เอสซีจี ปลุกแรงบันดาลใจเยาวชนและชุมชน สร้างฝายชะลอน้ำสู่ความยั่งยืน

เอสซีจี ปลุกแรงบันดาลใจเยาวชนและชุมชน ร่วมสานต่อพระราชปณิธาน สร้างฝายชะลอน้ำสู่ความยั่งยืน

หลายพันโครงการในพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต และความอยู่ดีกินดีของประชาชน ล้วนเป็นการต่อยอดจากโครงการตั้งต้นในการจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น ถึงวันนี้ ด้วยการปลุกแรงบันดาลใจจากกิจกรรม “เอสซีจี รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย” กลุ่มเยาวชนและชุมชนต่างพร้อมใจกันร่วมสานต่อประราชปณิธานด้วยการนำองค์ความรู้และหลักปฏิบัติของการสร้างฝายชะลอน้ำที่ได้จากการร่วมกิจกรรม ไปขยายผลสู่ความยั่งยืนด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนอย่างแท้จริง

“พระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า อันที่จริงชีวิตของเรานั้นก็ผูกพัน และขึ้นกับธรรมชาติทั้งสิ้น ถ้าหากไม่มี ดิน น้ำ ลม ไฟ และ ป่า เราก็จะไม่มีอาหารกิน ไม่มียารักษาโรค ไม่มีสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือน” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการกิจการเพื่อสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวเนื่องในโอกาสเป็นวิทยากรพิเศษ ร่วมบรรยายเรื่องราวเส้นทางทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ในการทัศนศึกษาโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้กว่า 60 คน เป็นกลุ่มผู้นำชุมชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ เพื่อศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้ชื่อกิจกรรม “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย

Advertisement

แนวทางการสร้างฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่ป่าห้วยฮ่องไคร้ ถือเป็นโครงการในพระราชดำริยุคแรกๆ ที่มีการสร้างฝายธรรมชาติ เพื่อเก็บกักน้ำบริเวณผิวดินเอาไว้ จากน้ำ ก็ขยายผลสู่ป่า จากพื้นที่ที่เคยแห้งแล้ง และถูกแผ้วถางทำลาย ก็กลับฟื้นคืนสู่ธรรมชาติสีเขียวที่อุดมสมบูรณ์ภายในเวลาไม่กี่ปี

“วันนี้ เราพาคณะตัวแทนชุมชนและเยาวชนมาที่ห้วยฮ่องไคร้ เพราะที่นี่เป็นต้นแบบของการฟื้นฟูป่า ที่เห็นผลประจักษ์แล้ว และเป็นเรื่องที่น่าดีใจที่วันนี้กลุ่มผู้นำชุมชน และเยาวชน เข้ามาศึกษาดูงานในโครงการพระราชดำริ และมีแรงบันดาลใจ มุ่งมั่นที่จะสานต่อพระราชปณิธาน ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการขยายผลสู่ชุมชนและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งหมดจะทำให้กระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยเดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน” ดร.สุเมธ กล่าว

พงษ์วิศิษฐ์ ปะนัดถา นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า นอกจากองค์ความรู้เรื่องการสร้างฝายชะลอน้ำแล้ว สิ่งที่เขาได้รับกลับไปบ้าน ยังมีเรื่องของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มผู้นำชุมชนต้นแบบด้านการบริหารจัดการน้ำ การทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อนๆ ที่เดินทางมาจากทั่วประเทศและการศึกษาพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่ห้วยฮ่องไคร้ เขายังได้รับแรงบันดาลใจและกำลังใจในการนำความรู้ทั้งหมด กลับไปถ่ายทอดให้กับเยาวชนตัวเล็กๆ ตามบทบาทของนิสิตฝึกสอนของตัวเองอีกด้วย

“ผมเรียนครู เราอยู่กับเด็กและเยาวชน จากนี้จนถึงวันที่เราได้เป็นครูจริงๆ ผมมีความตั้งใจว่า เราจะปลูกฝังเรื่องราวเหล่านี้ให้กับพวกเขาให้ได้ โดยจะต้องเริ่มจากตัวเรา ทำให้เขาเห็นตัวอย่างที่ดี พาเด็กๆ ไปลงมือสร้างฝายกัน สร้างอย่างถูกต้อง สร้างอย่างมีที่มาที่ไป ให้เขาเกิดความเข้าใจเรื่องการดูแลน้ำ ดูแลป่า ดูแลพื้นดิน เมื่อเขาเห็นตัวอย่างเหล่านี้ และได้ลงมือทำ ไม่ใช่แค่บอกเล่าหรือสอน ผมเชื่อว่าเด็กๆ ก็จะขยายผลสู่ครอบครัว สู่ชุมชนของพวกเขาต่อไปได้”

ทางด้าน พัชรชล หนูนารถ นักศึกษาชั้นปริญญาโท จากมหามกุฏราชวิทยาลัย จังหวัดนครศรีธรรมราชกล่าวว่า เธอรู้สึกยินดีที่กิจกรรมในครั้งนี้ ที่ทำให้เธอได้พบกับเพื่อนๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน และมั่นใจว่าการจับกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งของคนรุ่นใหม่หลายสิบชีวิตนั้น จะช่วยส่งต่อแรงขับเคลื่อนในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน สู่อีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย

“การอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มจากตัวเรา เมื่อเรามีความคิดนี้แล้ว เราแค่จะหาคนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน อาจจะ 1 ใน 10 หรือ 100  วันนี้ดีใจค่ะ ที่มาเจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกันแล้ว 10 คนของเราตรงนี้ต้องแข็งแรงก่อน ความรู้ต้องพร้อม และพวกเราต้องเกาะกลุ่มกันให้แข็งแรง ต่อไปจะได้ไปดึงเพื่อนคนอื่นๆ มาทำงานด้วยกันได้ จากความคิดตั้งต้นค่อยๆ เติบโตไป ถ้ามีเพียงเราลำพัง การไปคุยกับผู้นำชุมชนให้ลุกขึ้นมาทำโครงการนั้นนี้ อาจจะทำได้ยาก เพราะเราก็ต้องไปทำความเข้าใจเยอะ แต่หากเราไปกันเป็นกลุ่ม อีกหน่อยมันก็คงจะขยายผล จากบ้าน สู่วัด สู่โรงเรียนได้ค่ะ

แนวทางการอนุรักษ์ วิธี และองค์ความรู้ต่างๆ ไม่ใช่เรื่องยากเลย  ในหลวงท่านทรงทำให้พวกเราดูแล้ว เป็นหน้าที่ที่พวกเราจะต้องสานต่อ และส่งมอบองค์ความรู้เหล่านี้ ให้แพร่กระจายออกไปมากที่สุด เพื่อประโยชน์ของประเทศเราเอง”

นอกจากกลุ่มเยาวชนแล้ว ผู้นำชุมชนจากกาญจนบุรี ขอนแก่น และ นครศรีธรรมราช ก็เป็นอีกกลุ่มใหญ่ของสมาชิกที่ร่วมกิจกรรมรักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำสร้างฝายทั่วไทย โดยสุจินต์ สมทรง ประธานชุมชนบ้านในหวัง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังว่า พื้นที่ทุ่งสง แม้จะอยู่ในภาคใต้ที่ได้ชื่อว่าฝนแปด แดดสี่ แต่ก็ยังประสบปัญหาภัยแล้งทุกๆ ปี ในขณะที่การสร้างฝายด้วยภูมิปัญญาของคนในพื้นที่เองอาจจะทำอย่างไม่ถูกต้อง การได้มาเรียนรู้วิธีการสร้างฝายชะลอน้ำที่บ้านห้วยฮ่องไคร้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้นำความรู้เหล่านี้กลับไปปรับใช้ และผสมผสานกับองค์ความรู้ของท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารจัดการแหล่งน้ำของชุมชนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เราเป็นชุมชนเมือง คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีเวลา ก็แก้ปัญหาด้วยการรณรงค์และส่งเสริมให้เยาวชนเข้ามาร่วมกันสร้างฝาย ก่อนหน้านี้ฝายของทุ่งสงก็จะเป็นกระสอบทราย แต่ที่ห้วยฮ่องไคร้นี้จะต่างไป จะเป็นฝายที่แข็งแรงกว่า ซึ่งผมมองว่าดี เมื่อมาถึงที่นี่ได้มาเรียนรู้แล้วก็จะนำกลับไปคิดใหม่ในชุมชนของตนเอง

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจคือ การสร้างสระพวง ในปัจจุบันเวลาฤดูที่น้ำเยอะฝนตกหนัก เราไม่เคยเก็บน้ำไว้เลยพอเข้าหน้าแล้งก็กลายเป็นน้ำขาดแคลนไป ถ้าเรามีการสร้างสระพวงตามทฤษฎีบริหารจัดการน้ำ มันน่าสนใจครับ ว่าจะช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ได้บ้างหรือไม่”

เช่นเดียวกับ เดือน คงมณี ผู้ใหญ่บ้านและประธานป่าชุมชน อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ที่เล่าให้ฟังว่า ในหมู่บ้านไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และประสบปัญหาภัยแล้ง แต่จากการร่วมด้วยช่วยกันทำฝายขั้นบันไดในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ได้เห็นปริมาณน้ำในผิวดินเพิ่มมากขึ้น สภาพพื้นที่ภูเขาก็ดูจะอุดมสมบูรณ์ขึ้น เนื่องจากฝายทำหน้าที่ในการกักเก็บน้ำไว้ใต้ดิน ไม่ไหลบ่าลงมาท่วมที่ต่ำด้านล่างเหมือนเช่นหลายปีที่ผ่านมา

วันนี้เราได้เห็นน้ำเริ่มผุดใต้ดิน ดินอุ้มน้ำได้ และหน้าแล้ง พืชไร่จะมีสีเขียว เพราะมีความชื้นแล้ว ผมเคยมาดูงานที่ห้วยฮ่องไคร้เมื่อปี 2538 แล้วนำแนวทางกลับไปใช้ วันนี้ได้เห็นผลแล้ว และเรากลับมาที่นี่อีกครั้งเพื่อมารับเอาแรงบันดาลใจรับองค์ความรู้ใหม่ๆ กลับไปใช้กับพื้นที่ ต้องบอกว่า ป่านี้ถ้าคนรู้จักกิน รู้จักใช้เราก็อยู่ได้ทั้งปี ของป่า ช่วยลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ชาวบ้านก็ไม่ค่อยเป็นหนี้แล้วครับ”

กิจกรรม รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย เป็นหนึ่งในโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” วันนี้ โครงการต้นแบบได้เดินหน้ากิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ ปลุกพลังบวกของเยาวชน และผู้นำชุมชน จากหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศให้ร่วมเดินตามแนวทางพระราชดำริ เพื่อความอยู่ดีกินดี และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศ สมดังพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน ที่ทรงตั้งพระทัยมั่นในการทรงงานเพื่ออนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติผ่านการสร้างฝายชะลอน้ำสู่การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้อยู่ดีกินดี และมีความสุขอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image