ปัจจัย การเมือง จากเศรษฐกิจ ‘สินค้า’ กรณี ยางพารา

คล้อยหลังการล่าลายเซ็น 50,000 รายชื่อเพื่อปลด นายธีธัช สุขสะอาด ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ปะทุขึ้นที่ภาคใต้

ก็มีการเคลื่อนไหวในเชิง “สวน” ทางขึ้น

เมื่อเครือข่ายยางภาคตะวันออกเริ่มหารือเพื่อล่าลายเซ็น 50,000 รายชื่อเพื่อขอให้ นายธีธัช สุขสะอาด อยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไร

Advertisement

1 สะท้อนว่าเกษตรกรชาวสวนยางมิได้มีแต่จังหวัดภาคใต้ หากแต่ยังมีในภาคตะวันออก และก็มีมุมมองอันต่างไปจากภาคใต้

ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดอย่างไร

ขณะเดียวกัน 1 สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาของราคายางพารามิได้เป็นเรื่องในทางเศรษฐกิจล้วนๆ หากแต่แทรกซึมไว้ด้วยประเด็นในทางการเมือง

Advertisement

“การเมือง” ต่างหากคือ “ความเข้มข้น”

ถามว่าทั้งๆ ที่ปัญหาในเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรมิได้มีแต่เฉพาะเกษตรกรชาวสวนยาง หากแต่ยังดำรงอยู่ในเกษตรกรชาวนา ชาวไร่อ้อย ชาวมันสำปะหลัง

แล้วเหตุใดจึงอึกทึกแต่จาก “ชาวสวนยาง”

อาจเพราะว่าภาคใต้คือพื้นที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสวนยางพารา โดยเฉพาะที่จังหวัดตรังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

รากฐาน “ชาวสวนยาง” จากภาคใต้จึงแข็งแกร่ง มั่งคง

เมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคตะวันออก พื้นที่ภาคกลาง พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเกิดขึ้นทีหลัง

ความแข็งแกร่งในที่นี้คือ ความแข็งแกร่งในลักษณะ “จัดตั้ง”

ลองไปสำรวจดูเถิดบรรดา “เครือข่าย” และ “กลุ่ม” ของเกษตรกรชาวสวนยางมักมีจุดเริ่มต้นในพื้นที่ภาคใต้อย่างเป็นด้านหลัก พื้นที่ด้านอื่นอาจมีแต่ไม่แข็งแกร่งเท่า

ลักษณะ “จัดตั้ง” ต่างหากคือ “จุดแข็ง”

ปรากฏการณ์อันสะท้อนจาก “เครือข่ายยางภาคตะวันออก” จึงเป็นเรื่องใหม่ในวงการยาง และดำเนินไปในลักษณะย้อนศร

เข้าทำนอง หนามยอก หนามบ่ง

ความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้กับกลุ่มการเมืองในพื้นที่ดำรงอยู่อย่างแยกกันไม่ออก

เห็นได้จากสถานการณ์ “ชะอวดโมเดล”

เห็นได้จากการดำเนินมาตรการ “ชัตดาวน์” โดยยึดถนนเพชรเกษมในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นกองบัญชาการใหญ่ตั้งแต่กลางปี 2556

เท่ากับเป็นพิมพ์เขียวให้กับมาตรการชัตดาวน์ “กทม.”

เพียงแต่ในเดือนกรกฎาคม 2560 ปรากฏการณ์อย่างที่คึกคักเป็นอย่างมากมิได้ผูกขาดเฉพาะแต่ในพื้นที่ภาคใต้ หากแต่แผ่ขยายมายังพื้นที่ภาคตะวันออก

และเป็นไปได้อาจแพร่ไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แสดงให้เห็นว่า “เครือข่ายยางภาคตะวันออก” สัมพันธ์กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แนบแน่นยิ่งกว่าเครือข่ายยางภาคใต้

เพราะว่าภาคใต้เป็นพื้นที่ของ “ประชาธิปัตย์”

แนวโน้มและความเป็นไปได้ในอนาคต อาจจะไม่มีการจัดตั้งในลักษณะรวมกลุ่มเฉพาะพืชเศรษฐกิจยางพารา แต่เป็นไปได้ว่าจะขยายไปยัง ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง

สิ่งเหล่านี้สะท้อนการพัฒนาในทางเศรษฐกิจ

นั่นก็คือ จากที่เคยเป็นเศรษฐกิจ “ธรรมชาติ” กลายมาเป็นเศรษฐกิจ “สินค้า” โดยมีราคาเป็นปัจจัยและกำกับเส้นชีวิตที่สำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image