คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน : มากเกินไปก็ไม่ดี

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นช่วงที่แอนิเมชั่นในญี่ปุ่นเข้าสู่ซีซั่นใหม่คือฤดูร้อนของปี 2017 การเริ่มต้นมีทั้งความสุขและความทุกข์ ความสุขคือเรามีแอนิเมชั่นให้เลือกดูมากมายหลายเรื่อง หลังได้ดูต้นซีซั่นไป 1-2 ตอนก็จะพอทราบว่าเหลือเรื่องไหนที่อยากดูจนจบท้ายซีซั่น 11-13 ตอนบ้าง ของใหม่น่าตื่นตาตื่นใจเสมอ แต่ความทุกข์ของต้นซีซั่นคือจำนวนแอนิเมชั่นมีเยอะมาก ทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่แอนิเมชั่นที่ฉายทางโทรทัศน์เท่านั้น ยังมีแอนิเมชั่นที่ฉายทางช่องโทรทัศน์ดิจิทัล ช่องอินเตอร์เน็ต กระทั่งแยกขายออกมาเป็น CD ไม่ได้เผยแพร่บนสื่อออนไลน์ เท่านั้นยังไม่พอค่ะ แอนิเมชั่นของเกาหลี ไต้หวัน จีน ก็กำลังมาแรง ทั้งสวยและสนุกไม่แพ้แอนิเมชั่นญี่ปุ่น คราวนี้จะเลือกดูแค่ตอนแรกของทุกเรื่องก็อาจจะไม่ไหว ปัญหานี้ “คนที่ดูมาบ้างแล้ว” ช่วยเราได้ นั่นคือรีวิวจากผู้ชมรวมถึง trailer ภาพยนตร์ก็ช่วยได้มาก แต่เอาเข้าจริงความที่แอนิเมชั่นเหล่านี้อยู่บนอินเตอร์เน็ต สามารถดูกี่เรื่องและเมื่อไรก็ได้ ผลคือระหว่างดูเรื่องหนึ่งบนแถบหนึ่งก็เผลอหยุดชั่วคราวแล้วเปลี่ยนไปดูอีกเรื่องบนแถบข้างๆ บ้าง เหมือนดูโทรทัศน์แล้วมีรีโมตคอนโทรลในมือ บางจังหวะที่ไม่สนุกก็เปลี่ยนไปช่องอื่น สุดท้ายก็ดูไม่จบสักเรื่องค่ะ

สมาธิของเราอาจเกี่ยวข้องกับปริมาณช่องทางรับข้อมูล มีนักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งมาปรึกษาปัญหาการเรียน หนุ่มน้อยเล่าว่าตอนมัธยมปลายเรียนเก่งมาก แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยและต้องมาอยู่หอพัก ต้องดูแลชีวิตตัวเองทุกอย่างรวมถึงการอ่านหนังสือซึ่งไม่ได้ถูกบังคับด้วยการบ้านและการเรียนพิเศษเหมือนแต่ก่อน เขาพบว่าไม่สามารถอ่านหนังสือหรือเรียนในห้องเรียนได้ยาว ทุก 5-10 นาทีเป็นต้องเหลือบมองโทรศัพท์ ยิ่งถ้าวันไหนโพสต์ลงโซเชียลมีเดียแล้วมีคนมากดไลค์หรือคอมเมนต์ยิ่งเป็นอันไม่ได้เรียน ต้องหยิบจากกระเป๋าออกมาอ่านบ่อยๆ ตกเย็นตอนอ่านหนังสือยิ่งแย่กว่าเพราะวางโทรศัพท์ไว้ข้างหนังสือเลย ทุกครั้งที่เครื่องสั่นหรือไฟวาบก็จะเหลือบไปมอง พอเปิดเช็กโซเชียลหนึ่งก็อดไม่ได้จะต้องเช็กให้ครบทุกช่องทาง หลายครั้งก็เผลอติดลมเล่นต่อจนไม่ได้อ่านหนังสือ

“ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องพบจิตแพทย์หรอกครับ ทุกอย่างเกิดจากผมเล่นมือถือมากเกินไป”

Advertisement

หนุ่มน้อยดูเคืองนิดหน่อยที่อาจารย์บังคับให้มาปรึกษาจิตแพทย์แต่ก็ยังพยายามเล่าให้ฟังอย่างมีมารยาท

“ส่วนไหนของการเล่นมือถือคะที่เป็นอุปสรรคการเรียนมากที่สุด เล่นเกม ฟังเพลง ดูวิดีโอ หรืออย่างอื่น

“เฉพาะโซเชียลครับ ถ้าระหว่างเรียนหรืออ่านหนังสือผมจะไม่เล่นเกมเลยจะได้ไม่เสียสมาธิ แต่บางทีอาจารย์สอนน่าเบื่อหรืออ่านหนังสือแล้วเบื่อ ผมก็หยิบมาเปิดโซเชียลบางครั้ง หรือถ้ามีสั่นเตือนว่ามีคนมาคอมเมนต์ผมก็เปิดดู ผมรู้ตัวดีว่าถ้าแก้ปัญหานี้ได้ก็จะกลับมาเรียนดีเหมือนเดิม

Advertisement

“ถ้าการเล่นโซเชียลเป็นปัญหาจริงๆ แค่ไม่เล่นก็น่าจะหมดปัญหาใช่ไหมคะ”

นักศึกษาหนุ่มพยักหน้าเห็นด้วย ถ้าปัญหาแก้ง่ายขนาดนี้ก็ดีค่ะ

“ถ้าอย่างนั้นคุณลบโซเชียลสักอย่างหนึ่งดีไหม บางทีจะลดช่องทางการรบกวนลงบ้าง”

คราวนี้นักศึกษาหนุ่มส่ายหน้า ทุกโซเชียลมีเหตุผลดีๆ ในการเก็บไว้ทั้งนั้น สุดท้ายก็ไม่ยอมลบเลยสักอย่าง เป็นอันว่าปัญหาการเรียนไม่ได้เกิดจากการเล่นโซเชียลหรอกค่ะ ปัญหาอยู่ที่เขาไม่สามารถห้ามตัวเองไม่ให้เล่นต่างหาก ไม่สามารถทำใจลบทิ้งได้ด้วย โชคดีหนุ่มน้อยคนนี้มีประวัติเหมือนโรคสมาธิสั้นในวัยเด็กค่ะ หลังดูแลเรื่องอาการสมาธิสั้น ในที่สุดก็สามารถห้ามตัวเองไม่ให้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยๆ ได้และสามารถลบโซเชียลบางอย่างได้แล้วด้วย

การมีสิ่งกระตุ้นอยู่ใกล้ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอนิเมชั่นอีก 4 เรื่องที่เปิดอยู่ในแท็บอื่นหรือโทรศัพท์มือถือที่ตั้งอยู่ไม่ห่างล้วนก่อปัญหากับสมาธิค่ะ การศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Association for Consumer Research โดยแอเดรียน วอร์ดจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสพบว่าแค่โทรศัพท์อยู่ใกล้ๆ ก็ส่งผลต่อสมาธิแล้วตามทฤษฎี “สมองไหล” (brain drain) ซึ่งเกิดขึ้นขณะโทรศัพท์อยู่ใกล้ๆ จนทำให้ไม่สามารถควบคุมสมาธิของตัวเองได้ คุณวอร์ดศึกษาในผู้ใช้สมาร์ทโฟน 800 คน ให้ทำแบบทดสอบเพื่อดูความจำระยะสั้นกับดูความสามารถในการแก้ปัญหา เขาแบ่งกลุ่มอาสาสมัครเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกอยู่ในสภาวะ “โต๊ะ” คือวางโทรศัพท์ไว้บนโต๊ะในระยะที่สายตามองเห็น กลุ่มที่สองสภาวะ “กระเป๋า” คือเก็บไว้ใกล้ๆ แต่นอกสายตา กลุ่มสุดท้ายสภาวะ “ห้องอื่น” คือวางอุปกรณ์ไว้คนละห้องเลย ผลพบว่าอาสาสมัครที่วางโทรศัพท์ไว้ห้องอื่นสามารถทำแบบทดสอบได้ดีกว่ากลุ่มวางบนโต๊ะมาก และดีกว่ากลุ่มเก็บไว้ในกระเป๋าเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่ได้ดูเรื่องความสนุก ดังนั้นถ้าต้องการดูอนิเมชั่นหลายๆ เรื่องแต่ไม่สนใจจะจำเนื้อเรื่อง การดูทีละหลายๆ เรื่องหรือวางโทรศัพท์ไว้ใกล้ๆ ก็ยังทำได้

แต่สำหรับคนที่ต้องมีสมาธิ จำ หรือคิดวิเคราะห์ เช่น การเรียนหรืออ่านหนังสือ ถ้าโทรศัพท์อยู่ในระยะที่ตามองเห็นได้คงไม่ดีแน่ค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image