Futuer Perfect ไม่เพียงแค่‘สื่อใหม่’, ‘สื่อเอไอ’ก็อาจกำลังมาแย่งงานสื่อเก่า? โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

คุณก็รู้ว่าหากงานของคุณเป็นงานรูทีน ที่คุณต้องทำซ้ำๆ ซากๆ โดยไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มเติมสักเท่าไร มันเป็นงานที่เพียงก๊อบตัวเลขจากไมโครซอฟท์เอ็กซ์เซลมาใส่สูตรเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่วางลงไปบนเอกสาร มันเป็นงานที่เพียงคัดลอกคำพูดของคนคนหนึ่งมาเรียงกันไปเรื่อยๆ หากงานของคุณเป็นเช่นนั้น โอกาสที่คุณจะถูกหุ่นยนต์แย่งงานก็มากเต็มที

แน่นอนว่างานข่าว ไม่ใช่งานแบบนั้นไปเสียทั้งหมด แต่งานข่าวบางส่วน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแบบนั้นเอง รายงานหุ้นที่เพียงบอกตัวเลขขึ้นลงในแต่ละวันหรือแต่
ละนาที รายงานคะแนนบาสเกตบอลแบบที่ไม่มีชีวิตจิตใจ รายงานทางสถิติ ที่พัวพันกับตัวเลขจำนวนมากๆ ในที่ที่ไม่มีพื้นที่สำหรับความเป็นมนุษย์ หุ่นยนต์ก็จะมาแทนที่

ปัจจุบันการใช้หุ่นยนต์เขียนข่าวไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป ถึงแม้ว่าในประเทศไทยอาจจะยังไม่มีให้เห็นกันมากนัก แต่ในต่างประเทศ องค์กรข่าวใหญ่ๆ ทั้ง Associated Press, นิตยสาร Forbes, ProPublica และหนังสือพิมพ์ The Los Angeles Times ก็หันมาใช้หุ่นยนต์เพื่อเขียนข่าวแทนมนุษย์ในส่วนที่ทดแทนได้แล้ว เช่น Associated Press ก็ใช้หุ่นยนต์เพื่อเขียนข่าวรายงานกีฬาเบสบอลไมเนอร์ลีก ในส่วนที่เดิมทีนักข่าวที่เป็นมนุษย์ไม่สามารถรายงานได้หมด (เพราะมีการแข่งขันมากถึง 10,000 นัดต่อปี หากจะต้องส่งมนุษย์ไปเกาะขอบสนามทั้งหมดก็จะเปลืองต้นทุนมาก) หรือใช้เพื่อรายงานรายได้ของบริษัทต่างๆ

การใช้หุ่นยนต์เพื่อทำรายงานทางการเงินนั้นถูกใช้ในที่อื่นด้วยเช่นกัน อย่างเช่น Thomson Reuters ก็เปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์รายงานด้านนี้เสริมกับมนุษย์ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ตั้งแต่ปี 2006

Advertisement

แต่การรายงานด้วยหุ่นยนต์ก็ไม่ได้หยุดเพียงข้อมูลด้าน “การเงิน” หรือ “คะแนนกีฬา” เท่านั้นนะครับ ในโลกที่ทุกสิ่งเป็นข้อมูล เป็นตัวเลขมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะได้เห็นการนำหุ่นยนต์มาใช้เขียนข่าวหรือรายงานมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะข่าวที่ต้องการความรวดเร็วฉับไวและความแม่นยำสูง เช่นในปี 2014 ในเหตุแผ่นดินไหวที่แคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิสไทมส์ก็เลือกใช้หุ่นยนต์ชื่อ QuakeBot ในการรายงานข้อมูลล่าสุดที่ถี่ถ้วนและว่องไวในแบบที่มนุษย์ทำไม่ได้ มีสถิติว่า ในครั้งนั้น QuakeBot ใช้เวลาเพียง 3 นาทีหลังแผ่นดินไหวสงบเท่านั้นในการเขียนข่าวขึ้นบนเว็บ

3 นาทีเป็นเวลาที่มนุษย์ไม่สามารถเอาชนะได้ หากมนุษย์เขียนข่าวเดียวกัน อาจต้องใช้เวลา 10 นาทีเป็นอย่างต่ำ

ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์รายงานข่าวแทนมนุษย์ (ในจุดที่รายงานได้) ที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องความเร็วนี้เอง มีสถิติจาก Associated Press ว่าสามารถเขียนรายงานรายรับให้กับลูกค้าได้มากกว่าเดิมถึง 10 เท่า และหากเทียบกันซอฟต์แวร์เหล่านี้ก็สามารถเขียนข่าวสั้นๆ ความยาว 150-300 คำได้ในเวลาครู่เดียวเท่านั้น ในขณะที่นักข่าวที่เป็นมนุษย์อาจใช้เวลานานเท่ากันเพื่อประมวลตัวเลขและเตรียมข้อมูล ยังไม่ได้เริ่มเขียนจริง

Advertisement

นอกจากเรื่องความเร็วแล้ว การใช้หุ่นยนต์ก็ยังลดค่าใช้จ่ายในการจ้างนักข่าวที่เป็นมนุษย์ด้วย หากมีข้อมูลที่เป็นตัวเลข หุ่นยนต์ก็พร้อมจะเขียนข่าวนั้นได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มเติม คุณอาจเลือกจ้างเพียงโปรแกรมเมอร์สักคนเพื่อทำหน้าที่ควบคุมซอฟต์แวร์ให้ผลิตข่าว ในอัตราค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการจ้างนักข่าวเป็นสิบๆ คน

มีการถกเถียงบ่อยครั้งว่า หุ่นยนต์จะสามารถทำหน้าที่แทนนักข่าวทั้งหมดได้จริงๆ หรือไม่ แต่ในอนาคตอันใกล้ ก็มักเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าหุ่นยนต์ไม่สามารถรายงานข่าวแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด ข่าวที่ไม่มีข้อมูลที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างชัดเจนนั้นยากสำหรับหุ่นยนต์ และหากข้อมูลมีคุณภาพต่ำ ข่าวที่รายงานออกมาก็จะมีคุณภาพต่ำเช่นเดียวกันด้วยความตรงไปตรงมาของอัลกอริธึม

ในปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการเขียนข่าวยังไม่มีความซับซ้อนมากนัก ผู้พัฒนาโปรแกรมเขียนข่าวให้กับลอสแองเจลิสไทมส์ที่รายงานข่าวแผ่นดินไหว (ซึ่งปัจจุบันย้ายไปทำงานกับนิวยอร์กไทมส์แล้ว) ก็ยอมรับว่า โปรแกรมที่เขาเขียนขึ้นนั้น “ง่ายจนน่าอาย” เพราะมันเป็นเพียงการนำชุดตัวเลขมาใส่ฟอร์แมตที่กำหนดไว้ก่อนหน้าแล้วเท่านั้น (ลองนึกถึงการเติมคำในช่องว่าง ที่คุณเตรียมเทมเพลตของข่าวไว้แล้ว เมื่อมีข้อมูลก็เพียงคำนวณและจับยัดใส่เข้าไป) แต่ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ก็ได้รับการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ จนคุณอาจสามารถเลือกน้ำเสียงที่ใช้รายงาน หรือระดับความจริงจัง รวมไปถึงความสั้นยาวของข่าวที่อยากให้หุ่นยนต์เขียนได้อีกด้วย (โดยมันไม่ปริปากบ่นหากคุณสั่งแก้ใหม่ทั้งหมด!)

คำถามต่อการเขียนข่าวโดยหุ่นยนต์นั้นหลากหลาย แต่ก็มักเป็นคำถามที่เราพอเดากันได้อยู่ เช่น นักข่าวบางคนก็ตั้งคำถามเลยว่าสิ่งที่หุ่นยนต์เขียนขึ้นมานั้นถือเป็น “ข่าว” จริงหรือ (นักข่าวที่ตั้งคำถามนี้บอกว่า เวลาคนคิดถึงข่าว คนไม่ได้คิดถึงรายงานรายได้หรือคะแนนเบสบอลหรอก) “ข่าวที่แท้จริง” จะต้องมีความลึกซึ้ง และความเป็นมนุษย์กว่าหุ่นยนต์หรือเปล่า นอกจากนั้นยังมีการตั้งคำถามถึงความเป็นเจ้าของด้วยว่า ข่าวที่หุ่นยนต์เขียนขึ้นนั้นเป็นของใคร เช่น เป็นของโปรแกรมเมอร์ เป็นของหุ่นยนต์ เป็นของเจ้าของหรือคนหาข้อมูล หรือเป็นของคนเขียนเทมเพลตข่าวนั้นๆ

นักพัฒนาโปรแกรมเขียนข่าว (Stats Monkey) คนหนึ่งเคยทำนายไว้ว่า “หุ่นยนต์เขียนข่าวจะได้รางวัลพูลิตเซอร์ใน 5 ปี!” แต่เขาพูดคำนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2011 มาตอนนี้ปี 2017 แล้วก็ยังไม่มีหุ่นยนต์ที่ทำได้แบบนั้น และหากถามผมก็น่าจะอีกนานพอดู กว่าที่มันจะเกิดขึ้นจริงๆ

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ อย่านิ่งนอนใจไป เราเคยพูดว่าหุ่นยนต์จะไม่มีวันชนะมนุษย์ในเกมหมากรุก ในเกมโกะ และในเกม Jeopardy แต่หุ่นยนต์ก็ชนะมนุษย์มาแล้วทั้ง 3 สนาม ถึงแม้ “การเขียนข่าว” อาจดูเป็นมนุษย์มากกว่าเกมกระดาน (ที่บางคนบอกว่าสามารถลดรูปเป็นคณิตศาสตร์ได้) แต่ก็นั่นแหละ ในอนาคตอันใกล้ พื้นที่ของข่าวตัวเลขที่ขาดซึ่งการวิเคราะห์ สังเคราะห์ อาจเหลือน้อยลงสำหรับมนุษย์เข้าไปทุกทีๆ ก่อนที่พื้นที่อื่นๆ จะลดลงตามไป เป็นสัดส่วนแปรผันกลับกับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นในทุกวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image