หลักสูตรการผลิตครู ควรเป็น 4 หรือ 5 ปีดี โดย : ดิเรก พรสีมา

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการถามกันว่าหลักสูตรการผลิตครูของไทยควรเป็น 4 หรือ 5 ปี ผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอข้อมูลประกอบการพิจารณาก่อนที่จะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวดังนี้

การผลิตครูเป็นระบบ คล้ายๆ กับระบบการผลิตทั่วไปซึ่งประกอบด้วยระบบย่อยพื้นฐาน 4 ระบบย่อยคือ (1) ผลผลิต – output (2) กระบวนการผลิต – process (3) ตัวป้อนเข้า – input และ (4) สิ่งแวดล้อมของระบบการผลิต – environment เมื่อเป็นระบบ ระบบย่อยทั้ง 4 ระบบย่อยจึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แยกจากกันไม่ออก

ผลผลิตเป็นผลมาจากกระบวนการผลิต กระบวนการผลิตจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับตัวป้อนเข้า ทั้งผลผลิต กระบวนการผลิต และตัวป้อนเข้าจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมของระบบการผลิต เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นผู้กำหนดว่าเขาต้องการผลผลิตที่มีรูปร่างหน้าตาหรือมีคุณลักษณะเป็นอย่างไร นอกจากนั้นสิ่งแวดล้อมเป็นผู้สร้างและมอบตัวป้อนเข้า มอบและนำเสนอเทคโนโลยีหรือกระบวนการผลิตให้แก่ระบบการผลิต และสิ่งแวดล้อมของระบบการผลิตจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับผลผลิตของระบบการผลิต

ซึ่งเราอาจเขียนแผนภูมิแสดงความสัมพันธ์ระหว่างระบบย่อยพื้นฐานของระบบการผลิตครูได้ดังแผนภูมิด้านล่าง

Advertisement

จากแผนภูมิจะเห็นว่า คนกำหนดว่า 1 ควรจะมีรูปร่างหน้าตา หรือคุณลักษณะเป็นอย่างไรคือ 4 แต่คนที่จะทำให้ 1 มีรูปร่างหน้าตาและคุณลักษณะตามที่ 4 ต้องการคือ 2 และ 2 ก็รับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการทำงานตลอดจนเทคโนโลยีการเรียนการสอนและการผลิตครูมาจาก 4 และ 4 ก็เป็นคนมอบตัวป้อนเข้าให้กับ 3 ในขณะเดียวกัน 1 ก็จะออกไปเป็นองค์ประกอบสำคัญของ 4 หรือ 4 จะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับ 1 ทั้ง 1, 2, 3, 4 จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์และพึ่งพาอาศัยกันชนิดที่แยกจากกันไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงใน 1, 2, 3, หรือ 4 จะส่งผลกระทบต่อกันเสมอ

นี่คือความเป็นระบบ และในทางทฤษฎี von Bertalanfy (1956) กล่าวว่า สิ่งทั้งหลายในจักรวาลนี้ ในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นสมาชิกของระบบ รวมทั้งอนุภาคนิวเคลียร์ อะตอม โมเลกุล เซลล์ อวัยวะต่างๆ ของมนุษย์หรือสัตว์ สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย [ครู] กลุ่มคน องค์กร ชุมชน สังคม [โรงเรียน] [การศึกษา] [กระทรวง] ประเทศ โลก และระบบสุริยะ ต่างเป็นสมาชิกของระบบซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

วันนี้เราอยากให้บัณฑิตครูของเราเป็นอย่างไร จะตอบคำถามนี้ได้เราก็ต้องถามตัวเราเองก่อนว่าเราอยากให้เยาวชนของเราเป็นอย่างไร อยากให้คนไทยเป็นอย่างไร ผู้เขียนมีโอกาสถามพรรคพวกเพื่อนฝูงในหลายประเทศ ก็จะตอบคล้ายๆ กันว่าอยากให้เยาวชนของเขามีคุณลักษณะคล้ายๆ กับคุณลักษณะของคนในศตวรรษที่ 21 เพราะเรากำลังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 และเมื่อถามเพื่อนครูในประเทศไทยก็จะตอบคล้ายๆ กันว่าอยากให้ศิษย์ของตนมีคุณลักษณะของคนในศตวรรษที่ 21 ส่วนลักษณะของคนในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างไร ลักษณะของคนในศตวรรษที่ 21 ในทรรศนะของครูคนหนึ่งกับของครูอีกคนหนึ่งจะเหมือนกันหรือไม่ และจะทำให้เกิดขึ้นในตัวศิษย์ได้หรือไม่เป็นประเด็นที่สงสัยกันอยู่

ทุกคนเห็นตรงกันว่าถ้าครูไม่มีคุณลักษณะของคนในศตวรรษที่ 21 คือไม่มีคุณลักษณะตาม 1 หรือไม่รู้ว่าคนในศตวรรษที่ 21 มีคุณลักษณะอย่างไร แล้วครูจะทำให้ศิษย์มีคุณลักษณะดังกล่าวได้หรือ เมื่อเป็นเช่นนี้คนที่จะเป็นครูของประเทศไทยจึงควรมีคุณลักษณะของคนในศตวรรษที่ 21 คือมีคุณลักษณะตาม 1 ให้มากที่สุด หรือให้มีมากกว่า และคุณลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากคนในศตวรรษที่ 21 ที่คนในประเทศไทยต้องมีเพิ่มคือความเป็นผู้มีวินัย มีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น มีคุณธรรม และจริยธรรมอันดีงามตามวิถีไทย หรือที่หลายคนเรียกว่ามี Compassion

ถ้าจะให้ครูไทยมีคุณลักษณะตามคุณลักษณะของคนในศตวรรษที่ 21 บวกกับ Compassion กระบวนการผลิตครูของเรา คือ 2 ควรจะเป็นอย่างไร ถ้าอยากให้ผู้เรียนได้ 3Rs – reading, writing, and arithmetic ครูและนักเรียนต้องทำอย่างไร ต้องทำกิจกรรมอะไร ถ้าอยากให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักในความเป็นสากลหรือความเป็นพลเมืองของโลก – globalization จะต้องให้ผู้เรียนทำกิจกรรมอะไรระหว่างเรียน และต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะเกิดความตระหนักดังกล่าว เช่นเดียวกัน

ถ้าจะให้ผู้เรียนได้ทักษะทางเศรษฐกิจ การเงิน การประกอบการ – economy, finance, and entrepreneur หรือให้ได้ทักษะทางการดูแลรักษาสุขภาพ (healthcare skills) ความตระหนักในการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ (citizenship) ความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและร่วมกันดูแลรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (natural environment) จะต้องใช้เวลานานเท่าใด กี่ชั่วโมง กี่วัน กี่สัปดาห์ กี่เดือน กี่ปี

เช่นเดียวกัน ถ้าจะให้นักศึกษาครูได้ทักษะที่จำเป็นสำหรับคนในศตวรรษที่ 21 ทั้ง 8 ทักษะคือการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาในวิชาที่เรียน (critical thinking and problem solving skills) การคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมในวิชาที่เรียน (creative and innovative skills) การสร้างความร่วมมือ ทำงานเป็นทีม และสร้างภาวะผู้นำในระหว่างเรียนและการนำไปใช้ในอนาคต (collaborative, teamwork and leadership skills) การอยู่ร่วมกันกับคนในหลากหลายวัฒนธรรม (cross-cultural understanding) การสื่อสาร การเรียนรู้ เข้าใจ ใช้สารสนเทศ และสื่อสารมวลชนในวิชาที่เรียนและนำไปใช้ในการทำงาน (communication, information and media)

การคิดคำนวณ และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสื่อสารทางไกลในวิชาที่เรียนและในการทำงาน (computing and ICT) การสร้างอาชีพและความรู้ได้ด้วยตนเองโดยอาศัยวิชาที่เรียนมา (Career and learning self-reliance) และการมีวินัย เข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น มีคุณธรรมและจริยธรรม ทั้งในระหว่างเรียนและในอนาคตเมื่อออกไปประกอบอาชีพ (compassion) แต่ละอย่างจะต้องใช้เวลาในการเรียนและการฝึกนานเท่าใด กี่ชั่วโมง กี่วัน กี่สัปดาห์ กี่เดือน ทั้งหมดนี้คิดจากฐานของนักเรียนที่จบ ม.6 ของไทยปัจจุบัน และเรียนกับคณาจารย์ในสถาบันผลิตครูปัจจุบัน

สิ่งที่พวกเรายอมรับและเห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่ ณ วันนี้ คือ ถ้าจะให้นักเรียนหรือนักศึกษาได้ 3Rs ก็ต้องจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของ Teaching 1.0 บวกกับ Teaching 2.0 และ Teaching 3.0 โดยใช้ Teacher 1.0, Teacher 2.0 และ Teacher 3.0 คือให้ครูสอนเก่งสอนให้ผู้เรียนได้ทักษะพื้นฐาน – Reading, Writing, and Arithmetic ที่จะนำไปใช้ในการแสวงหาความรู้ สอนโดยคำนึงถึงความสนใจและความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน สร้างโจทย์ แบบฝึกหัด ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความสนใจและมีความหมายต่อชีวิตของเขา กำหนดเป้าหมายในการสอนแต่ละครั้ง วางแผนการสอน วางแผนกิจกรรมการสอนและการนำเสนอเนื้อหาทั้งที่อยู่ในรูปของ theory, principle, research finding, practical guide วางแผนการใช้สื่อ วางแผนการติดตามและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน วางแผนการจัดสอนซ่อมเสริม (remedial teaching)

นั่นก็คือการดำเนินการในขั้นตอนของ P – Planning ของ PDCA

การสอนแบบ Teaching 1.0, Teaching 2.0, Teaching 3.0 อาจทำให้นักศึกษาครูเข้าใจและจำ (understanding and memorizing) ทฤษฎี หลักการ ข้อค้นพบจากการวิจัย และคู่มือปฏิบัติสำหรับวิชานั้นๆ (ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน) ได้ แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาได้ critical thinking and problem-solving; creative and innovative; collaborative, teamwork, leadership; cross-cultural understanding; communication, information, media; computing and ICT; career and learning self-reliance; and compassion skills หรือที่เรียกว่า 8Cs ถ้าจะให้ได้ 8Cs เทคนิคการสอนต้องเปลี่ยนจาก Teaching 1.0, Teaching 2.0, Teaching 3.0 ไปเป็น Teaching 4.0 คือให้ผู้เรียนเรียนแบบ Problem-based learning = PBL ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยการเข้าใจในทฤษฎี หลักการ ข้อค้นพบจากการวิจัย และคู่มือปฏิบัติในวิชาทั้งหลายที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน

และเกิดความสงสัยต่อไปอีกว่าทฤษฎี หลักการ ข้อค้นพบจากการวิจัย และคู่มือปฏิบัติที่มีอยู่หรือที่เรียนมามีความถูกต้อง สมบูรณ์หรือไม่ นำไปใช้อธิบายเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ ปัญหาต่างๆ ได้ครบทุกปรากฏการณ์หรือทุกปัญหาหรือไม่ นำไปใช้บำบัดความอยากหรือความต้องการของมนุษย์ได้ทุกอย่างหรือไม่ หรือในกรณีของครู ทฤษฎี หลักการ ข้อค้นพบจากการวิจัย และคู่มือปฏิบัติที่เรียนมาสามารถนำไปใช้กับนักเรียนที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มเรียนเร็ว เรียนช้า สมาธิสั้น มีปัญหาในครอบครัว ฯลฯ ได้ทุกกรณีหรือไม่ ถ้าไม่ได้ทั้งหมดจะทำอย่างไร จะสร้างทฤษฎี หรือหลักการใหม่ หรือผลิตนวัตกรรมมาใช้ได้อย่างไร

ในความเป็นจริง ปรากฏการณ์ เหตุการณ์ ปัญหา ความอยากมีวิวัฒนาการ วิวัฒนาการไปตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบตัวพวกเรา โดยเฉพาะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ICT โรบอต และปัญญาประดิษฐ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก งานวิจัยที่เผยแพร่ที่แคนาดาเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 บอกว่า ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนประถมศึกษาในวันนี้จะออกไปประกอบอาชีพที่มนุษย์ปัจจุบันยังไม่เคยสัมผัสเมื่อเด็กเหล่านี้สำเร็จปริญญา การเข้าใจและจำทฤษฎี หลักการ ข้อค้นพบจากงานวิจัย และคู่มือการทำงานได้จึงไม่เพียงพอที่จะทำให้เขามีอาชีพหรือประกอบอาชีพได้ ทักษะหรือสมรรถนะที่คณะครุศาสตร์ต้องให้แก่นักศึกษาครูในวันนี้จึงต้องเป็น
8Cs ทำให้เขาเป็นคนขี้สงสัยและอยากหาคำตอบ หรือที่เรียกว่าทำให้เกิด inquiring mind คณาจารย์ต้องถามให้นักศึกษาครูสงสัย ทำให้เขาได้ปัญหา (problem) หรือกำหนดปัญหาได้

ทำให้เขามองเห็น เข้าใจมูลเหตุของปัญหา (causes of the problem) อยากรู้คำตอบ ค้นหาวิธีการหรือแนวทางที่อาจนำมาใช้ในการแก้ปัญหาได้ (alternative solutions) จากแหล่งความรู้ต่างๆ จากทฤษฎี หลักการ ข้อค้นพบจากการวิจัย และคู่มือปฏิบัติที่เรียนมา จากแหล่งเรียนรู้ดิจิทัล จาก YouTube, Khan Academy, MOOC จากคณาจารย์ เพื่อน พี่ พ่อแม่ ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ เลือกทางเลือกที่ดีที่สุดที่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้ นำทางเลือกนั้นมาพัฒนาเป็นโครงการ/โครงงาน (project) นำโครงงานไปปฏิบัติ รวบรวมข้อมูลระหว่างการนำโครงงานไปปฏิบัติ วิเคราะห์ประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการนำโครงงานไปปฏิบัติ ทดลองทำซ้ำหลายครั้ง และในแต่ละครั้งก็มีการปรับปรุงโครงงาน ประเมินผลลัพธ์ ปรับปรุง ประเมินให้มีความสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ (Research and Development = R&D)

ในที่สุด นักศึกษาครูก็จะได้ความรู้ใหม่เป็นของตนเอง ทำอย่างนี้จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการเป็นนักศึกษา นักศึกษาก็จะได้ทักษะการวิเคราะห์ปัญหา การแก้ปัญหา การค้นหาความรู้ใหม่หรือการสร้างนวัตกรรม ได้ C ตัวที่ 1 และตัวที่ 2 (critical thinking and problem solving และ creative and innovative skills) ถ้านักศึกษาทำโครงงานเป็นทีม เขาก็จะได้ C ตัวที่ 3 – collaborative, teamwork and leadership skills ถ้าเพื่อนที่ร่วมทำโครงงานมาจากครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ สังคม ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ สมาชิกในทีมก็จะได้ C ตัวที่ 4 คือ cross-cultural understanding ในการค้นหาทางเลือกที่จะนำมาพัฒนาเป็นโครงงาน หรือแม้กระทั่งในขั้นตอนของการวิเคราะห์และเลือกปัญหาเพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงงาน

นักศึกษาต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้หรือปัญหาจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั้งแหล่งเรียนรู้ดิจิทัล ออนไลน์ YouTube, Khan Academy, MOOC คณาจารย์ พี่ เพื่อน พ่อแม่ ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ จะทำให้นักศึกษาครูได้ C ตัวที่ 5 – communication, information, media

อ่านต่อฉบับต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image