เปิดใจอินดี้มาแรง “พี.เอส.พับลิชชิ่ง”…. “วรรณกรรมไทย” ในมือคนรุ่นใหม่

ท่ามกลางเสียงบ่นถึงความซบเซาของวรรณกรรมไทย  สนพ.เล็กๆที่เพิ่งเปิดตัวได้เพียง 2 ปีอย่าง พี.เอส.พับลิชชิ่ง(P.S. Publishing) กำลังเตรียมจะพิมพ์ซ้ำรวมเรื่องสั้น Lunar Lunatic คุณคือดวงจันทร์ ฉันสิคนบ้า ผลงานของ ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน เคยสร้างกระแสฮือฮาในกลุ่มนักอ่านรุ่นใหม่ๆด้วยผลงานหลายเล่ม รวมถึง “Abstract Bar ความจริงเพียวเพียว โดยปอ เปรมสำราญ ซึ่งมาพร้อมแฮชแท็กสุดจี๊ดที่ดังกระหึ่มในในโลกออนไลน์อย่าง #ผมอ่านมาร์เกซครั้งแรกตอนอายุ 25 … อ้อ เล่มนี้ก็อยู่ระหว่างพิมพ์ซ้ำด้วยนะ

ฝีมือนักเขียนก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้นักเขียนคือสำนักพิมพ์ ซึ่งนอกจากจะรู้จักนักอ่านของตัวเองอย่างดีเยี่ยมแล้ว ยังเข้าใจถึงวิถีการอ่านของโลกวันนี้ด้วย และหญิงสาว 2 คนที่ส่งรอยยิ้มสวยมาให้รูปนั่นล่ะ คือเบื้องหลังของพี.เอส.พับลิชชิ่ง ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล และ สุพรรณี สงวนพงษ์

ซ้าย-สุพรรณี สงวนพงษ์ ขวา-ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล

แนวคิดของสำนักพิมพ์มาจากคำว่า P.S. หรือ ปัจฉิมลิขิต ซึ่งพ้องกับชื่อของเราทั้งคู่แบบบังเอิญ ความหมายของมันก็คือ P.S. หรือ ป.ล. ในการเขียนจดหมาย เป็นเนื้อหาส่วนเล็กๆ สั้นๆ แต่ก็มีใจความสำคัญ ชัดเจน เป็นส่วนทิ้งท้ายที่มีความหมายในตัวเอง เราจึงวางคอนเซปต์ว่าจะเป็นสนพ.ที่พิมพ์หนังสือเล่มเล็กกะทัดรัด พกพาง่าย อ่านจบไว เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ นักอ่านรุ่นใหม่ เราเข้าใจว่าปัจจุบันคนสมาธิสั้นลง เราจึงตัดความเยิ่นเย้อ คั้นเอาแต่เนื้อๆ ช่วยคนอ่านด้วยการเคาะบรรทัดหรือย่อหน้า เว้นช่วงในการอ่านที่คงใจความและมีจังหวะตามแต่ละเรื่องราว  เพราะส่วนหนึ่งของคนอ่านโตมากับวัฒนธรรมคำคม เรื่องคมไม่คมหรือดีไม่ดีนั่นอีกเรื่องนะ เรามองจุดนี่ด้วยความเข้าใจ สิ่งที่เราทำคือขยายขอบเขตของการอ่าน จากคำคมสั้นๆ เป็นเรื่องราวสั้นๆ ที่มีประเด็นซึ่งเราต้องการจะสื่อสารปนิธิตาอธิบายพร้อมรอยยิ้มหวาน ก่อนบอกถึงสาเหตุที่ตัดสินใจพิมพ์งานวรรณกรรมว่า  เป็นเพราะสนใจงานวรรณกรรมของนักเขียนไทย โดยเฉพาะนักเขียนหน้าใหม่ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวในช่วงวัยของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็มีออกมาแล้ว 8 เล่ม และเล่มล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆก็คือ “I’ve never met a sunset I didn’t like. ไม่มีใครเป็นเจ้าของดวงอาทิตย์โดย ปอ เปรมสำราญ

อาจเพราะวิธีคิดที่เจาะคนอ่านรุ่นใหม่ๆ ผลงานส่วนใหญ่ของ P.S. Publishing จึงเน้นไปเรื่องของความสัมพันธ์ของยุคสมัย และความรู้สึกระหว่างกันที่หลากหลาย

Advertisement

เราสนใจเรื่องความสัมพันธ์กันอยู่แล้วด้วย มันเป็นประเด็นใหญ่ในชีวิตทั้งในทางส่วนตัวและส่วนรวม สังคมเริ่มจากจุดเล็กๆ คือครอบครัว เพื่อน คนรัก ขยายไปถึงเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนบ้าน ชุมชน พื้นที่ที่เราใช้ชีวิต ไปจนถึงประเทศ ถึงแนวคิดทางการเมือง ทุกความสัมพันธ์มีการเมืองอยู่ในนั้นสุพรรณีให้เหตุผล ก่อนอธิบายเพิ่มว่า

การเมืองไม่ใช่แค่เรื่องสีเสื้อ มันอยู่ในระดับวิธีคิดของเราทุกคน ฉันเป็นอย่างนี้ ฉันจะคิดอย่างนี้ เธอเป็นแบบนั้น อยากทำแบบนี้ นี่ก็เรียกการเมืองแล้วนะ ความสัมพันธ์จึงเป็นการสร้างสรรค์และค้นหาวิธีแชร์ความเป็นตัวเองของแต่ละฝ่าย มีกติกา มีการเคารพซึ่งกันและกัน ทำยังไงให้เราอยู่ร่วมกันได้ในระดับความสัมพันธ์นั้นๆ พ่อแม่ปฏิบัติต่อลูกไม่เหมือนตอนอยู่กับเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนกับเพื่อนก็เป็นตัวของตัวเองมากน้อยแตกต่างกันกับตอนอยู่กับแฟน เราทำหนังสือเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในชีวิตของเราอยู่แล้ว

ปนิธิตาพยักหน้าเห็นด้วย ก่อนเสริมว่าเรื่องความสัมพันธ์ รัก ไม่รัก ตัณหา ราคะ อารมณ์ เป็นเรื่องที่เข้าถึงคนอ่านได้ง่ายที่สุด

Advertisement

ไม่เถียงว่าใช้ความสัมพันธ์เป็นสิ่งเรียกร้องความสนใจ แต่เรารู้ว่าสิ่งที่อยากสื่อสารคืออะไรปนิธิตาบอก

ถ้าลองอ่านงานทุกเล่ม จะเห็นประเด็นเรื่องความเท่าเทียมระหว่างกัน การต่อรองที่เป็นธรรม เราคาดหวังให้คนอ่านดื้อขึ้นมาบ้าง หยิ่งผยองขึ้นมาบ้าง รู้จักสิทธิของตัวเอง เคารพสิทธิของคนอื่น อยากให้คนอ่านได้เชื่อมโยงไปถึงประเด็นสังคมเรื่องอื่นๆ จริงๆเรากำลังพูดประเด็นสังคมหนักๆหรือการเมืองนั่นล่ะ แต่ด้วยน้ำเสียงและท่าทีอีกแบบ เช่น ทำไมคนอ่านถึงอินกับความสัมพันธ์ที่คลุมเครือ เพราะชนชั้นกลางรุ่นนี้เจอปัญหานี้จริงๆ เป้าหมายของชีวิตเปลี่ยน เป็นความสัมพันธ์ที่เปราะบางกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ไม่ใช่ความสัมพันธ์หว่องๆ ที่เกิดขึ้นลอยๆ มันก็มีคำอธิบายและพื้นฐานจากภาวะทางสังคม

หนึ่งในความโดดเด่นของหนังสือจากพี.เอส นอกจากสารที่โดนใจคนอ่านรุ่นใหม่ๆแล้ว ดีไซน์ก็โดดเด่นสวยงามไม่แพ้กัน ซึ่งปนิธิตาเล่าว่าเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจตั้งแต่เริ่มแรก คือทำหนังสือที่มีงานภาพประกอบเป็นงานศิลปะ

เป็นคำตอบได้เลยว่าทำไมหนังสือของพี.เอส.ถึงมีราคาสูงกว่าหนังสือไซส์เดียวกันบนแผง เพราะเราคิดว่าหนังสือเล่มหนึ่งเราต้องให้ความสำคัญกับทุกส่วน ประเด็นแหลมคม ภาษาดีให้ตายยังไง ถ้าปกไม่สวย คนก็ไม่สนใจ ปกสวยแต่ทำการตลาดไม่ดี ไม่มีคนรู้จักไม่มีใครเห็นปกเลย หนังสือก็ขายไม่ได้อีก คนอ่านเปิดมาต้องเห็นภาพประกอบสวย เราจึงให้ความสำคัญในการคัดเลือกศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานน่าสนใจที่จะมาทำงานควบคู่กับนักเขียนของเรา

ซึ่งสำหรับสุพรรณีแล้วนั้น เธอมองว่าภาพกับเนื้อหาของหนังสือไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันก็ได้ เพราะนั่นคือการตีความ งานเขียนมีศิลปะในตัวเอง งานภาพประกอบก็มีเช่นกัน

ทั้งคู่มีภาษาในตัวเองที่ต่างก็สื่อสารซึ่งกันและกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปกันคนละทิศละทาง ทั้ง บก. คนวาดภาพประกอบ คนจัดหน้า และนักเขียนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ช่วยกันเสนอความคิด คนทำงานก็ช่วยมองให้หนังสือมีความลงตัวมากที่สุดท่ามกลางเวลาการทำงานที่จำกัดตรงนั้นด้วย

ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่การทำสำนักพิมพ์ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ แถมยังเป็นวรรณกรรมไทยอีกนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้พวกเธอก้าวผ่านเรื่องราวหลายอย่างไปได้คือ ทีมเวิร์คที่ดี และการทำบนพื้นฐานของ การรู้จักตัวเอง

เรา อ่านตัวเองก่อนว่าเราชอบอะไร เราชอบอ่านงานวรรณกรรม ชอบศิลปะ ชอบเรื่องเล่าและมุมมองใหม่ๆ แล้วก็ อ่านคนอ่าน คนอ่านเป็นใคร หลักๆคือชนชั้นกลาง อายุระหว่าง 15-35 แล้วค่อยๆวิเคราะห์ว่ากลุ่มคนอ่านเป็นคนแบบไหน ใช้ชีวิตยังไง ดังนั้นหนังสือราคานี้ไม่แพงไป ถ้าคนอ่านชอบ นี่คือการซื้อความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง แต่เราต้องทำให้คนอ่านรู้สึกให้ได้ว่าจะซื้อหนังสือเล่มนี้ เพราะเนื้อหาแบบนี้กำลังพูดจากับเขา เป็นเรื่องของเขา  เพราะฉะนั้นในแง่ของการตลาด เราต้องอาศัยสื่อออนไลน์อย่างมาก เพราะสื่อออนไลน์ไปเร็วและกระจายแบบแชร์ลูกโซ่ ยิ่งประโยคไหนเป็นที่พูดถึง มีคนแชร์ไปเยอะ เล่มนั้นก็จะเป็นที่รู้จัก คนจะไปตามหาหนังสือเล่ม เรารู้สึกเป็นมิตรกับสื่อออนไลน์มาก

เราพยายามจะยืนระยะให้ได้ มันอาจจะยาก แต่เราจะรอด เพราะเราจะสู้  ในการทำงานเราเริ่มต้นด้วยกันหมดเลย เป็นองค์กรรุ่นใหม่มากๆ ทุกคนมีส่วนร่วม ในหนึ่งปีเราวางแผนพิมพ์หนังสือ 5-6 เล่ม ก็ใส่ใจและให้เวลากับทุกขั้นตอนได้อย่างเต็มที่ ถึงเป็นสำนักพิมพ์อินดี้ แต่คุณภาพสำคัญนะคะ

สำหรับพวกเรา หนังสือไม่ใช่ธุรกิจที่จะต้องแข่งขันกันเอง เพราะไม่ใช่ว่าคนอ่านเล่มนี้แล้วจะไม่อ่านอีกเล่ม คือยิ่งอ่านก็จะยิ่งอ่านเยอะขึ้น อ่านเรื่องของปอ เปรมสำราญ พูดถึงมาร์เกซ คนอ่านก็จะไปตามหาหนังสือของมาร์เกซมาอ่านอีก ต่อยอดไปไม่สิ้นสุดปนิธิตากล่าวยิ้มๆ ก่อนที่สุพรรณีจะเสริมว่า

ในการทำการตลาดเราคุยกันตลอดว่าทำยังไงกันดีนะ ช่วงนี้เงียบจัง หรือตอนนี้มีอะไรมาเล่นมาเบรคเรื่องหนังสือกันไหม เพจสำนักพิมพ์ก็จะโพสต์อะไรที่หลากหลาย หรือบางทีก็ชวนคนอ่านเล่นเกมไปเลย เราว่าทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด เหมือนการใช้ชีวิตน่ะ บางทีก็มีโหมดที่เราต้องจริงจังกับงาน บางทีเราเล่นบ้างก็ได้ วิธีขายในแต่ละเล่มก็มีอยู่ แต่การวางตำแหน่งตัวเองว่าเราอยู่จุดไหนในวงการหนังสือ จุดไหนในสังคม เราก็มี เหมือนคนๆหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ก็เรียนรู้และค่อยๆเติบโตไปพร้อมกันกับคนอ่านด้วยเหมือนกัน

เรามองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ แต่ก็อยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปด้วย

เป็นอีกส่วนหนึ่งของวรรณกรรมไทย ในมือคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ควรพลาดสายตา

………………………..

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image