กรมป่าไม้ลุยยึดพื้นที่ ‘ปลูกยางพารา’ ของกลุ่มนายทุนรุกเขตป่าสงวนฯจ.เลย 1.3 แสนไร่

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลย.4(ด่านซ้าย) นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมนายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า ร่วมกับ กอ.รมน. ฝ่ายทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อติดตามการปฏิบัติเชิงรุกในการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ปลูกยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ ต.นามาลา อ.นาแห้ว จ.เลย ซึ่งเป็นไปตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 รวมทั้งแผนปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า(ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ภายใต้การนำของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการ ทส. ที่กำหนดให้ จ.เลยเป็นเป้าหมายใหญ่ของทั้งประเทศ

นายชลธิศเปิดเผยว่า กรมป่าไม้ลงพื้นที่ปฏิบัติการเชิงรุกในการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2558 จากการตรวจสอบพบว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ถึง 10,695,806 ไร่ และโดนบุกรุกเพื่อปลูกยางพาราจำนวน 1,364,066 ไร่ โดยเฉพาะใน จ.เลยที่มีพื้นที่ป่าในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้รวม 2,355,618 ไร่ แต่ถูกบุกรุกเพื่อปลูกยางพาราจำนวน 482,304 ไร่ ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย อย่างพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ ในท้องที่รอยต่อ จ.เลย-เพชรบูรณ์ ที่ได้รับการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อปี 2527 และถือว่าเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำป่าสัก มีเนื้อที่จำนวน 947,000 ไร่ แต่ปัจจุบันถูกบุกรุกทำลายเหลือพื้นที่ป่าเพียง 3 แสนกว่าไร่ และพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกบุกรุกนำไปปลูกยางพารา ทั้งนี้ คาดว่าเป็นการบุกรุกของกลุ่มนายทุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนไร่

นายชลธิศกล่าวต่อว่า การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายของกรมป่าไม้เริ่มจากการตรวจสอบพื้นที่ว่าเข้าข่ายลักษณะนายทุนหรือไม่ โดยใช้หลักเกณฑ์พิจารณาลักษณะการบุกรุกพื้นที่ป่า 7 ข้อด้วยกัน คือ 1.มีเนื้อที่บุกรุกตั้งแต่ 25 ไร่ขึ้นไป 2.หากมีขนาดน้อยกว่า 25 ไร่ แต่มีรูปแบบการดำเนินการในลักษณะกลุ่มทุนจากต่างถิ่น เช่น มีการสร้างบ้านพักตากอากาศราคาแพง หรือมีวัตถุประสงค์อื่นๆ ได้แก่ การมุ่งหวังพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นบ้านพักตากอากาศ โรงแรม หรือรีสอร์ต 3.เป็นเจ้าของสวนยางพาราหลายแปลง 4.เจ้าของสวนยางพาราเป็นนายทุนต่างถิ่นมาจ้างแรงงานในพื้นที่หรือคนท้องถิ่นให้ดำเนินการแทน 5.สวนยางพารามีขนาดใหญ่ มีสิ่งปลูกสร้างหรือที่พักอาศัยและระบบการจัดการที่มีการลงทุนสูงในรูปแบบเชิงธุรกิจ 6.ชาวบ้านในพื้นที่หรือผู้นำท้องถิ่นยืนยันว่าเจ้าของเป็นคนต่างถิ่นและไม่ใช่ผู้ยากไร้/ไร้ที่ทำกิน และ 7.ในกรณีเป็นผู้ยากไร้ต่างถิ่น แต่มีที่ดินทำกินอยู่ในภูมิลำเนาเดิมเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ

Advertisement


สำหรับปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นพื้นที่เข้ากับหลักเกณฑ์ข้อที่ 1, 4, 5 และ 6 โดยมีขั้นตอนการรื้อถอนพืชผลอาสินตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งกรมป่าไม้เริ่มติดประกาศให้ผู้บุกรุกรื้อถอนพืชผลอาสินตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 จนปัจจุบันยังไม่พบว่ามีผู้มาอ้างสิทธิในที่ดินหรือทำการรื้อถอนตามประกาศแต่อย่างใด จึงได้เข้าตรวจยึดพื้นที่ พร้อมทั้งตัดฟันต้นยางพาราแบบ 3 แถว เว้น 2 แถว จากนั้นจะดำเนินการฟื้นฟูโดยการปลูกต้นไม้ระหว่างแถวของต้นยางพาราที่เหลืออยู่ ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อช่วยกันดูแลพื้นที่ป่าและรักษาระบบนิเวศของแหล่งต้นน้ำลำธารให้คงอยู่ต่อไป นอกจากนี้จะคอยติดตามผลคดีเพื่อให้เกิดความสัมฤทธิผลสูงสุดในการบังคับใช้กฎหมาย

“ทั้งนี้ กรมป่าไม้ได้เล็งเห็นความสำคัญในปฏิบัติการเชิงรุกของการบังคับใช้กฎหมายกับพื้นที่ปลูกยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันสามารถตรวจยึดพื้นที่ได้ประมาณ 130,000 ไร่ และในจำนวนนี้ได้ดำเนินการตัดฟันตามมาตรา 25 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติปี 2507 ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นไร่ และมีเป้าหมายดำเนินการในปี 2560 ทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นไร่ โดยในปี 2561 กรมป่าไม้มีเป้าหมายดำเนินการถึง 1.2 แสนไร่” อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image