล่าวยอมรับว่าผิดหวัง ทั้งยังมองว่าความสุดโต่งในการแข่งขันทางการเมืองเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยระบุว่า

“ใช่มันน่าจะไปได้เร็วกว่านี้ ผมผิดหวังในหลายเรื่อง ไม่อยากย้อนกลับไปพูดถึงในอดีตเท่าไหร่นัก แต่การแข่งขันทางการเมือง มันควรอยู่ในระดับที่ไม่ทำให้ประชาชนในประเทศชาติเสียโอกาส ตอนที่เราออกมาจากการเป็นรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยขึ้นมา บางครั้งก็รู้สึกว่าเขาทำเกินไปในทางการเมือง ซึ่งผมก็คิดว่าเขาก็รู้สึกกับเราเหมือนกัน แต่หลายๆเรื่องก็พยายามอธิบายให้เขาเข้าใจว่าตรรกะความคิดเราเป็นอย่างไร อย่างเช่นถ้ามองในมุมของเขา เขาอาจจะมองว่าเราไปขัดแข้งขัดขาเขาเรื่องสองล้านล้าน ไม่งั้นป่านนี้ อาจเดินหน้าไปในหลายหลายเรื่อง ผมก็พยายามบอกเขาทั้งกับคุณกิตติรัตน์และกับคุณชัชชาติ ว่าโครงการไม่ใช่ประเด็นที่เราคัดค้าน แม้แต่รถไฟความเร็วสูงเราเป็นคนเสนอเองแต่แรก แล้วจะมาคัดค้านทำไม อยากให้สร้างด้วยซ้ำ แต่แนวคิดที่แตกต่างคือเรื่องเส้นทางที่ย้ายไปเชียงใหม่ เราไม่เข้าใจว่าทำแบบนั้นทำไมเพราะมันไม่เชื่อมโยงกับใครลำพังผู้โดยสารในประเทศมันไม่พอ ไม่คุ้ม ควรเน้นเส้นทางเดิม”

Advertisement

และว่า “2.คือเรื่องการเงินที่ไม่เข้าใจว่าทำไมออกเป็นกฎหมายกู้เงินนอกเหนือจากการใช้เงินในระบบงบประมาณทั้งที่ในระบบมันก็เพียงพอ ซึ่งมันช่วยเรื่องโปร่งใสและรักษาวินัยการคลัง ผมเคยแนะนำเขาว่าแทนที่จะออกพรบ.กู้เงิน เป็น พรบ.การลงทุน แค่บอกว่าจะลงทุนอะไรบ้างส่วนแหล่งเงินก็เป็นไปตามกลไกปกติ แต่พอถึงจุดหนึ่งความขัดแย้งมันทำให้เกิดการขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกันอย่างแรง แม้แต่สิ่งที่มีเหตุมีผลหรือมีเจตนาที่เป็นกลาง ก็ยังถูกปฏิเสธ มันมีบางเรื่องเป็นการเมืองล้วนๆ เช่นช่วงก่อนการปฏิวัติปี 2557 คุณอภิสิทธิ์เสนอทางออก ให้กปปส.ยุติชุมนุม และให้คุณยิ่งลักษณ์ลาออกจากรักษาการนายกฯ แล้วจัดเลือกตั้งภายในหกเดือน ประชาธิปัตย์ยืนยันว่าจะลงสมัคร เพื่อประเทศชาติเดินหน้าไปได้ ตอนนั้นคุณอภิสิทธิ์บอกว่าหากนักการเมืองไม่คุยกันก็จะมีคนมายึดอำนาจไป แล้วมันก็เกิดขึ้นจริง ตอนคุณอภิสิทธิ์ประกาศก็ไม่ได้มีมติของพรรค มีหลายคนในพรรคที่มีคำถาม กปปส.เองก็ไม่พอใจ คุณสุเทพก็แสดงออกว่าไม่ได้ถึงกับปฏิเสธแต่ก็ว่าเป็นเรื่องของคุณอภิสิทธิ์ ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ ผมเองตอนนั้นมองจากใจจริงเลย ตอนนั้นคนที่ได้ประโยชน์ก็เป็นฝั่งเพื่อไทย เพราะคุณเป็นรัฐบาลรักษาการก็ทำอะไรไม่ได้ คุณถูกด่าทุกวัน เพราะจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาไม่ได้ ถ้าคุณออกจากตำแหน่ง อย่างน้อยทำให้พ้นจากความรับผิดชอบในส่วนนั้น การชุมนุมก็ยุติ ประชาธิปัตย์ก็ยืนยันว่าจะลงเลือกตั้งซึ่งคุณก็มั่นใจได้ว่าคุณชนะเขาอยู่แล้ว นี่จึงเป็นเรื่องที่ผมประหลาดใจมากว่าทำไมเพื่อไทยปฏิเสธข้อเสนอนี้ คือประชาธิปัตย์ไม่พอใจ ผมเข้าใจ กปปส.ไม่พอใจผมก็เข้าใจ แต่เพื่อไทยปฏิเสธนี้ผมไม่เข้าใจ มันก็ทำให้ผมคิดว่าพอถึงจุดหนึ่ง ความขัดแย้งมันทำให้เสียโอกาสยังไง มันก็น่าจะเป็นเพราะเหตุนี้ มันทำให้คนเราคุยกันด้วยเหตุผลไม่ได้” กรณ์ ระบุ

เมื่อโยนคำถาม เกี่ยวโยงกับภาวะปัจจุบัน ว่า เศรษฐกิจไทยภายใต้เศรษฐกิจโลกขณะนี้อะไรน่าห่วง กรณ์ กล่าวว่า เราเพิ่งผ่านครบรอบ 20 ปีต้มยำกุ้ง มีคนถามว่าเราจะเป็นแบบนั้นอีกไหม ตนคิดว่านิยามของวิกฤติเศรษฐกิจส่วนใหญ่มันเกิดขึ้นจากฟองสบู่แตกทั้งต้มยำกุ้งและวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งปัญหามันเกิดจากความไม่พอดีและโตจนขาดความสมดุล เงื่อนไขการเกิดฟองสบู่คือเศรษฐกิจต้องโต ดีมาก ประเทศไทยก็เคยผ่านช่วงนั้น จนกระทั่งเหลิงจนแตกในปี 2540 ประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่มีปัญหานี้เพราะเศรษฐกิจไม่โต แต่เขามีปัญหาอีกแบบหนึ่ง คือจะทำอย่างไรให้โต ถ้าถามว่าวันนี้ปัญหาประเทศไทยเป็นอย่างไร ตนก็ตอบว่ามันเป็นเหมือนประเทศอื่นในขณะนี้คือจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจโต 4-5 ปีเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา มันไม่โต เงินในกระเป๋าชาวบ้านได้เพิ่มขึ้น รายได้เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายไม่สูงขึ้น คุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น

“ถามว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยตอนนี้คืออะไร รัฐบาลนี้มาพูดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจนั่นคือการกระตุ้นอุปสงค์ คือเพิ่มกำลังซื้อให้กับคน แต่จริงๆที่ประเทศต้องพัฒนาคือปัจจัยด้านอุปทาน ทำอย่างไรให้คนไทยเก่งขึ้น มันเป็นเรื่องการศึกษา การส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสื่อสาร เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้น ปฏิรูปกฎเกณฑ์ระบบราชการที่เป็นตัวฉุดความเจริญในการทำธุรกิจ เหล่านี้คือปัจจัยอุปทาน หากจะหลีกเลี่ยงเศรษฐกิจซึมยาว เราต้องแก้ด้วยมาตราการที่ตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้”

เมื่อถามกลับไปว่า แล้ว ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมันทันต่อความเปลี่ยนแปลงไหม กรณ์ยืนยันว่า ภาคเอกชนเราเก่ง มีความยืดหยุ่นสูง มีความสามารถในการเอาตัวรอดและประยุกต์ใช้แนวคิดดีๆจากต่างประเทศ กรณ์ระบุว่า ไม่อยากให้รู้สึกว่าเรากำลังด้อยพัฒนา จริงๆตนอยากให้รู้สึกว่าเรายังเหนือชั้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆแม้แต่กับประเทศเพื่อนบ้านเราเอง เพียงแต่เรายังทำได้ดีกว่านี้อีกเยอะ นั่นคือประเด็น ถามว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ ท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร ประเทศส่วนใหญ่เขาก็มองเราด้วยความทึ่งและความอิจฉาว่าทำได้อย่างไร เพราะฉะนั้นความได้เปรียบและความสามารถเรายังมีสูง เพียงแต่ตัวถ่วงเราก็ยังเยอะ ส่วนใหญ่อยู่ภาครัฐ

กรณ์อธิบายเพิ่มเติมจุดนี้ ว่า “ตรงนี้ย้อนกลับไปที่คำถามเดิมว่านี่คือปัญหาหลัก บทบาทรัฐเป็นตัวชี้วัดสำคัญ หลังวิกฤตต้มยำกุ้งสัดส่วนภาครัฐมีบทบาทสำคัญ มูลค่าของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นและโตเร็วกว่าเศรษฐกิจโดยรวม ถามว่าใครมีประสิทธิภาพมากกว่าการเอกชนหรือว่ารัฐวิสาหกิจคำตอบส่วนใหญ่ก็คือเอกชน เช่นมือถือคนส่วนใหญ่ก็ใช้ AIS มากกว่า ทศท. ทำไมบางกอกแอร์เวย์ แอร์เอเชียกำไร ขณะที่นกแอร์และการบินไทยขาดทุน นั่นคือตัวชี้วัด แต่แทนที่ภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพสูงจะโตเร็วกว่า กับกลายเป็นภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าโตเร็ว เป็นฝ่ายที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจโดยรวม ตรงนี้สะท้อนให้เห็นช่วยกันคิด รัฐบาลพูดเรื่องแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งผมเห็นว่าการที่ประเทศเรามานั่งคิดว่าเราอยากที่จะมีชีวิตแบบไหน มีบทบาทในโลกสากลอย่างไร กำหนดเป้าหมายของประเทศใน 20 ปี ผมคิดว่าถูกต้องและควรจะทำ แต่การที่เราจะมาลงรายละเอียดว่าต้องทำอะไรบ้างโดยอาศัยข้อมูลและความรู้ที่มีอยู่ ณ วันนี้ แล้วกำหนดแผนล็อกไว้เลย 20 ปีห้ามบิดพลิ้ว ผมคิดว่านั่นคือสิ่งอันตราย เพราะฉะนั้นการมีวิสัยทัศน์และการกำหนดเป้าหมายโดยรวม ควรจะทำแต่มันก็ควรจะเป็นเรื่องของผู้ที่อยู่ในอำนาจจากวันนี้ถึงวันนั้นที่จะค่อยๆ คิดและปรับนโยบายตามข้อเท็จจริงที่มีความเปลี่ยนแปลงในอนาคตมากกว่า ซึ่งบางครั้งมันอาจมีเงื่อนไขด้านงบประมาณและการเมืองที่ทำให้ไม่สามารถทำได้แต่ก็ถือว่าเป็นการคิดไว้ก่อน

เมื่อถามกลับไปว่า แต่รองนายกฯวิษณุ เครืองาม บอกว่าฝ่ายบริหารถ้าใครไม่ทำตามกรรมการยุทธศาสตร์ มีโทษถึงติดคุก? กรณ์ ตอบโดยตั้งคำถามกลับว่า คำถามคือสมมุติถ้ามีแผน 20 ปีแล้วมันจะเป็นจริงอย่างนั้นได้อย่างไร เราจะระบุเป็นรายปีว่าจะทำอะไรในแต่ละปีเลยหรือ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นอะไรในอนาคต คุณรู้ได้อย่างไรว่าในอนาคตเรายังจะใช้รถน้ำมันอยู่ หรือใช้รถไฟฟ้าหมด คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าโรงไฟฟ้าเขายังใช้ถ่านหินหรือใช้แก๊ส เขาอาจจะเลิกใช้ไปใช้โซล่าเซลล์หมด

“เราลองคิดย้อนกลับไปห้าปี ใครจะคิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่กระทบต่อเศรษฐกิจได้มากขนาดนี้ ถ้าคุณพยายามจะลงรายละเอียดก็ถือว่าบ้าแล้ว ถ้าจะมาให้ผู้ที่อยู่ในอำนาจรับผิดชอบ ต้องถามว่าผู้ที่อยู่ในอำนาจคนไหน สมมติพล.อ.ประยุทธ์เป็นรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งปีหน้า แน่นอนไม่สามารถทำได้เสร็จตามแผน 20 ปี สมมติท่านอยู่ 4 ปีก็เหลืออีก 16 ปี แล้วรัฐบาลถัดไปก็ยังทำไม่ได้อีกก็ไม่เป็นไรก็ยังเหลืออีก สุดท้ายไล่ไปเรื่อยๆ คนที่รับผิดชอบคือคนที่อยู่ในอำนาจปีที่ 20 หรือ? มันทำไม่ได้หรอกและ ไม่ควรแม้แต่พยายามที่จะทำ ช่วยกันกำหนดวิสัยทัศน์และทบทวนทุกสี่ปียังได้เลย มันเหมือนเป็นการยกระดับแผนพัฒนาของสภาพัฒน์ให้มีความสำคัญ” กรณ์ ระบุ

เมื่อถามถึง มุมมองต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบัน กรณ์ตอบโดยสวนกลับทันทีว่า “ไม่มีเลย ผมไม่มีมุมมอง” โดยอธิบายต่อว่า “ผมให้ความสำคัญกับความจำเป็นด้านการปฏิรูปด้านต่างๆที่จะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันระยะยาวมากกว่า ส่วนการกระตุ้นพันล้านให้คนโน้น หมื่นล้านให้คนนี้ เป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ ผมคิดว่าการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะหน้าเป็นเรื่องที่เหมาะสมและจำเป็นและเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่ต้องทำกันไป โดยต้องทำให้มีประสิทธิภาพยุติธรรมและโปร่งใส แค่นั้น”

กรณ์กล่าวต่อว่า “ยุคประชาธิปัตย์เราก็ต้องกระตุ้นไม่ให้เครื่องมันดับ ใช้เงินกับคนที่เดือดร้อนที่สุด ยุคปัจจุบันก็ยังมีคนเดือดร้อนอยู่แต่ปรัชญาในการแก้ปัญหาต่างกัน ยุคนี้มีการขึ้นทะเบียนคนจน ซึ่งเหมือนกับการตีตราว่า นี่คือกลุ่มคนจนที่ต้องมีรัฐบาลมาช่วยเหลือ ผมมองว่ารัฐบาลมีหน้าที่ที่จะดูแลอย่างเป็นระบบ ให้ประชาชนทุกคนมีความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความช่วยเหลือเรื่องอะไรบ้างจากรัฐบาลอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องตีตรา ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว เดี๋ยวต้องมาขึ้นทะเบียนใหม่ ให้เขารู้เรื่องสิทธิที่เขาจะได้รับไปเลย มันเป็นมุมต่างซึ่งอาจละเอียดอ่อนแต่เรามองว่า ต้องสร้างความมั่นคงและทำให้คนรู้สึกว่ามีศักดิ์ศรีมากกว่าวิธีปัจจุบัน แต่ว่าความจำเป็นในการยื่นมือไปช่วยเหลือยังไงก็ต้องมีพระเรายังเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำกันสูง คนเดือดร้อนหาเช้ากินค่ำหนี้สินพะรุงพะรังก็ยังมีจำนวนมาก แต่ละรัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไรก็ว่าไปแต่ดีที่สุดคืออย่าให้ประชาชนมาคอยลุ้นว่าจะได้หรือไม่ได้จากคนโน้นคนนี้ และกลายเป็นเรื่องของบุญคุณ ที่จะต้องมีต่อรัฐบาล มันควรเป็นเรื่องพื้นฐานในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ควรจะได้รับจากรัฐ” กรณ์ ระบุ

ประเด็นต่อมา ผู้อ่านมักเคยเห็น กรณ์ แสดงความเห็นตั้งคำถามและวิจารณ์ นโยบายรัฐบาลทางเฟสบุ๊กส่วนตัวบ่อยๆ เรานำเรื่องนี้ไปถามกรณ์ โดยถามว่า การออกมาเสนอแนะวิจารณ์ตั้งคำถามกับนโยบายรัฐบาลในเฟสบุ๊คบ่อย ตั้งแต่เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเรื่อง Uber จนถึงเรื่องพรบ.คอมพิวเตอร์ มีแรงบันดาลใจอะไร กรณ์กล่าวว่า ตนคิดว่าตนใช้สิทธิ์ในการเคลื่อนไหวที่ไม่ทำให้ใครมีปัญหา บางเรื่อง ตนสื่อสารกับผู้มีอำนาจโดยตรง แม้ไม่เคยพบกันแต่ก็เขียนถึง

ผมมองว่าผมเป็นนักการเมือง ยังไงผมก็ยังเป็นนักการเมือง แม้ไม่มีตำแหน่ง แต่ภารกิจที่ตัวเองรู้สึกว่ามีต่อประเทศและสังคมก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม บางเรื่องถ้าตัดสินใจผิดพลาดมันมีผลในระยะยาว ถ้าผมไม่พูดตอนนี้แล้วจะพูดตอนไหน ยกตัวอย่างเช่นเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากมีการตัดสินใจลงทุนไปแล้วแม้ผมมาเป็นรัฐบาลในอนาคตก็ตัดสินใจอะไรไม่ได้ ก็พยายามที่จะให้ข้อมูล เสนอแนวคิด เผื่อว่าเขาจะเปลี่ยนใจ ซึ่งในกรณีนี้ ก่อนผมเสนอข้อมูลต่อสาธารณะก็ได้คุยกับราชการว่าคิดเช่นไร พอสรุปได้ว่าเห็นไม่ตรงกัน ผมก็ชี้แจงเขาไปว่า ด้วยความเคารพผมจะไม่หยุดแค่นี้นะเพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ มันมีผลต่อประเทศ 40 ถึง 50 ปีครั้งหน้า ผมเลยนำเสนอต่อ แต่ทุกเรื่องผมนำเสนอด้วยเหตุผลไม่มีการปลุกปั่นหรือใช้อารมณ์   ส่วนเรื่อง Uber ก็สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลนี้ที่ขับเคลื่อนเรื่องการใช้นวัตกรรมแต่ผมอยากชี้ให้เห็น ปัญหาเรื่องทัศนคติ คือไม่ว่าคุณจะพูดหรือเชื่ออย่างไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าความคิดการกระทำยังเป็นแบบนี้ มันจะไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่ได้ นั่นคือสาเหตุที่ผมออกมานำเสนอ บางทีคนเราทำอะไรไปอาจไม่รู้ตัว หรือไม่รู้ซึ้งถึงผลลัพธ์ แต่เรื่องที่มันดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่มันมีผลต่อจิตวิทยาและความมั่นใจสูงมาก ส่วนเรื่องพรบ.คอมพ์ ผมยังถือว่ามันเป็นกฎหมายเขียนด้วยมนุษย์ก็แก้ได้ด้วยมนุษย์ ไม่เหมือนเรื่องโรงไฟฟ้า หรือรถไฟความเร็วสูงซึ่งผมหวังว่าน่าจะยังคงมีทางออก” กรณ์ กล่าว

เมื่อถามถึง ประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องหลักของรัฐบาลนี้ ที่พยายามยกเป็นวาระหลัก เมื่อขอให้ แนะนำรัฐบาลหน่อย ดูเหมือนดัชนีชี้วัดก็ยังตกต่ำลง กรณ์ แนะนำโดยอธิบายว่า สาเหตุสำคัญที่ดัชนีตกต่ำลงเพราะเขากำหนดนิยามความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งหน่วยงานที่ถาม เขาเน้นความโปร่งใส รัฐบาลปัจจุบันจึงไม่น่าจะได้คะแนนเยอะ กล่าวคือโดยระบบปัจจุบันมันไม่โปร่งใสอยู่แล้ว แต่มันไม่ได้หมายความว่าการคอร์รัปชั่นมันจะเพิ่มมากขึ้น ส่วนทางแก้นั้น ตนรู้สึกว่ายิ่งมีกฎหมายมาก ยิ่งเป็นเครื่องมือ หรือช่องให้ให้เจ้าหน้าที่รัฐ รีดไถมากขึ้น เห็นจากรณีกฎหมายแรงงานต่างด้าวที่ผ่านมา ซึ่ง สนช.ยุคนี้ภูมิใจมากว่าออกกฏหมายได้เยอะ แต่ตนถามว่ามันเป็นเรื่องน่าภูมิใจหรือไม่ กฎหมายเรายังไม่เยอะพออีกหรือ เวลาออกกฏหมายใหม่กฎหมายเก่าที่ล้าสมัยได้ยกเลิกหรือไม่ มันสะสมทับถมกันจนทำให้เราเป็นประเทศที่มีกฎหมายมากสุดในโลกประเทศหนึ่ง ยังไม่นับกฎกระทรวงอะไรอีกมากมาย ตรงนี้ตนคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่มาปัญหาคอร์รัปชั่น ส่วนเรื่องทัศนคติ ปัญหาสำคัญอันหนึ่งคือเรื่องอุปถัมภ์ ที่เรากลับส่งเสริมให้มีการให้ความสำคัญกับการเข้าไปอยู่ในระบบอุปถัมภ์ให้มากที่สุดเช่น ทุกประเภทหลักสูตรที่หน่วยงานต่างๆแย่งกันจัด

ใครก็รู้คนส่วนใหญ่เข้าไปเพื่ออะไร เพื่อสร้างคอนเน็คชั่น คุณอยากไปรู้จักข้าราชการทำไม คุณอยากไปโครงการของศาล รู้จักผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทำไม เมืองนอกเขาไม่มี เขาระมัดระวังกันมาก แต่ของเราจัดเป็นระบบเลยให้มากินมานอนมาตีกอล์ฟด้วยกัน และมันจะไม่เกิดการคอร์รัปชั่นหรือความเหลื่อมล้ำในแง่โอกาสได้อย่างไร ระหว่างคนที่เข้าถึงวงสังคมแบบนี้ กับคนที่เข้าไม่ถึง มันมีความได้เปรียบเสียเปรียบมหาศาล ถามว่านักธุรกิจเข้าไปเพื่ออะไร ก็เพื่อจะเกิดความได้เปรียบ แล้วนี่คือสิ่งที่เราควรส่งเสริมหรือไม่ แทนที่เราจะมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าคุณภาพ วิจัยและบริการ” กรณ์ ระบุ

พูดแบบนี้ ผู้อ่านคงอยากรู้ว่าอดีตขุนคลังแห่งพรรคประชาธิปัตย์คนนี้ เรียนหลักสูตรที่มีอยู่จำนวนมากในไทยบ้างหรือไม่ เรานำคำถามนี้ ถามกลับไป กรณ์ตอบกลับมาทันทีว่า “ผมในชีวิตนี้ไม่เคยเข้าไปเรียนแม้แต่หลักสูตรเดียว อย่างน้อยที่สุด ผมไม่พูดอย่าง ทำอย่าง ในทุกๆเรื่อง ผมขำเวลามีข่าว สปท. หรือ สนช. เสนอเรื่องระงับการดูงานต่างประเทศ กว่าจะเสนอนี่แทบจะหลุดจากตำแหน่งกันแล้วทุกคนเพราะอยู่ในตำแหน่งมาตั้งสามปี ผมถามคนเสนอว่าได้เคยใช้งบประมาณไปดูงานต่างประเทศบ้างไหม ส่วนตัวผมเอง 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยใช้งบประมาณของสภาไปดูงานต่างประเทศเลยแม้แต่ครั้งเดียว หลายคนไปแล้วได้ประโยชน์ก็มีแต่หลายคนเจตนาไปเที่ยวก็เยอะ ผมไม่ได้ว่าอะไรใคร แต่โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่ามีโอกาสได้ดูอะไรเยอะแล้ว ไม่ได้อยากเป็นภาระต่องบประมาณในการเบิกเพื่อไปดูงาน อันนี้เป็นการตัดสินใจส่วนตัว” กรณ์ กล่าวยืนยัน

เรื่องหนึ่งที่ยุครัฐบาลประชาธิปัตย์มีการพูดถึงมากหากคอการเมืองยังจำกันได้ คือกฎหมายลดความเหลื่อมล้ำเช่นกฎหมายภาษี ภาษีที่ดินภาษีทรัพย์สิน เราถามคำถามนี้กับกรณ์ ว่าจนถึงปัจจุบันมีความคืบหน้าไปขนาดไหน กรณ์ เล่าให้ฟังว่า ในยุคประชาธิปปัตย์ มีการคุยกัน เรื่องกองทุนการออมแห่งชาติ ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สินและที่ดิน เรื่องสำคัญที่เรามอง ให้ความสำคัญกับภาษีทรัพย์สินและที่ดินมาก ส่วนภาษีมรดกนั้นในแง่การคลังไม่คุ้ม ผลทางเศรษฐกิจน้อยมาก แต่ภาษีทรัพย์สินและที่ดินมีผลมาก เราออกแบบวิธีการทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจมาก กองทุนการออมแห่งชาติออกเป็นกฎหมายแล้ว กฎหมายภาษีทรัพย์สินและที่ดินเราพยายามผลักดัน แต่ยุบสภาไปก่อน และถูกตีตกในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ และกลับมาอีกครั้งโดยสนช.ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันยังมีปัญหาอยู่มาก

“ผมคิดว่าหลักคือต้องเก็บภาษีคนที่รวยจริง ส่วนคนระดับกลางก็ต้องระมัดระวัง แต่ผมมองเห็นแววแล้วครับ ตั้งแต่ปีที่แล้วว่าน่าจะแท้ง ผมมองว่าจะไม่เกิด เรื่องนี้ก็ไม่เห็นผู้นำรัฐบาลพูดถึงอีกแล้วหลังมีการพูดในช่วงแรกๆ ซึ่งเขาอาจจะถือว่าเขาทำในส่วนเขาแล้ว ตอนนี้อยู่ที่ สนช. ซึ่งใครๆก็รู้ว่าเขาเนื้อเดียวกัน ผมยังเห็นการขาดความตั้งใจจริงในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ส่วนภาษีมรดกต้องให้เครดิต มันออกมาแล้ว แต่ก็อย่างที่ว่าผมไม่ให้น้ำหนักมากนัก มันเป็นภาษีที่เริ่มจะล้าสมัยในความคิดสากลแล้วด้วยซ้ำ แต่ก็มีไว้ได้ แต่ไม่ควรเปิดช่องให้มีการหลบเลี่ยงได้ ถ้าเช่นนั้นอย่ามีซะเลยดีกว่า มันจะสร้างความไม่เป็นธรรมเพิ่มเติมในสังคม” กรณ์ กล่าวย้ำเตือน

เมื่อถามว่า ถึงเวลานี้ ไม่มีนักการเมืองมาเข้าสู่ปีที่ 4 แล้วประเทศดีขึ้นหรือยัง กรณ์แสดงความเห็นว่า ในส่วนของนักการเมืองเองนั้น ก็ต้องพิจารณาบทบาทของตัวเองว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างวิกฤตและปัญหาขึ้นมา แต่ถามว่าเวลาเราพูดถึงนักการเมือง เราหมายถึงนักการเมืองทุกคนหรือเปล่า ตนยืนยันว่าไม่ใช่แน่นอน ในทุกโครงการทุกอาชีพมันมีทั้งคนดีและไม่ดี คุณจะเหมารวมว่าเป็นความผิดพลาดกับนักการเมืองโดยรวม ตนว่ามันไม่แฟร์ ถามว่าหลายๆคนเขาทำอะไรผิด คือเราต้องวิเคราะห์ในเชิงลึกกว่านั้นว่าสิ่งที่เราบอกว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาในตัวนักการเมืองมันคืออะไรกันแน่

“มุมมองของ ผมผมมองว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ออกนโยบายที่หละหลวมทำให้เกิดการทุจริตได้โดยง่าย การขาดจิตสำนึกถึงผลนโยบายของตัวเองต่อประเทศ หรือการเอื้อต่อพวกพ้อง จนสร้างความเสียหายกับส่วนรวม ส่วนตัวผมเองใช้เวลาสองถึงสามปีที่ผ่านมาทบทวนบทบาทของตัวเอง ว่าในอนาคตเราควรจะปรับท่าทีของตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดปัญหาเดิมๆที่เคยเกิดขึ้น แต่มันไม่ใช่นักการเมืองอย่างเดียว ผมคิดว่าสังคมโดยรวมก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเอง ข้าราชการก็ต้องตั้งคำถาม ซึ่งก็มีบทบาทสำคัญมากต่อประเด็นปัญหาทั้งหมด เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ถามว่าข้าราชการมีบทบาทหรือไม่ ก็ตอบว่ามี อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าทุกอย่างมีผิดมีถูก สังคมเราพัฒนาไปไกล เรามีกฎหมาย หากคุณไม่แน่ใจว่าอะไรผิดถูกก็ขอให้ยึดมั่นกฎหมาย กติกาไว้ก่อน ผมคิดว่าหากทุกคนปฏิบัติตามนั้นความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดจะมีมากแค่ไหนก็จะไม่สร้างปัญหาให้ประเทศ หลักสำคัญของผมไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองอะไรแต่เป็นเรื่องการบังคับให้สังคมโดยรวมอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างมีระเบียบและเสมอภาค”

ถามต่อไปว่า ยังอยากเป็นนักการเมืองอยู่ไหม? ในภาวะที่มีการชี้ว่านักการเมืองคือตัวปัญหาประเทศ กรณ์ตอบคำถามนี้ โดยระบุว่า “ผมคิดว่าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องมีการเมือง ไม่มีสังคมที่ไม่มีการเมือง คุณบอกว่าตอนนี้ไม่มีการเมือง จริงๆไม่ใช่หรอกครับ นักการเมืองมีอยู่เต็มสภาและทำเนียบ เพียงแต่เขาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พอเขามาทำงานระดับนี้ถือว่าเป็นนักการเมืองแล้ว สื่อสารก็สื่อสารกับประชาชนแบบนักการเมือง เพียงแต่ว่าคุณมีวาทกรรมที่กำลังจะสื่อสารว่านักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดีกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งบางคนอาจจะใช่ บางคนก็อาจไม่ใช่ ผมก็ไม่เคยบอกว่าคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นนักการเมืองที่ดีไม่ได้ บางคนก็ดีกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำ ตรงนั้นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือการที่คุณออกมาพยายามสร้างชุดความคิดว่านักการเมืองเป็นกลุ่มคนที่น่ารังเกียจ ถามว่ามันจะช่วยให้ประเทศดีขึ้นไหมในอนาคตได้อย่างไร ในเมื่ออนาคตยังไงเราก็ต้องมีนักการเมือง หากสังคมคิดแบบนี้ แล้วคนดีๆที่ไหนจะอยากเป็นนักการเมือง แล้วในอนาคตจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวในอนาคตไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเราเองว่าจะสามารถสร้างความไว้วางใจและเรียกศรัทธาจากประชาชนได้อย่างไร

“ที่ผ่านมาผมเสียดายเวลาและโอกาสที่เสียไป ก็ต้องพูดกันตามตรงว่า ไหนๆเมื่อมีการยึดอำนาจแล้ว ผมก็อยากเห็นการใช้อำนาจที่เป็นบวกในระยะยาว หรือทำเรื่องยากๆ ที่หลายคนก็รู้ว่ามันยากที่จะทำในสภาวะปกติ แต่เขาทำเรื่องอย่างนั้นน้อยมาก คือแทบไม่เห็นเลย ” กรณ์ ระบุ

สุดท้ายถามว่า เวลาที่เหลืออีกปีนึง มีอะไรพอจะแนะนำ คสช.ได้ไหม ในฐานะคนการเมือง กรณ์ แสดงความเห็นว่า “สังคมคาดหวังการปฎิรูปหลายเรื่อง การดูแลเศรษฐกิจวันต่อวันเป็นหน้าที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ที่คาดหวังจริงๆคือการปฎิรูป ซึ่งก็เรียนตามตรงว่าเวลามันเหลือน้อยแล้ว โอกาสที่จะทำคงยาก ดีที่สุดคือ ระวังอย่าไปทำอะไรมาก คือผมเองเชื่อว่าว่าการปฎิรูปมันต้องทำโดยระบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมเท่านั้น พูดง่ายๆคือต้องปฎิรูปในระบอบประชาธิปไตย การปฎิรูปที่มีคำสั่งแบบบนลงล่าง มันอันตรายมาก เพราะมันขาดการมีส่วนร่วมและความรอบคอบ สังคมมันหลากหลายทางความคิด และความต้องการ ดังนั้น การรวมศูนย์อำนาจแบบนี้ มันเสี่ยงต่อการที่คุณจะเสนอชุดความคิดในมุมที่แคบเกินไป มองในแง่มุมหนึ่ง ไม่พยายามจะปฎิรูปอะไรมากนักก็ดีเหมือนกัน ทำไปอาจจะแย่กว่าเดิม ผมไม่ได้คาดหวังอะไรแล้ว พูดตามตรง ผมอยากให้บริหารให้นำไปสู่การเลือกตั้ง ที่ยุติธรรม โปร่งใส ราบลื่น ผมคิดว่านั่นคือเรื่องหลักที่รัฐบาลพึงกระทำ ส่วนเรื่องการปฎิรูปต่างๆนั้น พวกผมเตรียมไว้ เพราะเราก็อยากที่จะลบคำปรามาสที่มีต่อนักการเมืองเหมือนกัน ว่าเรื่องราวเหล่านี้นั้น นักการเมืองไม่คิดทำหรือทำไม่ได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image