กรธ.แจง ปรับกฎหมายอาญานักการเมืองเพิ่มประสิทธิภาพ ยันไม่กังวลแม้มีผู้ยื่นศาลรธน.ตีความ

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า โดยหลักการระบบการดำเนินคดีอาญา มีด้วยกัน 2 ระบบ คือ ระบบกล่าวหา ใช้วิธีการต่อสู้กันระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่งประเทศไทยในอดีตอาจมีความคุ้นเคยกับระบบนี้ จะเห็นได้จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งกำหนดไว้เลยว่าการฟ้องคดี การพิจารณาคดีจะต้องมีจำเลย ส่วนอีกระบบที่ใช้กันในประเทศภาคพื้นยุโรป ฝรั่งเศส อิตาลี ระบบนี้เรียกว่าระบบไต่สวน ซึ่งเรานำมาใช้ในกรณีของคดีอาญานักการเมือง ได้พูดถึงตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้ปรับในส่วนของการพิจารณาคดีแบบไม่มีตัวจำเลย ดังนั้นเพื่อที่จะให้การพิจารณาคดีตามระบบไต่สวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีกระบวนการยุติธรรมโดยที่บ้านเมืองไม่สามารถดำเนินการเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีในศาลได้ เราจึงนำวิธีการที่ประเทศในภาคพื้นยุโรปใช้กันคือการดำเนินคดีโดยที่ไม่ต้องมีตัวจำเลย กรณีที่ศาลเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนี จงใจไม่ยอมมาต่อสู้คดีในศาล

นายอุดม กล่าวว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าการพิจารณาคดีโดยที่ไม่มีตัวจำเลยจะเป็นธรรมหรือไม่ ก็มีการตั้งเป็นข้อสังเกตไปยังกลไกที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ท้ายที่สุดก็มีการวางหลักออกมาว่าการจะเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ต้องดูที่หลัก 3 ประการคือ 1. เรื่องของการที่จำเลยได้ทราบถึงข้อกล่าวหาที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ได้รับทราบว่าตัวเองจะถูกดำเนินคดีอย่างไรหรือไม่ 2. สิทธิในการมีทนายเพื่อต่อสู้ข้อกล่าวหาว่ากฎหมายได้คุ้มครองสิทธิไว้หรือไม่ และ3.กรณีที่เขาต้องคำพิพากษาหรือศาลลงโทษ เขาไม่ได้อยู่ร่วม เขาจะต้องได้รับสิทธิในการที่จะขอให้มีการรื้อฟื้นเพื่อพิจารณาใหม่ ทั้งหมดนี้คือหลัก 3 ประการ ที่กลไกดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ความสำคัญ ทั้งนี้ กรธ. คณะกรรมาธิการฯของสนช. ได้พิจารณาเรื่องเหล่านี้ก่อนแล้วจึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีกลไกทั้ง 3 ประการถ้าหากเรานำเอาเรื่องการพิจารณาคดีโดยไม่มีจำเลยมาใช้ ซึ่งมีการเขียนคุ้มครองไว้ในมาตรา 27,28

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าอาจมีผู้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายอุดม กล่าวว่า ไม่กังวล เป็นธรรมดาที่อาจจะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็มีสิทธิที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นไปตามหลักที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้หรือไม่ โดยผู้ยกร่างและผู้ที่ผ่านความเห็นชอบต้องมีเหตุผลในการอภิปรายว่าเหตุผลใดจึงตรากฎหมายแบบนี้ออกมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image